หน้าแรกแกลเลอรี่

ปัจจัยเสี่ยงนักวิ่ง

ฟ้าคำราม

20 ธ.ค. 2563 05:01 น.

สุดสัปดาห์นี้มีงานวิ่งหลายงาน ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำจากรายการบอสตันมาราธอน เลยแปลบางส่วนมาเผื่อใครไม่เคยทราบ สำหรับนักวิ่งมือใหม่ก่อนไปวิ่งควรหาโอกาสไปปรึกษากับแพทย์ที่รู้จักสุขภาพของท่านเป็นอย่างดีพอที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับความสามารถในการออกกำลังของท่านด้วยการวิ่งระยะทางไกลๆได้ เพราะท่านอาจมีความเสี่ยงบางประการโดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัวบางอย่างอยู่

ก่อนการวิ่งแนะนำให้เขียนน้ำหนักตัวของท่านลงหลังแผ่นหมายเลข ค่าที่ลงไว้จะช่วยบอกว่าท่านหรือคนที่มาดูแลท่านว่ามีการดื่มน้ำมากหรือน้อย เกินไปหรือไม่?

นอกจากนี้ หากเขียนข้อมูลสำคัญทางสุขภาพ เช่น การแพ้ โรคประจำตัว กรุ๊ปเลือด และเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของคนใกล้ชิดของท่านไว้ด้วยได้จะดีอย่างยิ่ง

เมื่อหยุดวิ่งอย่าหยุดแบบกะทันหัน ควรเดินต่ออีกเล็กน้อย เพื่อให้เลือดของร่างกายสูบฉีดไม่ตกลงไปอยู่ที่ขาทั้งหมดจนขาดไปเลี้ยงที่สมองจนทำให้เป็นลมหรือสลบได้

ควรเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการกดหน้าอกที่ถูกต้องเพื่อช่วยการเต้นของหัวใจในผู้ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน CPR หรือ Cardiopulmonary Resuscitation ไว้ด้วย เพราะนักวิ่งด้วยกันเองคือผู้ที่สามารถช่วยชีวิตได้รวดเร็วกว่าการรอผู้รับผิดชอบมาถึง ซึ่งจะทำให้โอกาสรอดของเพื่อนเรามีมากขึ้น

ความเสี่ยงหรืออันตรายจากการวิ่งระยะทางไกล มีหลายอย่างและขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย ปัจจุบันพบว่าความเสี่ยงอันตรายจากการมีน้ำเกินกลายเป็นที่สนใจมากขึ้นกว่าการขาดน้ำ เนื่องจากคนระมัดระวังการสูญเสียน้ำจากการวิ่งระยะไกลจนกลายเป็นดื่มน้ำมาก และขาดเกลือแร่โซเดียม จนสุดท้ายสมองบวมเฉียบพลันถึงตาย

คนที่พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ คือ นักวิ่งสตรี, คนที่ตัวเล็ก, วิ่งนานกว่าสี่ชั่วโมง และคนที่ทานยาเอ็นเสด ซึ่งถ้าชั่งจะพบว่ามีน้ำหนักขึ้นหลังวิ่ง โดยปกติถ้าวิ่งครบระยะน่าจะมีน้ำหนักตัวเท่าเดิมหรือลดลงสัก 2% ของน้ำหนักตัวก่อนวิ่ง ถ้าขึ้นมากกว่า 2% ก็จากน้ำเกิน ถ้าน้อยกว่า 2% ก็จากขาดน้ำร่างกายร้อนกว่าปกติ

การดื่มน้ำที่เหมาะสมมีความสำคัญทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการวิ่ง ก่อนวิ่งสักสองชั่วโมงควร ดื่มน้ำสัก 500 ซีซี ส่วนใหญ่คนมักจะกลัวขาดน้ำโดยเฉพาะวันที่มีอากาศร้อนหรือบางคนพอจบวิ่ง รู้สึกไม่ค่อยสบายก็นึกว่าตัวเองเสียน้ำจนพยายามดื่มน้ำเปล่ามากและบ่อยจนสุดท้ายเกิดการชักและเสียชีวิตได้ พบว่าการดื่มน้ำหลังจากการถ่ายปัสสาวะจะปลอดภัยจากการดื่มน้ำเกิน

คำแนะนำคร่าวๆ สำหรับผู้ที่วิ่งเร็ว pace ต่ำกว่า 3.30.00 ควรดื่มประมาณ 500 ซีซีต่อชั่วโมง แต่ถ้าวิ่งเกิน 4 ชั่วโมง ให้ดื่มประมาณ 250 ซีซี ต่อชั่วโมง และไม่จำเป็นต้องหยุดดื่มน้ำทุกจุดที่ให้น้ำ ไม่ควรดื่มน้ำมากตอนเข้าเส้นชัย แต่ควรดื่มไปเรื่อยๆ หลังวิ่งไปจนถึงอีกหนึ่งวัน

สิ่งเหล่านี้ควรทดลองตั้งแต่ตอนซ้อมด้วยการชั่งน้ำหนักก่อนและหลังซ้อมจนทราบว่าต้องดื่มน้ำอย่างไรที่เหมาะสม วิธีดูง่ายๆอีกอย่างคือ สังเกตจากสีปัสสาวะ ว่ามีสีเหลืองปกติไม่ใสมากหรือเข้มมากจนเกินไป

ช่วงสุดสัปดาห์นี้ถ้าอากาศหนาว เตรียมเสื้อแห้งไปเปลี่ยนหลังวิ่งถ้ามีผ้าคลุมกันหนาวช่วยก็ยิ่งดี ตรงไหนที่ลมแรงจะหนาวมาก แต่ถ้าเกิดอากาศร้อนชื้น ปัญหาของ Heat stroke ก็อาจเกิดได้ อาการมีได้ตั้งแต่รู้สึกร่างกายร้อน เหงื่อออกมากจนถึงเหงื่อแห้ง สับสน มึนงง ตามัว เวียนศีรษะ อ่อนแรงจนถึงหมดสติ ถ้าเริ่มรู้สึกไม่ดีอย่าฝืนและควรปรึกษาทีมฉุกเฉินที่อยู่ใกล้เคียงทันที

โปรดดูแลตัวท่านเองและช่วยสังเกตอาการผิดปกติของนักวิ่งเพื่อนเราด้วย ความช่วยเหลือจากนักวิ่งด้วยกันสำคัญไม่น้อยกว่าจากทีมแพทย์ครับ

oooooo

ยังคงให้ความรู้ดีๆ กับชาวกีฬาอย่างสม่ำเสมอสำหรับ นพ.อี๊ด ลอประยูร แพทย์ประจำทีมชาติไทยและแน่นอนว่า ถ้าไม่นำมาถ่ายทอดต่อคงเป็น เรื่องที่น่าเสียดายน่าดู

ทั้งหมดที่ “หมออี๊ด” สื่อสารคือ ปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆของนักวิ่ง ซึ่งก่อนอื่นเราต้องรับผิดชอบตัวเองก่อน พร้อมๆกับเตรียมช่วยเหลือเพื่อนนักวิ่ง ด้วยกันเอง หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด

บริหารความเสี่ยงด้วยการรู้รอบด้านไว้ก่อน

ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้เยอะ...

ฟ้าคำราม