ไทยรัฐออนไลน์
ฮาล์ฟมาราธอน "บางแสน 21" ปีที่ 6 เปิดฉากยิ่งใหญ่ "ณัฐวุฒิ อินนุ่ม" ควงแขน "ลินดา จันทะชิต" ผงาดแชมป์โอเวอร์ออลชายและหญิงตามลำดับ ภายใต้งานวิ่งในรูปแบบนิวนอร์มอล คุ้มเข้มโควิด-19 ขณะที่ ณรงค์ชัย คุณปลื้ม พ่อเมืองแสนสุข ชูกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท ด้าน บจ.ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น วางแผนยกระดับอีก 2 ระยะ "มาราธอนและมินิมาราธอน" ให้ก้าวสู่มาตรฐานรางวัลโกลด์ ลาเบล ได้เช่นกัน ภายในปี 2565
วันที่ 20 ธ.ค. 63 การแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอน บางแสน 21 ปีที่ 6 ซึ่งจัดโดย เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี และ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ฉลองรางวัลงานวิ่งมาตรฐานระดับโลก "เวิลด์ แอธเลติคส์ โกลด์ ลาเบล โรด เรซ" เปิดฉากชิงชัยเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563 โดยมี นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข, น.ส.ชลันดา ชอบจิตร ผู้อำนวยการกองบริหารงานและมาตรฐานกีฬาอาชีพ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), นายขจรเดช อภิชาติตรากุล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ในฐานะผู้อำนวยการการแข่งขัน และ ดร.นพ.เกษม ใช้คล่องกิจ ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ในฐานะผู้อำนวยการด้านการแพทย์ ร่วมกันปล่อยตัวนักวิ่ง ที่บริเวณด้านหน้าโรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จ.ชลบุรี โดยมีนักวิ่งอีลิทชาวไทย และนักวิ่งทั่วไปเข้าร่วมคับคั่ง ภายใต้มาตรการคุมเข้มป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 แบบเข้มงวดสูงสุด
ผลการแข่งขันระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กม. ซึ่งเข้าเส้นชัยที่บริเวณด้านหน้าโรงแรมบางแสน เฮอริเทจ ปรากฏว่า ไฮไลต์อยู่ที่ประเภทโอเวอร์ออล ชาย อันดับ 1 เป็นของ “บิ๊ก” ณัฐวุฒิ อินนุ่ม นักวิ่งหนุ่มทีมชาติไทย และเจ้าของสถิติฮาล์ฟมาราธอนประเทศไทย ผงาดเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยเวลา 1.07.41 ชั่วโมง คว้าแชมป์โอเวอร์ออล ชาย เป็นสมัยแรก พร้อมรับเงินรางวัล 35,000 บาท หลังจากก่อนหน้านี้คว้าแชมป์คนไทยได้ 2 สมัยติดต่อกันมาแล้ว ขณะที่อันดับ 2 เป็นของแฝดน้อง “เบล” ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม ทำเวลาได้ 1.09.17 ชั่วโมง และอันดับ 3 โยธิน ยาประจันทร์ ทำเวลาได้ 1.10.40 ชั่วโมง
หลังการแข่งขัน ณัฐวุฒิ อินนุ่ม กล่าวว่า ก่อนมาวิ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่เวลา 1.07 ชั่วโมง ซึ่งก็ทำได้ตามเป้า แต่เสียดายที่ไม่ได้ทำลายสถิติตัวเองที่เคยทำไว้ที่สนามนี้ ขาดเพียง 20 วินาทีเท่านั้น แต่ก็ทำเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นแชมป์คนไทยสมัยที่ 3 ทว่าเป็นครั้งแรกที่คว้าแชมป์โอเวอร์ออล เพราะนักวิ่งอีลิทต่างชาติไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้แชมป์โอเวอร์ออลในสนามที่เป็น โกลด์ ลาเบล
ขณะที่ผลการแข่งขันในประเภทโอเวอร์ออล หญิง ปรากฏว่า "ปลา" ลินดา จันทะชิต นักวิ่งสาวทีมชาติไทย และเจ้าของสถิติฮาล์ฟมาราธอนประเทศไทย สร้างความเซอร์ไพรส์ด้วยการวิ่งทำลายสถิติเดิม 1.23.35 ชั่วโมงของตัวเอง หลังเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยสถิติใหม่ 1.22.12 ชั่วโมง คว้าแชมป์สมัยแรกในการเข้าร่วมชิงชัยเป็นครั้งแรกด้วย พร้อมรับเงินรางวัล 35,000 บาท ส่วนอันดับ 2 ปิยะนุช สุขชาติ ทำเวลาได้ 1.24.11 ชั่วโมง และอันดับ 3 อรอนงค์ วงศ์ศร แชมป์คนไทย ปี 2019 ทำเวลาได้ 1.24.53 ชั่วโมง
