หน้าแรกแกลเลอรี่

เรียงหน้าชน : ล้มแล้วลุกไง

เบี้ยหงาย

14 ธ.ค. 2562 05:01 น.

ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ปิดฉากไปหลายวัน แต่ความทรงจำที่ไม่ค่อยดียังไม่จางหายไป ไม่ได้หมายความถึงสมาคม กีฬา นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ และไม่ได้หมายถึงนักกีฬา สมาคมกีฬาที่ไม่ประสบความสำเร็จจะไม่ทุ่มเท ไม่มุ่งมั่น

และก็ไม่ได้หมายถึงการเอารัดเอาเปรียบของเจ้าภาพ สภาพฟ้าดิน หรือสนามแข่งขัน ความไม่ได้มาตรฐานต่างๆ

แต่มันหมายถึงในภาพรวมของกีฬาไทย อันเนื่องจากผลประจักษ์ที่ออกมา เมื่อเทียบเคียงกับศักยภาพของเพื่อนบ้านอาเซียน ซึ่งแสดงออกมาให้เห็นชัดเจนเมื่อเช็กดูกับกีฬาสากล ที่การกีฬาแห่งประเทศไทยเองเป็นผู้รวบรวมข้อมูลออกมา

ในกีฬาสากล ไทยเราก็อยู่อันดับที่ 3 เพียงแต่แตกต่างจากเหรียญรวมซีเกมส์ ตรงที่ 1 กับ 2 ในกีฬาสากลเป็นเวียดนาม ได้เหรียญทองกีฬาสากลมากสุด ตามด้วยฟิลิปปินส์และไทย

กีฬามีแพ้มีชนะ อันนี้พูดกี่ที และกี่ร้อยปีก็ไม่ผิด แต่การสะท้อนซึ่งศักยภาพของภาพรวม อันเกี่ยวเนื่องกับกลไกของรัฐในภาพใหญ่สุดอย่างรัฐบาล

มาถึงองค์กรกีฬา ไม่ว่าจะเป็นโอลิมปิก และ กกท. รวมถึงสมาคมกีฬาที่โยงใยเป็นโครงข่ายด้านกีฬาของชาติ ซึ่งมีเงิน หรืองบประมาณ เป็นตัวหล่อเลี้ยงเพื่อให้เฟ้นกลั่นประสิทธิภาพตามแนวทาง หรือแผนงานที่กำหนดไว้

เมื่อปัจจุบัน ตัวอย่างชัดๆก็ซีเกมส์ครั้งนี้นี่แหละ ด้วยเป็นปัจจุบันที่สุด!

แง่จำนวน มีแข่งกีฬามากชนิดเป็นประวัติการณ์ แม้เราโวยวายไม่เห็นด้วย แต่เราก็ส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่มากเป็นประวัติการณ์เช่นกัน นักกีฬา 980 คน เจ้าหน้าที่ราวๆ 400 คน กลับมาด้วยตำแหน่งที่ 3 ทั้งซีเกมส์และกีฬาสากล เดี๋ยวนี้แพ้ภาพรวมแม้กระทั่งฟิลิปปินส์ไปแล้ว และดูเหมือนเวียดนาม จะค่อยๆขยับห่างเราไปเรื่อยๆ

จำนวนขนาดนี้ งบประมาณที่ใช้ก็ย่อมมาก เป็นประวัติการณ์เช่นกัน แต่ผลงานออกมาไม่เข้าเป้ากับที่ประเมินกันไว้ ก็ย่อมเป็นประเด็น

ในส่วนของรัฐกับกีฬา เรามีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นกลไกสำคัญก็จริง แต่ในโครงข่ายกีฬายังมีรูปแบบ ของคณะกรรมการการกีฬาฯที่กำกับดูแลด้านนโยบาย เรามีคณะกรรมการกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติที่กำกับดูแลการใช้เงินจากกองทุนฯ ซึ่งปัจจุบันได้แบ่งจากภาษีสรรพสามิตปีละ 3,000-4,000 ล้านบาททุกปี และเหลือก็ทบไปใช้ปีถัดไป

มีความพยายามตีความ หรือแสวงหาแนวทางให้ใช้เงินจำนวนนี้ได้กว้างมากขึ้น นัยว่าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ใช้ได้ง่าย ขึ้นกับโครงการหลากหลายว่างั้นเถอะ และเรายังมีคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งนักกีฬาเข้า

แข่งขัน ผู้ส่งไปแต่ใช้เงินรัฐ เจ้าหน้าที่ต่างๆก็ใช้เงินรัฐตามระเบียบ

ประธาน 3 ส่วนดังกล่าวเป็นคนคนเดียวกันคือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่ตามโควตากระทรวง รัฐมนตรีกีฬา พิพัฒน์ รัชกิจประการ พรรคภูมิใจไทย และรองนายกฯที่กำกับดูแลกระทรวงนี้ ก็ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

เรียกว่าคนใหญ่คนโตทั้งนั้น “บิ๊กป้อม” คุมกีฬาถึง 3 ส่วนหลักๆ และเป็นส่วนที่อยู่ต้นน้ำทั้งสิ้น ดูทั้งนโยบายในเครือข่ายภาครัฐ และดูทั้งเงินกองทุนที่จับจ่ายในเชิงยุทธศาสตร์ นอกเหนือจากงบประมาณประจำ และยังคุมในกลไกที่ส่งนักกีฬาไปแข่งขันในองค์กรภาคเอกชนอย่างโอลิมปิก

เบ็ดเสร็จอยู่ในคนคนเดียวกัน ตามหลักการแล้วจะคิดอ่าน ทำอะไร ย่อมสะดวก รวดเร็ว และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ถ้าทำเป็น คิดเป็น!!!

แต่เมื่อผลออกมาอย่างนี้ ก็ต้องประเมิน

ตัวเองด้วยเหมือนกันว่า สิ่งที่ทำไปนั้น สิ่งที่คิดไปนั้น จะเป็นคิดเอง หรือเครือข่ายแวดล้อมเสนอมา คิดมาให้ ก็แล้วแต่

มันถูกหรือผิด มีประสิทธิภาพแค่ไหน เงินที่มีใช้มากกว่าในอดีต แต่กลับเกิดประสิทธิภาพต่ำกว่าในอดีต มันแสดงถึงความล้มเหลวหรือไม่

นโยบายการสนับสนุนกีฬา การส่งแข่งกีฬา

ของเรานั้นถูกทาง หรือผิดทาง หรือหลงทางก็ตาม

ถึงเวลาต้องทบทวน

การสนับสนุนในเชิงจำนวน กับการสนับสนุนในเชิงคุณภาพ สัดส่วนที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน

เมื่อล้มแล้วก็ต้องลุก เพียงแต่ว่าจะลุกกันอย่างไร ลุกแล้วยืนหยัดอย่างยั่งยืน เพื่อไม่ให้

ล้มกันอีก...

“เบี้ยหงาย”