หน้าแรกแกลเลอรี่

ได้เวลาแก้ปัญหาทับซ้อน เกมกีฬา "กกท.-กรมพละ"

กัญจน์

11 ต.ค. 2563 05:01 น.

ในช่วงนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินหน้าพัฒนางานด้านกีฬาแบบไม่หยุด ยิ่งในยุคที่มี โชติ ตราชู นั่งตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ มีการรุกคืบอย่างต่อเนื่อง

หลังจากเตรียมจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา บนช่องหมายเลข 7 ในระบบทีวีดิจิทัล โดยช่อง ที สปอร์ต ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่เดิมเผยแพร่ในระบบจานดาวเทียม จะถูกปรับเปลี่ยนมาลงในช่องใหม่ดังกล่าวแทนไปแล้ว

ล่าสุด ปลัดฯ โชติ ได้จัดตั้งคณะทำงาน จัดทำแผนการทำงานร่วมกัน ระหว่าง กกท. และ กรมพลศึกษา เพื่อหาทางออกการทำงานที่ทับซ้อนกันของ 2 หน่วยงาน

ทั้งการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ กับ กีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ, กีฬาผู้อาวุโสแห่งชาติ กับ กีฬาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย รวมถึงฟุตบอลลีกเยาวชน กับ ฟุตบอลนักเรียนกรมพลศึกษา

และต้องการให้ กกท. และกรมพลศึกษา ได้ร่วมมือกัน ในการต่อยอดสร้างนักกีฬาจากนักกีฬาระดับพื้นฐานไปสู่ระดับความเป็นเลิศ

ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และติด 1 ใน 6 ของกีฬาเอเชียนเกมส์

ปลัดกระทรวงกีฬากล่าวว่า นี่ถือเป็นการเริ่มต้นในการบูรณาการร่วมกันของ 2 หน่วยงาน ซึ่งเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในด้านการพัฒนากีฬาของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ

จึงอยากเห็น กกท. และกรมพลศึกษา ร่วมมือกันในการพัฒนานักกีฬา ตั้งแต่ระดับนักเรียน ไปสู่ระดับความเป็นเลิศ เราจึงจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานทำแผนขึ้นมา

ส่วน ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่กรมพลศึกษาและ กกท.จะต้องจับมือกันในการร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

มีแผนจะให้ กกท.ประจำจังหวัด สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด และเจ้าหน้าที่พลศึกษาของกรมพลศึกษา ทำงานร่วมกัน ในการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬารายการต่างๆ

เพื่อเป็นต้นน้ำ ให้นักกีฬาระดับนักเรียน พัฒนาและต่อยอดสู่ระดับความเป็นเลิศในอนาคต

ขณะที่ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ระบุว่า กกท. และกรมพลศึกษา จะร่วมกันพัฒนาทั้งนักกีฬา, ผู้ฝึกสอน, ผู้ตัดสิน ให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล

มีการวางแผนการจัดการแข่งขันกีฬาที่ชัดเจนขึ้น ทั้งด้านการกำหนดเวลาการแข่งขันกีฬารายการต่างๆ ชนิดกีฬาที่จัดแข่งขัน และช่วงอายุของนักกีฬาที่ร่วมการแข่งขัน

ทั้งนี้ กกท.และกรมพลศึกษาจะต้องนำข้อมูลมาประกอบการจัดทำแผนอีกครั้ง ก่อนที่จะนำเสนอให้ปลัดกระทรวงพิจารณาต่อไป

ผู้ว่าการ กกท.กล่าวเสริมว่า ข้อมูลที่พบในตอนนี้ มีทั้งที่กลุ่มนักกีฬา เป็นกลุ่มเดียวกัน และคนละกลุ่ม

กีฬาเยาวชนแห่งชาติกับกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ มีประเด็นเรื่องอายุ กีฬาเยาวชนฯของกกท. เปิดกว้าง และให้มากกว่า 20 ปี ส่วนกีฬานักเรียนฯ ส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียน ไม่เกิน 18 ปี

ส่วนกีฬาผู้อาวุโสแห่งชาติกับกีฬาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ซึ่ง กกท.ที่ดูกีฬาผู้สูงอายุฯ จะมีตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนกีฬาผู้สูงอายุฯของ กรมพลศึกษาต้องมากกว่า 60 ปี

และฟุตบอลลีกเยาวชนกับฟุตบอลนักเรียนกรมพลศึกษา ตรงนี้ ฟุตบอลลีกเยาวชนของ กกท. เป็นการสร้างดาวรุ่งสู่ทีมอาชีพ ส่วนฟุตบอลนักเรียนฯ เป็นตัวแทนของโรงเรียน

“ทราบดีว่ากลุ่มนักกีฬามีทั้งที่เป็นกลุ่มเดียวกัน และคนละกลุ่ม จึงจำเป็นที่เราจะต้องมากำหนดเรื่องอายุให้ชัดเจน รูปแบบการแข่งขัน และช่วงเวลาของการแข่งขันให้เหมาะสมและสอดรับกัน เพื่อการพัฒนาไปตามขั้นตอน โดยคาดว่าแผนการร่วมมือจะเสร็จเรียบร้อยไม่เกิน เดือน ม.ค.ปีหน้า” ดร.ก้องศักดกล่าวในตอนท้าย

ทั้งหมดนี้ต้องยอมรับว่าแม้ กกท.จะรับผิดชอบงานกีฬาเป็นเลิศกับอาชีพ และกรมพลศึกษาดูกีฬาขั้นพื้นฐานกับมวลชน แต่ที่ผ่านมาการแข่งขันกีฬาของ 2 หน่วยงาน ก็ยังมีเนื้องานที่ทับซ้อน เหลื่อมๆกันอยู่

ถ้าร่วมกันแก้ปัญหาเปลาะแรกนี้ได้ก่อน (แม้จะมีหลายเสียงบอกว่าควรแก้ตั้งนานแล้ว) จะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

การพัฒนากีฬาของประเทศจะทำได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

แน่นอน...

กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง