ไทยรัฐฉบับพิมพ์
ช็อกวงการสอยคิว! “ไทยทอร์นาโด” ต๋อง ศิษย์ฉ่อย หรือ รัชพล ภู่โอบอ้อมจอมคิวขวัญใจชาวไทย อดีตมืออันดับ 3 ของโลก ผวาวิกฤติโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ประกาศไม่ไปแข่งขันสนุ้กเกอร์ชิงแชมป์โลกรอบคัดเลือก ระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย. ที่อังกฤษ แต่ถ้าเลื่อนการแข่งขันยังพอมีลุ้นไปประลอง และช็อกซ้ำสอง ไทยทอร์นาโด เตรียมลาวงการสนุ้กเกอร์อาชีพโลก ถึงแม้จะรักและผูกพันมามากถึง 31 ปี ชี้สปอนเซอร์ไม่มี ฤดูกาลนี้อาจจะเป็นปีสุดท้ายของตัวเอง ขอแข่งขันเฉพาะในเมืองไทยอย่างเดียว
“ไทยทอร์นาโด” ต๋อง ศิษย์ฉ่อย หรือ รัชพล ภู่โอบอ้อม นักสนุ้กเกอร์ขวัญใจชาวไทย อดีตมืออันดับ 3 ของโลก เปิดเผยว่า “ตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดูจะขยายไปมากเหลือเกิน ซึ่งขณะนี้ 29 ประเทศในยุโรปต่างปิดเมืองกันหมดแล้ว จะมีก็แต่ประเทศอังกฤษที่ยังไม่ปิด ปล่อยให้ประชาชนดูแลตัวเอง โดยตอนนี้ตนก็ยังอยู่ในเมืองไทย ซึ่งหวั่นวิตกกับสถานการณ์โรคระบาดอย่างมาก ก่อนหน้านี้มีแผนการเดินทางไปประเทศอังกฤษ เพื่อร่วมการแข่งขันสนุ้กเกอร์อาชีพโลก รายการสุดท้ายของฤดูกาล คือรายการชิงแชมป์โลก รอบคัดเลือก ระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย. ซึ่งทาง มร.คีทผู้ดูแลนักสนุ้กจากทั่วเอเชียก็ได้ยืนยันมาว่า ได้ลงสมัครเข้าร่วมการแข่งขันให้ตนแล้ว
เท่าที่ผมติดตามสถานการณ์มาตลอด ตอนนี้ในเมืองเชฟฟิลด์ ที่ใช้เป็นสถานที่แข่งขันมีผู้ติดไวรัสโควิด-19 มากถึง 13 คนแล้ว ถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง ผมเชื่อว่าการแข่งขันอาจมีการเลื่อนแข่งออกไปอีก เพราะสถานการณ์ดูจะเลวร้ายมากขึ้น แต่สมาคมสนุ้กเกอร์อาชีพโลกคงกำลังเฝ้าระวังรอจนนาทีสุดท้าย แต่ถ้าไม่เลื่อนการแข่งขันออกไป ผมคงจะไม่ได้ไปแข่งขันชิงแชมป์โลก รายการสุดท้ายของฤดูนี้ ซึ่งมีโอกาสสูงถึง 95% ที่จะไม่ได้แข่งขัน เพราะการเดินทางก็เสี่ยง สถานการณ์ที่อังกฤษก็ไม่ดีขึ้น ซึ่งถ้าผมไปก็ไม่รู้เขาจะกักตัวหรือเปล่า และทำให้คิดว่าถ้ายังจัดแข่งขันตามกำหนดการเดิม ผมคงไม่ไป แต่ถ้าเลื่อนจะไปเพราะสมัครเข้าร่วมการแข่งขันไปแล้ว” ต๋องกล่าว
เจ้าของฉายาไทยทอร์นาโด ยังกล่าวต่ออีกว่ามาถึงตอนนี้ตนเล่นสนุ้กเกอร์อาชีพโลก มาได้จะ 31 ปี มีความรัก และผูกพันกับการเล่นสนุ้กที่อังกฤษอย่างมาก แต่มาถึงตอนนี้ตนไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าในฤดูกาลหน้าตนจะได้ไปเล่นอาชีพอีกหรือเปล่า เพราะหมดฤดูกาลนี้สปอนเซอร์ที่สนับสนุนตนก็หมดสัญญาลงแล้วทำให้ต้องใช้ทุนตัวเอง ซึ่งการไปเล่นอาชีพต้องใช้เงินจำนวนมาก และที่สำคัญผลงานของตนก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจตกแบบนี้สปอนเซอร์หายาก จึงทำให้อาจจะเป็นปีสุดท้ายของตนในการเล่นสนุ้กเกอร์อาชีพโลก แต่จะหันมาแข่งขันในเมืองไทยอย่างเดียว ซึ่งเมื่อคิดดูแล้วก็ใจหายแต่เมื่อมีเริ่มก็ต้องมีลา และมันจะเป็นความทรงจำที่ดีกับตนตลอดไป
