หน้าแรกแกลเลอรี่

เรียงหน้าชน : เชื่อมเอเชียและโลก

ฟ้าคำราม

8 เม.ย. 2563 05:01 น.

(ภาพ) ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล

เปิดตัวมาสคอตประจำการแข่งขัน ในเวลาไล่เลี่ยกันไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับจีนที่จะเป็นเจ้าภาพจัด 2 เกมใหญ่ระดับเอเชียในปีนี้ และอีก 2 ปีข้างหน้ากับการแข่งขันกีฬาเอเชียน บีช เกมส์ ครั้งที่ 6 “ซานยา 2020” และเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 “หางโจว 2022”

เริ่มจากกีฬาชายหาดเอเชีย เอเชียน บีช เกมส์ ครั้งที่ 6 จีนจะรับหน้าที่จัดระหว่างวันที่ 28 พ.ย.–6 ธ.ค.นี้ ที่เมืองซานยา มีชิงชัย 17 ชนิดกีฬาด้วยกัน

โดยเจ้าภาพได้เปิดตัวมาสคอตในชื่อหย่า หย่า (Ya Ya) เป็นรูปกวาง ในอิริยาบถต่างๆ ขณะเล่นกีฬา 17 ชนิดอย่างช่ำชอง เป็นประเดิมไปก่อน

สำหรับกวางหย่า หย่า สะท้อนถึงความทันสมัย ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม ความมหัศจรรย์ และความงดงามของการแข่งขันและเป็นการเชิญชวนผู้คนทั่วโลก ให้มามีส่วนร่วมในการแข่งขันครั้งนี้

ขณะเดียวกัน มหกรรมกีฬาใหญ่อย่าง เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 10–25 ก.ย.2022 ที่เมืองหางโจว ก็ได้เปิดตัวมาสคอตในเวลาต่อมาเช่นกัน

โดย ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ที่ปรึกษาประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) และรองประธานคณะกรรมการประสานงาน ตรวจสอบความเรียบร้อยของ “หางโจว 2022” ได้แจ้งว่า โอซีเอและเจ้าภาพจีนได้เห็นตรงกันที่จะใช้หุ่นยนต์นักกีฬา 3 ตัว เป็นมาสคอต

ซึ่งเป็นตัวแทนของสถานที่สำคัญ 3 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ในเมืองหางโจว ทางภาคตะวันออกของจีน

สำหรับมาสคอตตัวแรกมีชื่อว่า คองคอง (Congcong) เป็นตัวแทนของเมืองโบราณเหลียน ซู โดยคำว่า คอง (Cong) มาจากชื่อของจี้หยก ที่ขุดพบในซากปรักหักพังของเมืองโบราณแห่งนี้ ซึ่งมีอายุเก่าแก่นับ 5,000 ปี มาสคอตตัวนี้ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์แทนพื้นดินและการเกษตร

ส่วนมาสคอตตัวที่ 2 ชื่อ เหลียนเหลียน (Lianlian) เป็นตัวแทนของทะเลสาบตะวันตก มาสคอตตัวนี้ใช้สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ แทนชีวิตและธรรมชาติ โดยชื่อของมันมีความหมายว่า ทะเลสาบที่เต็มไปด้วยใบบัวอันอุดมสมบูรณ์

และมาสคอตตัวสุดท้ายชื่อเฉินเฉิน (Chenchen)ใช้สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ แทนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นตัวแทนของคลองหลักที่เชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งกับเมืองหางโจว ส่วนชื่อ เฉินเฉิน (Chenchen) มาจากชื่อของสะพาน กงเฉิน (Gongchen) ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กของคลองหลักในฝั่งเมืองหางโจว

สำหรับมาสคอตทั้ง 3 ตัว คือ สัญลักษณ์ของความฉลาดปราดเปรื่องแห่งโลกสมัยใหม่ และพลังงานแห่งอนาคต

นอกจากนี้ ยังประสานให้เข้ากับวัฒนธรรมจีน เข้ากับเอกลักษณ์ของนครหางโจว รวมถึงสปิริตของเอเชียนเกมส์ และทวีปเอเชียได้เป็นอย่างดี

มาสคอตประจำการแข่งขันครั้งนี้ คัดเลือกมาจากตัวอย่างจำนวน 4,633 แบบ ที่มีนักออกแบบส่งให้กับคณะกรรมการจัดการแข่งขันพิจารณา

ส่วนคาแรกเตอร์ของหุ่นยนต์ทั้ง 3 ตัว เป็นการสร้างสรรค์จากฝีมือของจาง เหวิน และหยาง หงอี้ 2 อาจารย์จากสถาบันศิลปะของจีน

ไม่เพียงเท่านั้น ในปีหน้าจีนยังจะรับเป็นเจ้าภาพอีกหนึ่งเกม กีฬาเยาวชนเอเชีย เอเชียน ยูธ เกมส์ ครั้งที่ 3 “ซัวเถา 2021” ระหว่างวันที่ 20–28 พ.ย.2021 ที่เมืองซัวเถา อีกด้วย
โดยได้มีการประกาศความพร้อม ในด้านของชนิดกีฬาไปเป็นที่เรียบร้อย

สำหรับ 18 ชนิดกีฬาที่โอซีเอ และเจ้าภาพจีน เห็นชอบให้จัดมีกีฬาโอลิมปิก สปอร์ต ครบทั้ง กรีฑา กีฬาทางน้ำ ยิมนาสติก รวมทั้งมีกีฬาใหม่ของโอลิมปิก เช่น กระดานโต้คลื่น ปีนหน้าผา บรรจุเข้าไปด้วย

ส่วนกีฬายอดฮิตของทวีปเอเชีย เรือยาวมังกร และวูซู ก็มาครบ ไม่เพียงแค่นั้นยังเอาใจวัยรุ่นด้วยการเพิ่มฮิปฮอปแดนซ์ เข้าไปอีกกีฬา

โดย 18 ชนิดกีฬาที่จะแข่งขันในกีฬาเอเชียนยูธ เกมส์ ครั้งที่ 3 ประกอบไปด้วย กรีฑา, กีฬาทางน้ำ (ว่ายน้ำ กระโดดน้ำ และโปโลน้ำ), แบดมินตัน, บาสเกตบอล (3 คูณ 3), วอลเลย์บอลชายหาด, เรือยาวมังกร, ฟุตบอล, ยิมนาสติก, กอล์ฟ, แฮนด์บอล, ฮิปฮอปแดนซ์, ปีนหน้าผา, รักบี้, กระดานโต้คลื่น, เทเบิลเทนนิส, เทควันโด, วินด์เซิร์ฟ และวูซู

เรียกได้ว่า ตลอด 3 ปีจากนี้ จีนจะจัดเกมระดับเอเชียต่อเนื่องกันไป

เริ่มตั้งแต่ เอเชียน บีช เกมส์ 2020 เอเชียน ยูธ เกมส์ 2021 และเอเชียนเกมส์ 2022 ก็ได้แต่หวังว่า เกมเหล่านี้จะเป็นสะพานเชื่อมเอเชียให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่จากทวีปนี้ ได้กลับมารวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง

หลังจากพวกเราทั้งหลายต้องหวาดระแวงกับไวรัสอันตราย โควิด-19 ต่างคนต่างอยู่มาอย่างยาวนาน

คำว่า “กีฬา” เนื้อแท้ของ “กีฬา” จะเป็นฮีโร่ ของชาวเอเชียและชาวโลกอีกครั้ง...

ฟ้าคำราม