หน้าแรกแกลเลอรี่

สมาคมต้นแบบ

ตองเจ

15 ก.ค. 2563 05:01 น.

ประเดิมสนามเป็นสมาคมแรกสำหรับการแข่งขันจักรยานลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน “ควีนส์สิริกิติ์” ประจำปี 2563 สนามที่ 1 ที่สนามเวโลโดรม หัวหมากเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ซึ่งเป็นการจัดแบบชีวิตวิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) ไร้คนดู เพื่อป้องกันการแพร่กระจายจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หรือ ศบค. กำหนด

โดยยึดมาตรการหลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างครบถ้วน ไม่มีการสัมผัสตัวกัน มีนวัตกรรมในการจัดพื้นที่ให้นักกีฬาฝึกซ้อมอบอุ่นร่างกายไว้เป็นสัดส่วน มีฉากพลาสติกกั้น

ทั้งสื่อมวลชนรวมถึงนักกีฬาต่างยอมรับถึงความเข้มข้นและมาตรการที่เข้มแข็งของสมาคมจักรยานภายใต้การบริหารของ “เสธ.หมึก” พล.อ.เดชา เหมกระศรี ที่ตั้งจุดตรวจสแกนถี่ยิบตั้งแต่ก่อนเดินเข้าสนามเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อไวรัสมรณะแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

แรกๆอาจจะดูแปลกตาไปนิดและอาจจะดู ยุ่งยากสักหน่อยเพราะความไม่ชิน แต่เชื่อว่าทั้งตัวนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ต่างก็เข้าใจดีถึงมาตรการที่สมาคมวางไว้เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

ขนาดกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.ยังออก ปากชมและยกย่องสมาคมกีฬาจักรยานฯ เป็นต้นแบบในการจัดการแข่งให้แก่สมาคมกีฬาอื่นๆ

จะว่าไปแล้วกว่าจะเริ่มประเดิมสนามแรก ได้ไม่ใช่ของง่าย สมาคมจักรยานมีการวางแผนสำหรับ การจัดการแข่งขันรายการนี้มานานหลายเดือน เรียกว่ามีการเตรียมพร้อมตั้งแต่ยังไม่เปิดเฟส 5 ที่ให้สามารถจัดการแข่งขันได้

มีการส่งเอกสารหรือคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมด้านกีฬาให้ทาง ศบค.ตรวจสอบและแก้ไขอยู่ตลอดเป็นระยะจนทุกอย่างสะเด็ดน้ำ

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากหากทุกสมาคมให้ความสำคัญและเอาใจใส่เหมือนสมาคมจักรยาน อย่างที่บอกมองดูเผินๆอาจเหมือนยุ่งยาก อยู่ที่ว่าผู้บริหารของสมาคมไหนจะจริงใจและให้ความสำคัญ ไม่ใช่เอาแต่พูดแล้วไม่ทำ

ส่วนหนึ่งเพราะ “เสธ.หมึก” มีความเข้าใจและตั้งใจที่จะบริหารสมาคมจักรยานให้ก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์ ต้องยอมรับว่าจักรยานในยุคนี้เข้ากับ “ยุค 5 จี” รวดเร็วฉับไวและทันสมัย

เอาง่ายๆแค่ช่วงโควิดระบาดอย่างหนักจนนักกีฬาทุกคนไม่สามารถฝึกซ้อมได้ ต่างต้องแยกย้ายไปฝึกกันเองที่บ้านตามโปรแกรมที่สมาคมวางไว้

ถามว่าเอาเข้าจริงๆ จะได้ความฟิตมากน้อยแค่ไหน เชื่อว่าตัวนักกีฬาหรือโค้ชเองต่างก็เข้าใจในจุดนี้ เพราะการซ้อมเองแบบสบายย่อมแตกต่างจากที่มีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิดแบบตัวเป็นๆ

และเป็นสมาคมจักรยานอีกนั่นแหละที่เป็นต้นแบบคิดโครงการ “ปั่นในบ้าน ต้านโควิด” ขึ้นมา ด้วยการจับมือ สสส.ให้บรรดานักปั่นได้ลงแข่งขันแบบออนไลน์ในแอปพลิเคชัน Zwift โดยที่สมาคมจะเป็นผู้กำหนดวัน

ก็ต้องบอกว่าเป็นอีกโครงการที่ถูกใจทุกคนในช่วงนั้น

ซึ่งจากโครงการดังกล่าวที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มียอดผู้ตามครึ่งล้านคนจนต้องมาร่วมกับโครงการ “ก้าวท้าใจ” ของกระทรวงสาธารณสุขที่มี “ดร.สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข เป็นผู้ริเริ่ม

บอกเลยทั้ง 2 โครงการทำให้ทุกคนมีความสุข เพราะได้มีการออกกำลังกายในช่วงที่ต้อง “เวิร์ก ฟรอมโฮม” ที่โควิดระบาดอย่างหนักจนไม่สามารถไปไหนมาไหนได้

ไม่แปลกใจเลยสมาคมจักรยานจะได้รับคำชมและยกย่องว่าเป็นสมาคมตัวอย่าง.

ตองเจ