สำหรับประวัติของต๋อง ศิษย์ฉ่อย หรือชื่อจริงเดิมว่า วัฒนา ภู่โอบอ้อม (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น รัชพล ภู่โอบอ้อม) เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2513 เป็นบุตรของนายโกวิน ภู่โอบอ้อม กับนางพลอยรุ้ง ภู่โอบอ้อม จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนเทพสัมฤทธิ์วิทยา และมัธยมต้นจากโรงเรียนศรีวิกรม์ ซึ่งบิดาของวัฒนา เป็นนักสนุ้กเกอร์อาชีพ ฉายา “ฉ่อย ซู่ซ่าส์” ซึ่งจากการติดตามดูบิดาเล่นสนุ้กเกอร์มาตั้งแต่เด็ก จึงได้ฝึกฝนฝีมือมาตั้งแต่ยังเล็ก เริ่มแข่งขันสนุ้กเกอร์ในระดับเยาวชน ได้รองชนะเลิศการแข่งขันประเภทดาวรุ่งของนิตยสารคิวทอง เมื่อ พ.ศ.2527 ขณะอายุเพียง 14 ปี โดยได้ฉายา “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” เพราะบิดา (ฉ่อย ซู่ซ่าส์) เป็นครูผู้สอน
ในปี พ.ศ.2531 ต๋อง สามารถชนะเลิศการแข่งขันชิงแชมป์รายการสนุ้กเกอร์สมัครเล่นโลกเมื่อปีที่ประเทศออสเตรเลีย เริ่มเล่นอาชีพเมื่อปี พ.ศ.2532 มีฉายาในเมืองไทยว่า “ไทยทอร์นาโด” ส่วนในต่างประเทศมีฉายาว่า “Thai Phoon” หรือ ไต้ฝุ่น เนื่องจากไต่อันดับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำและเล่นด้วยความรวดเร็ว เป็นนักกีฬาสนุ้กเกอร์จากภูมิภาคเอเชียคนแรกที่ประสบความสำเร็จในการเวทีโลก ได้แชมป์รายการแข่งขันรายการอาชีพสะสมคะแนนทั้งสิ้น 3 รายการ อันดับโลกที่สูงที่สุดคืออันดับที่ 3 ของโลกในช่วงฤดูกาลปี 1994/95 โดยเป็นรองเพียงสตีเฟน เฮนดรี และสตีฟ เดวิสเท่านั้น นอกจากนี้ต๋องยังเป็นนักสนุ้กเกอร์คนที่ 8 ของโลกที่สามารถทำเงินรางวัลได้มากกว่า 1 ล้านปอนด์
ผลงานที่สำคัญของต๋อง ศิษย์ฉ่อย ชนะเลิศรายการ Strachan Open ในปี ค.ศ.1992 ชนะเลิศรายการ Thailand Open ในปี ค.ศ.1994 และ ค.ศ.1995 รองชนะเลิศรายการ Asian Open ในปี ค.ศ.1989, รองชนะเลิศรายการ International ในปี ค.ศ.1993, รองชนะเลิศรายการ British Open 3 ปีซ้อน ในปี ค.ศ.1992, 1993, 1994, รอบ 8 คนสุดท้าย รายการชิงแชมป์โลก Embassy World ในปี ค.ศ.1993 และปี ค.ศ.1997 เกียรติยศที่ได้รับ พ.ศ.2534 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.), เครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญเงินช้างเผือก (ร.ง.ช.) ในปี พ.ศ.2530 และเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ ปี พ.ศ.2542.