หน้าแรกแกลเลอรี่

10 ข้อเข้าใจผิด

พาวเวอร์บอมบ์

5 ต.ค. 2563 05:01 น.

เพจเฟซบุ๊ก Avarin Running and Triathlon. ของ “หมอแอร์” นายแพทย์ อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา นักไตรกีฬาชื่อดังแชร์ข้อความที่เป็นประโยชน์อีกแล้ว เชื่อว่า หลายคนคงสงสัยเกี่ยวกับการเสียชีวิตขณะออกกำลังกาย

บทความข้างล่างนี้ให้ความรู้ได้เป็นอย่างดี

10 ข้อเข้าใจผิด กับการเสียชีวิตขณะการออกกำลัง

1.การเสียชีวิตฉับพลัน ขณะออกกำลังกาย ประกอบด้วย 2 ปัจจัย คือ

1.1 โรคหัวใจที่ซ่อนอยู่ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

1.2 ภาวะกระตุ้น หรือตัวเร่ง เช่น การออกกำลังใน Zone 4-5 ภาวะ Cathecholamine ที่ออกมา มากขึ้นจากการแข่งขัน อากาศที่ร้อน การเสียเหงื่อ เกลือแร่ที่ผิดปกติ ดังนั้น การเสียชีวิตฉับพลัน ต้อง ประกอบด้วย 2 ปัจจัยด้านบน โดยตอนแข่งจะมีโอกาส เกิดปัจจัยทั้ง 2 มากขึ้น

2.การตรวจสุขภาพทั่วไป หรือแม้แต่การตรวจ Preparticipant screening นักกีฬา ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่า จะกรองโรคร้ายได้ 100% แต่ถ้าเจอ ก็เท่ากับช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ทันที ตัวเลขของทีม Health performance ตรวจพบ ความผิดปกติของโรคที่อันตรายอยู่ที่ 1 คน ต่อนักกีฬา 175 คน โดยประมาณ

3. โรคอะไรบ้างที่ตรวจไม่เจอจากการตรวจสุขภาพ ที่หลุดได้มากที่สุด คือกลุ่มหลอดเลือดหัวใจ เพราะบางครั้งการคัดกรองด้วยการเดินสายพาน ไม่สามารถคัดกรองได้ 100% อาจไม่พบได้ ถ้าการตีบ ไม่เยอะมาก ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจ ต้องให้นักกีฬาออกแรงแบบเต็มที่ขณะเดินสายพาน การตรวจด้วย Bruce Protocol คือเน้นความชัน เร่งให้เหนื่อย อาจทำให้นักกีฬา ขาตึง ล้า ก่อนที่จะใช้ การทำงานหัวใจเต็มที่ ทางทีมจึงใช้ Ramp Protocol ที่มีความชันน้อยกว่า เลียนแบบการออกกำลังจริง

4. ความน่ากลัวมากที่สุดคือการที่เส้นเลือดไม่ตีบ แต่มีคราบไขมันที่เรียกว่า พลาค (plaque) ซึ่งตรวจไม่ได้จากการเดินสายพาน เมื่อหลอดเลือดมีคราบไขมันที่หนามากๆ มีการอักเสบบริเวณนั้น (vulnerable Plaque) วันดีคืนร้าย การออกกำลังกาย ใน Zone สูงๆ ทำให้ความดันในหลอดเลือดหัวใจ สูงขึ้น นำไปสู่การฉีก หลุด ของคราบไขมัน (plaque rupture) ทำให้ร่างกายคิดว่าบริเวณนั้นเกิดแผล จึงสร้างเกล็ดเลือด ก้อนเลือดมาอุด ทำให้เกิดการตัน ของเส้นเลือดฉับพลัน กระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง นักกีฬาจะหมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด ถ้าไม่ได้รับการรักษาทำ Ballon หัวใจอย่างทันท่วงที

5.plaque เกิดในกลุ่มคนที่มีไขมันในเลือดสูง หรือไขมันในเลือดไม่สูงก็ได้ แต่มีความเสี่ยงเหล่านี้ สูบบุหรี่ เบาหวาน อ้วน กรรมพันธุ์ โรคเส้นเลือดหัวใจ ในครอบครัว ดังนั้น plaque เป็นภัยมืดที่ซ่อนเร้น ในนักกีฬาที่เป็นสาเหตุทำให้กลุ่มนักกีฬาอายุเกิน 35 ปี เสียชีวิตมากที่สุดขณะออกกำลัง

6.ระดับ Cholesterol ที่มีค่าเกิน 200 ไม่เยอะ ก็ยังมีโอกาสเกิด Plaque ได้ ทางทีมพบว่าภาวะ ไขมันสูงในนักกีฬาถูกละเลยอย่างมาก จากความชะล่าใจของนักกีฬา ที่คิดว่าออกกำลังเป็นประจำแล้ว น่าจะป้องกันโรคหัวใจได้ หรือเข้าใจว่าค่าไขมันไม่ได้ สูงมากมายอะไร

7.ยาไขมันกลุ่ม Statin ถูกบทความบางอัน ป้ายให้เป็นผู้ร้าย เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันของบริษัทยากับงานวิจัย ทำให้คนสับสน และไม่อยากกินยาไขมัน การกินยาลดไขมัน ไม่ได้ลดเฉพาะตัวเลข แต่ทำให้ plaque ที่มี หลุดยากขึ้น Plaque.stable และ ถ้าระดับไขมันในเลือดลดลงถึงจุดหนึ่ง ทำให้ Plaque ที่เกาะในหลอดเลือดหัวใจลดลงด้วย (plaque regressions)

8.การตรวจหาคราบไขมันทำได้จากการตรวจพิเศษ เช่น CT scan สามารถบอกได้ว่ามีคราบไขมัน ในหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ มีหินปูนด้วยไหมในคราบ ไขมัน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า คราบไขมันที่เห็น น่าจะหลุดง่าย (vulnerable plaque) หรือหลุดยาก พูดง่ายๆแค่บอกว่ามีหรือไม่มีการที่มี ก็ไม่ใช่ข้อห้าม ในการออกกำลังกายแต่อย่างใด ดังนั้นยังไม่จำเป็นต้องทำทุกราย

9.สุดท้ายแม้ตรวจคัดกรองแบบนักกีฬาแล้ว สิ่งที่ต้องทำทุกครั้งคือการฟังเสียงร่างกายตัวเอง 2 อาการเตือนที่อันตราย ได้แก่ เจ็บหน้าอกแบบหัวใจขาดเลือด (จุกแน่นเหมือนอะไรมาทับ กลางหน้าอก หรือลิ้นปี่ ร้าวไปไหล่ ไปกรามได้) กับอาการเวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม ถ้ามี 2 อาการเหล่านี้ หยุดออกกำลังทันที แล้วรีบบอกคนข้างๆ เจ้าหน้าที่ เพื่อนำส่ง รพ. ให้เร็วที่สุด ไม่มีคำว่าขอนั่งพัก หรือเกรงใจ

10.หมั่นเช็กสุขภาพทุกปี แม้ว่าคุณจะเป็นนักกีฬาที่แข็งแรงก็ตาม

หมอแอร์.

พาวเวอร์บอมบ์