ไทยรัฐออนไลน์
“บิ๊กก้อง” เผยในการเสนอตัวจัดยูธ โอลิมปิก 2026 จะใช้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลักในการจัดการแข่งขัน ส่วนชลบุรี จะใช้แค่บางแสน ช่วยจัดกีฬาทางน้ำเท่านั้น ไม่ใช้พัทยา อย่างที่หลายฝ่ายกังวลกัน โดยตอนนี้กำลังยื่นเรื่องให้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีกีฬา ลงนามเพื่อยื่นเสนอตัวอย่างเป็นทางการกับไอโอซี เจ้าของเกม
วันที่ 20 พ.ค.63 ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า ในการเตรียมการที่ประเทศไทยจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเยาวชน ยูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2569 (ค.ศ.2026) ว่า หลังจากคณะทำงานได้พิจารณาและวางแผนว่าเราจะเตรียมตัวในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพอย่างไรบ้าง โดยแบ่งชุดทำงานออกไปตามลักษณะงาน และวางกรอบการทำงานในด้านต่างๆ ไว้อย่างชัดเจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ กกท.กำลังยื่นเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงนาม เพื่อยื่นเสนอตัวอย่างเป็นทางการกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี)
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวต่อว่า ส่วนเมืองที่ใช้ในการจัดการแข่งขัน ซึ่งคณะทำงานได้เลือกกรุงเทพฯ และชลบุรี ในการเป็นเจ้าภาพร่วมกันนั้น ในรายละเอียดแล้ว หากได้รับเลือก กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองหลักในการชิงชัย ส่วนชลบุรีจะใช้แค่บางแสนช่วยจัดกีฬาทางน้ำเท่านั้น ไม่ใช้พัทยา อย่างที่หลายฝ่ายกังวลกัน
“ในส่วนของชนิดกีฬาที่จะใช้ในการเสนอตัวจัดการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ 2026 ในเวลานี้ ยังไม่ได้มีการลงลึกในรายละเอียด ว่าจะจัดมากน้อยเพียงใด แต่คาดว่าคงจะอ้างอิงจากการแข่งขันครั้งล่าสุด ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ที่จัดทั้งหมด 32 ชนิดกีฬา เป็นหลักไว้ก่อน” ดร.ก้องศักด กล่าวในตอนท้าย
อนึ่ง การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิก ครั้งที่ 5 พ.ศ.2569 (ค.ศ.2026) ประเทศไทยเตรียมเสนอ กรุงเทพฯ และชลบุรี เป็นสถานที่จัดการแข่งขัน ภายใต้สโลแกน เยาวชน เพื่อ เยาวชน by Youth with Youth and for Youth
พร้อมกันนี้ ได้กำหนดแนวทางในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ไว้ 13 ข้อ ได้แก่ 1.การเสนอเมืองจัดการแข่งขันจะมีสิ่งที่จูงใจคือสนามแข่งขันแต่ละสนามไม่ไกลจากกัน 2.การจัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจ SWOT Analysis 3.ชนิดกีฬาที่จะจัดการแข่งขัน 4.ให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมว่ามีข้อดีและมีการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างไรต่อพื้นที่ที่เราใช้จัดการแข่งขัน 5.ยึดถือแนวทางปฏิบัติตาม Olympic Agenda 2020 (หลักปฏิบัติโอลิมปิกเกมส์ 2020)
6.ผลกระทบทางเศรษฐกิจ 7.การกระตุ้นให้เยาวชนทั่วโลกเข้าร่วมเล่นกีฬาโดยยึดหลักค่านิยมโอลิมปิก (Olympic Value) 8.การจัดกิจกรรมด้านการศึกษาและวัฒนธรรม 9.การจัดกีฬาสาธิต (Sports Demonstration) 10.การจัดทำแผนงานประชาสัมพันธ์ และประชาพิจารณ์ 11.การให้ความรู้เรื่อง Clean Sport Fair Play 12.สภาพภูมิอากาศ ณ ช่วงการแข่งขัน และ 13.การรักษาความปลอดภัยระหว่างการจัดการแข่งขัน
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของการจัดการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิก คือ การประหยัดงบประมาณ ใช้สนามที่มีอยู่แล้วส่งเสริมสืบทอดคุณค่าของกีฬาโอลิมปิก เน้นด้านการศึกษา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และมรดกทางกีฬา.