หน้าแรกแกลเลอรี่

เรียงหน้าชน : ใครได้ก่อน

เบี้ยหงาย

7 พ.ค. 2563 05:01 น.

มีเสียงดังขึ้นมาวันก่อนจากคนกีฬาอย่าง “บิ๊กอู๊ด” ดร.ภิญโญ นิโรจน์ ส.ส.นครสวรรค์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร และคนทำกีฬามาช้านาน เรียกร้องให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือวงการกีฬาอย่างจริงจัง และเร่งด่วน ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อวิกฤติไวรัสโควิด-19 จนเดือดร้อนไปทั่ว

โดยตั้งประเด็นมีแต่ข่าวว่าจะช่วย มีแผนเร่งด่วนหรือไม่ หากรอการปฏิบัติตามขั้นตอน รอการประชุมแต่ละครั้ง เกรงว่าบุคลากรทางกีฬาที่เดือดร้อนจะอดตายกันหมด

ฟากของคนวงการมวย “เสี่ยโบ๊ท” ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์ฝั่งเพชรยินดี ก็ไลฟ์สด ระบุ หลังจากคณะกรรมการกีฬามวยอนุมัติเงินราวๆ 25 ล้านบาท ช่วยเหลือเยียวยาคนมวยไทยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครได้เงินเลย

นี่คือเสียงตำหนิที่ออกมาพูดต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ และคงไม่ได้มีแค่ 2 ท่านนี้ที่รู้สึก!

ลองย้อนดูลำดับเหตุการณ์ต่างๆ โควิด-19 มากระทบตรงแบบจังๆต่อวงการกีฬานั้นก็เป็นหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 3 มี.ค. เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคและสุขภาพให้หน่วยงานราชการขอความร่วมมือจากเอกชน หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก การแข่งขันกีฬาก็รวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย

จากนั้น 4 มี.ค. กกท.ก็ขอความร่วมมือต่อไปยังสมาคมกีฬาต่างๆ คณะกรรมการกีฬามวยก็ส่งหนังสือถึงเวทีมวยต่างๆ ซึ่งกีฬาหลากหลายต่างก็ทยอยเลื่อน ขยับ หรือเลิกจัดกันโดยทั่วหน้า และเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ 26 มี.ค. ทุกอย่างก็หยุดสนิท

ขณะที่ กกท.เองก็มีการออกข่าวเป็นระยะๆถึงความช่วยเหลือ ดูจะขยับส่วนแรกๆก็เป็นคณะกรรมการกีฬามวยปรับแผนงบประมาณประจำปี 2563 ในการประชุมเมื่อ 10 เม.ย. มีมติเห็นชอบใช้เงิน 25,642,000 บาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้แก่นักมวย ผู้ฝึกสอน ซึ่งก็มีรายชื่อนักมวย 2,000 คน และผู้ฝึกสอน 500 คน ที่ขึ้นทะเบียน ส่งไปตรวจสอบกับกระทรวงการคลัง เพื่อคัดกรองเบื้องต้นไม่ให้ซ้ำซ้อนกับเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ลงทะเบียนกับภาครัฐ

วันที่ 23 เม.ย. มีข่าวออกจาก กกท.อีกครั้ง ระบุถึงการเร่งช่วยเหลือนักกีฬาอาชีพที่เดือดร้อน มวยนั้นมีการตั้งคณะอนุ กก.ขึ้นมาคัดกรองคนที่เดือดร้อน จริงๆ ยังไม่รู้ว่าจะได้คนละเท่าไหร่ อาจจะใช้มาตรฐานเดียวกับรัฐ รายละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน และไม่แค่มวย ยังจะรวมถึงกีฬาอาชีพอื่นๆ 13 ประเภท ซึ่งจะพยายามเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

วันที่ 29 เม.ย. มีการประชุมบอร์ด กกท. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานบอร์ด มีการกำชับให้ กกท.เร่งเยียวยาช่วยเหลือนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เป็นการด่วน

วันที่ 4 พ.ค. คณะ กก.เยียวยาฯของรัฐ ที่มีปลัดกระทรวง 10 แห่ง เป็น กก. มีมติเยียวยาเพิ่มเติมให้แก่กลุ่มตกหล่น นักกีฬา นักมวย ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย วันเดียวกัน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เปิดตัวเลข เตรียมใช้เงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ราว 522 ล้านบาท เยียวยาบุคลากรกีฬา 3 กลุ่ม ทั้งกลุ่มเพื่อความเป็นเลิศ, กลุ่มอาชีพ และกลุ่มกีฬามวย

ผู้ว่าการ กกท. บอกด้วยว่า คนที่ลงทะเบียนเยียวยารับ 5 พันบาท และได้รับสิทธิ์เยียวยาจากในส่วนนั้นไปแล้ว ก็อาจจะไม่ได้รับการเยียวยาตามมาตรการของการช่วยเหลือในส่วนนี้ และก็คาดว่าภายในเดือน พ.ค.นี้จะได้ข้อสรุป และสามารถจ่ายเยียวยานักกีฬาที่ได้รับผลกระทบได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม

ปกติบอร์ด กกท. หรือบอร์ดกองทุนฯ จะประชุมกันเดือนละครั้ง และเดือน พ.ค.นี้ บอร์ดกองทุนฯ ประชุมกันช่วงปลายเดือน และ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ชี้ว่า หลังประชุมน่าจะจ่ายได้ต้นเดือน มิ.ย.

ฟังแล้วก็เกิดคำถามขึ้นในใจ การทำงานในสภาพที่บ้านเมืองวิกฤติ ผู้คนเดือดร้อนสาหัส และไม่เป็นปกติ กับวิกฤติไวรัสโควิด-19 เช่นนี้ เอ่ยอ้าง ตอกย้ำว่า “เร่งรัด” กำชับจากการ “กระตุ้น” ของผู้มีอำนาจ ภายใต้สถานการณ์อันไม่ปกติเช่นนี้ กลับยังใช้วิธีอันเป็นปกติ มันถูกต้องแล้วหรือ!!!

เรื่องเกิดตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. มารอลุ้นกันว่าจะได้เดือน มิ.ย.

คนเดือดร้อน แค่วันเดียวมันก็ทุกข์แสนสาหัส ช่วยกันตอนที่ลำบาก คุณค่ามันมากมายมหาศาล ไม่ช่วยกันตอนนี้จะไปช่วยกันตอนไหน

อยากรู้เหมือนกัน เงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกที่ถูกเลื่อนออกไป 1 ปีข้างหน้า ซึ่ง กกท.ยังจ่ายตามข้อตกลงเก่า 240 ล้านบาท

กับเงินเยียวยาคนกีฬาผู้เดือดร้อนทั้งหลาย

จ่ายใครก่อน และใครได้ก่อน...

“เบี้ยหงาย”