ลินดา จันทะชิต กล่าวว่า นับเป็นปีแรกที่มาร่วมรายการนี้ บรรยากาศดี มีลมพัดตลอดเส้นทาง ทำให้วิ่งไม่เหนื่อย ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ซ้อม เนื่องจากติดงาน แต่ก็พยายามวิ่งเต็มที่ จนสามารถทำได้ในที่สุด
นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม เปิดเผยว่า "ตอนนี้อยู่ในสถาณการณ์ที่ต้องช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดงานวิ่งบางแสน 21 เน้นเรื่องนี้มาก อีกทั้งก่อนหน้านี้มีกิจกรรมหลายอย่างถูกระงับ ทำให้เราต้องเพิ่มมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น รวมถึงการร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ให้เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้รับการชื่นชมจากนักกีฬาว่ามีความปลอดภัย ซึ่งส่วนตัวก็ลงแข่งขันในสนามนี้ด้วยเช่นกัน"
"การจัดงานวิ่ง บางแสน 21 วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดชลบุรี อย่างบางแสน เรายกระกับเป็น สปอร์ต ซิตี้ ไปแล้ว จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า โรงแรม ต่างก็อยากจะให้จัดต่อเนื่องไป ซึ่งครั้งนี้รายได้เฉพาะงานวิ่งอย่างเดียวคาดว่ามีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท เพราะเรามีนักวิ่งสมัครเกือบ 1 หมื่นคน แต่ลงวิ่งประมาณ 7,500 คน เนื่องจากสถานการณ์โควิดล่าสุด ผู้จัดจึงได้ประกาศว่า ใครไม่สะดวกก็สามารถวิ่งแบบเวอร์ชวน รัน ได้"
นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร กล่าวว่า "การจัดการแข่งขันปีนี้จัดในรูปแบบนิวนอร์มอล โดยลดจำนวนผู้สมัครให้น้อยลง เพื่อลดความแออัดในการวิ่ง ทำให้จำนวนคนวิ่งลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง รวมถึงมีมาตรการคุมเข้มป้องกันการแพร่กระจายโควิด-19 อย่างเข้มงวดสูงสุด ซึ่งจะเห็นว่ามีการแบ่งปล่อยตัวนักวิ่งเป็น 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 20 นาที นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ให้ช่วยกันดูแลความสะอาด ทิ้งขยะให้ลงถัง ซึ่งปีที่ผ่านๆ มาเราทำได้ดีมาก ได้ชื่อว่าเป็นสนามที่สะอาดมากแห่งหนึ่ง สมกับเป็นสนามวิ่งแสนสุข ปีนี้เราทำมาตรฐานไว้สูงมากคือ ระดับ โกลด์ ลาเบล ส่วนในปีหน้ามองว่าเมื่อประเทศเปิด สถานการณ์กลับมาปกติ เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักวิ่งระดับโลกมาร่วมวิ่งมากมาย ซึ่งปีนี้จริงๆ ก็มีนักวิ่งระดับโลกหลายคนแสดงความสนใจอยากมาร่วมวิ่ง แต่เราจำเป็นต้องปฏิเสธไปด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ในภาพรวมพอใจกับการจัดงานในปีนี้มาก เพราะเวลาท็อป 100 คนสุดท้าย มีสถิติดีขึ้นทุกปี โดยปีนี้อยู่ที่ 1.26.04 ชั่วโมง เร็วกว่าปีที่แล้ว (2562) สถิติอยู่ที่ 1.29:44 ชั่วโมง ซึ่งสถิติของท็อป 100 นี้สำคัญมาก เราพบว่าคุณภาพของนักวิ่งไทยโดยรวมดีขึ้น"
นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร กล่าวในตอนท้ายว่า "ทางไมซ์ และพันธมิตร จะยังคงมาตรฐานการจัดงานระดับโลกของงานวิ่งบางแสน และพุ่งเป้าไปที่การคว้าระดับโกลด์ ลาเบล ในอีก 2 ระยะ คือ มาราธอน และมินิมาราธอน ให้ได้ภายใน 2565 ซึ่งแม้ปีนี้จะไม่มีนักวิ่งทำลายสถิติฮาล์ฟมาราธอนประเทศไทยได้ แต่เรายังตั้งใจแจกเงินรางวัลทำลายสถิติประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับนักวิ่งมีพัฒนาการด้านความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้วงการวิ่งดีขึ้นในภาพรวม"
สำหรับ ฮาล์ฟมาราธอน บางแสน 21 นั้น เป็นงานวิ่งฮาล์ฟมารอนรายการแรก และรายการเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลมาตรฐานระดับโลก “เวิลด์ แอธเลติคส์ โกลด์ ลาเบล โรด เรซ” จากสหพันธ์กรีฑานานาชาติ และเป็น 1 ใน 5 ของเอเชียต่อจาก จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยการแข่งขันปีนี้จัดเป็นปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “The Finest Running Event Ever”.