หน้าแรกแกลเลอรี่

เรียงหน้าชน : ช่างแตกต่าง

เบี้ยหงาย

7 เม.ย. 2563 05:01 น.

เรื่องคาราคาซังกับกีฬายกน้ำหนักของไทย ซึ่งได้มีการตรวจพบสารต้องห้าม หรือเรียกง่ายๆก็ “โด๊ป” นั่นแหละ ในนักยกน้ำหนักไทย ซึ่งทยอยเปิดออกมาเรื่อย รวมๆแล้วก็ 9 คน ตั้งแต่เดือน พ.ย.ปี 2561 แต่เริ่มมาเป็นข่าวแรงขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว โดยข่าวส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ

ฝ่ายไทยเราเองก็มีการระบุว่า การพบเจอเป็นการใช้วิธีการแบบใหม่ของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ โดยเป็นการวัดค่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ไม่ใช่การตรวจพบสารต้องห้ามในตัวอย่างปัสสาวะอย่างแต่ก่อน ถือเป็นเรื่องใหม่ และตรวจสอบแล้วมาจากโค้ชคนเก่าใช้เจลลดอาการปวดทาให้กับนักกีฬาโดยพลการ ซึ่งมีสารประกอบเป็นที่ต้องห้ามอยู่ และสมาคมยกน้ำหนักก็ไม่ได้รู้เรื่องมาก่อน

หลังยื้อมาในระยะแรก ในที่สุดก็มีการแสดงความจริงใจด้วยการลงโทษตัวเองของสมาคมยกน้ำหนัก ปิดแคมป์ทีมชาติ ไม่ส่งทีมคัดโอลิมปิก เพื่อหวังโอกาสของการให้นักกีฬาคนอื่นๆที่ไม่อยู่ในข่าย ได้ลงแข่งขันในรายการชิงแชมป์โลก ซึ่งไทยเราเป็นเจ้าภาพช่วงปลายปี 2562

แต่ก็ไม่เป็นผลอะไร สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติยังคงประกาศตัดสิทธ์ิไทยห้ามแข่งโอลิมปิก 2020 และรวมถึงรายการชิงแชมป์โลก ให้เป็นเจ้าภาพจัดได้เท่านั้น ส่วนจะแบนไทยยาวเท่าไหร่ รอการพิจารณาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องยังไม่จบเท่านั้น มีเรื่องซ้ำเข้ามาอีกกับการที่สื่อเยอรมนีมาแอบสัมภาษณ์
นักยกน้ำหนักไทยช่วงปลายปี และนำไปเผยแพร่ตอนต้นปีในลักษณะว่านักกีฬาไทยยอมรับว่ามีการใช้สารกระตุ้นตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซี มีปฏิกิริยาอย่างรุนแรง และกระทบไปถึงภาพรวมของกีฬาไทยในสายตาชาวโลก เป็นเรื่องใหญ่ที่คณะของคนกีฬาไทยที่นำโดยรัฐมนตรีกีฬาไปรับรู้มาด้วยตัวเอง!

เมื่อเรื่องไปไกลขนาดนั้น ในเวลาต่อมาผู้บริหารสมาคมกีฬายกน้ำหนักชุดก่อน นำโดย บุษบา ยอดบางเตย จึงได้แสดงสปิริต ลาออกทั้งหมด และเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ การกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลสมาคมกีฬา โดยผู้ว่าการ กกท. ก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น

แม้สมาคมได้นายกคนใหม่ ปรัชญา กีรตินันท์ อดีตเลขาธิการ, อดีตเหรัญญิก โดยแคนดิเดต พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ถอนตัวไป ฟาก กกท. ก็มีผลสรุปคือ หลักฐานไม่พอที่จะชี้ว่านักกีฬาไทยยุ่งเกี่ยวกับการใช้สารต้องห้าม จบง่ายๆแค่นั้น

ในที่สุดเมื่อวันก่อน สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ หรือไอดับเบิลยูบีเอฟ ก็ประกาศแบนนักกีฬายกน้ำหนักไทย ระดับทั่วไป (ทีมชาติ) ห้ามแข่งระดับนานาชาติ 11 เดือน และระดับเยาวชน 18 ปีลงมา ห้ามแข่งระดับนานาชาติ 5 เดือน

ส่วนสมาคมยกน้ำหนักไทยถูกพักสมาชิกภาพ 3 ปี เท่ากับไม่สามารถทำกิจกรรม รวมถึงร่วมกิจกรรมใดๆในระดับนานาชาติใดๆทั้งสิ้น 3 ปี ปรับอีก 200,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 6.4 ล้านบาท

ซึ่งจะมีการประเมินผลอีกครั้งในวันที่ 7 มี.ค. 2022 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า และก่อนถึงวันสิ้นสุด 1 ปี

นี่ก็ชัดเจนว่ามุ่งไปที่สมาคมมากกว่าตัวนักกีฬา

ลำดับความเป็นมายืดยาวนิด เพียงต้องการให้เห็นภาพ และเป็นภาพของความแตกต่าง ต่างในมุมมอง ความคิดต่างในการประมวลผล ต่างในการเลือกใช้วิธีปฏิบัติ ระหว่างฝ่ายไทยเราเองกับนานาชาติ ซึ่งก็คือโลกของกีฬาทั้งใบ ไม่ว่าจะเป็นด้านลึกและกว้าง คือสหพันธ์ที่เกี่ยวข้องและไอโอซี

ตราบใดที่ “ความคิด” และ “มุมมอง” บวกด้วยทัศนคติ อาจจะมีอารมณ์ ความรู้สึก หรือ “ไทยสไตล์” แบบเดิมๆเข้าไปด้วย

เมื่อโลกและเราแตกต่างกันขนาดนี้

เราจะเดินก้มหน้ากระหยิ่มยิ้มย่อง ย่ำไปย่ำมา วนอยู่ในรั้วบ้าน หรือจะเชิดหน้าก้าวออกไปร่วมวงกับเขา

ก็อยู่ที่การกระทำของท่านทั้งหลายนี่แหละ...

“เบี้ยหงาย”