หน้าแรกแกลเลอรี่

5 ประเด็นหลังคุยกับ “กมลวรรณ ยอดเพ็ชร” ดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการเทนนิสไทย

ไทยรัฐออนไลน์

25 ต.ค. 2562 06:30 น.

เชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คนไทยจะได้รู้จักกับ “กมลวรรณ ยอดเพ็ชร” นักเทนนิสดาวรุ่งหญิงที่ฟอร์มฮอตสุดๆในชั่วโมงนี้ ซึ่งพร้อมจะสร้างประวัติให้และความภาคภูมิใจ พร้อมตั้งเป้าคว้าแชมป์แกรนด์สแลม

ถ้าลองค้นหาคำว่า “ดาวรุ่ง” ในโลกอินเทอร์เน็ต คุณจะได้พบกับความหมายของมันที่หมายถึง “ดวงดาวกำลังเปล่งประกาย” และแน่นอนคำคำนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในการนำมาเรียกใช้กับบรรดารุกกี้ฟอร์มเด่นเกินวัยในแต่ละวงการกีฬา 

หากยังนึกไม่ออก ให้ลองนึกถึง คิลิยัน เอ็มบัปเป หัวหอกดาวรุ่งแห่งวงการลูกหนัง วัย 20 ปี ของทีมปารีส แซงต์ แชร์แมง ที่ช่วยให้ทีมชาติฝรั่งเศสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาแล้ว เมื่อปี 2018 หรือถ้าในไทยคงเป็น ''ซันนี่ สายล่อฟ้า'' อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ นักสนุกเกอร์ชื่อดังผู้เคยโค่นแชมป์โลกอย่างมาร์ค วิลเลี่ยมส์ ซึ่งในอดีตเคยถูกยกให้เป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองของไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามแต่ วันนี้ทางไทยรัฐออนไลน์จะพาไปรู้จักถึงเบื้องหลังความเป็นมา ก่อนที่จะมาเป็น เด็กหญิงตัวน้อยที่มีชื่อว่า “น้องบัว” กมลวรรณ ยอดเพ็ชร นักเทนนิส วัย 12 ปี ดีกรีทีมชาติ ที่คว้าแชมป์มาแล้วหลากหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นรายการ เซาท์อีสเอเชีย ที่ประเทศฟิลิปปินส์และกัมพูชา, อันดับสองเอเชียที่ประเทศคาซัคสถาน ส่วนในประเทศ รายการประเทศไทยคว้าทั้งแชมป์ประเภทเดี่ยวและประเภทคู่ ฯลฯ

ส่งผลให้น้องบัวถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในดาวรุ่งพุ่งแรงมากสุดคนหนึ่งแห่งวงการลูกหวดสักหลาดของสยามประเทศ รวมถึงจะไปทำความรู้จักกับครอบครัวของน้องบัวกันด้วย พร้อมพูดคุยในประเด็นต่างๆ 

เหตุเกิดจากน้ำท่วมใหญ่ “ราฟาเอล นาดาล” เข้ามาช่วยเปลี่ยนชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 ชาวจังหวัดกรุงเทพมหานครบางพื้นที่ ร่วมถึงปริมณฑลต้องพบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งครอบครัวของน้องบัวก็เป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยจากเหตุอุทกภัยในครั้งนั้น โดยคุณพ่อยุ้ย "สไม สวยรูป" ได้ย้อนความทรงจำในอดีตให้ฟังว่า

“ตอนนั้นเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ผมทำงานในโรงงานรีไซเคิลและติดอยู่ในนั้นเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งน้องบัวยังมีอายุเพียง 4 ขวบเอง และยังไม่รู้จักกีฬาเทนนิสด้วยซ้ำ ทีนี้พอไปไหนไม่ได้เราก็ได้แต่ดูทีวี จนไปเห็น 'ราฟาเอล นาดาล' ลงแข่ง ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขาเป็นใคร รู้แค่ว่าเขาตีกันชิงเงินรางวัลรวม 100 กว่าล้าน ผมก็มานั่งคิดว่ามันมีด้วยหรอกีฬาที่ชิงเงินสูงขนาดนี้ ผมทำโรงงานพลาสติกมาเป็น 10 ปีแล้ว ยังเก็บเงินแสนไม่ได้เลย จากนั้นผมรอถึงช่วงวันที่น้ำลด และพาเขาไปหาที่ฝึกตีเทนนิสเลย” คุณพ่อพูดถึงจุดเริ่มต้นการเป็นนักเทนนิสของลูกสาว 

เริ่มจากไม่มีความรู้เรื่องเทนนิส พร้อมส่งพี่ชายเป็นตัวช่วยพิเศษ

ไม่มีใครบนโลกใบนี้ ที่รู้เรื่องทุกอย่างตั้งแต่เกิดถ้าไม่เริ่มศึกษาให้ดีก่อน ความรู้เรื่องกีฬาเทนนิสก็เช่นกัน แม้เป็นกีฬาที่ดูง่าย และสนุก แต่ความเข้าใจของกีฬาชนิดนี้มันมีมากกว่านั้น รายละเอียดต่างๆ ระหว่างการแข่งเยอะแยะมากมาย รวมไปถึงการรักษาร่างกายให้พร้อมก่อนเกม ซึ่งกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ คุณพ่อได้จูงมือพาน้องบัวลองผิดลองถูก ไต่ระดับตั้งแต่ศูนย์จนถึงสิบ เพราะความมุ่งมั่นและพร้อมหาความรู้ในกีฬาชนิดนี้อย่างจริงจัง

โดยคุณพ่อยุ้ยได้เผยว่า “แรกเริ่มเราพากันไปซื้ออุปกรณ์ในห้าง ก็เลือกไม่เป็นหรอกเอาแค่ถูกไว้ก่อน และก็มาตีกันเองเลยเพราะไม่รู้ต้องหาโค้ชจากที่ไหน ซึ่งก็ตีกันไม่เป็นหรอกในตอนนั้น ก็ตีกันแบบมั่วๆ ทีนี้ก็มาคิดว่าแบบนี้มันไม่ถูกต้องแล้วเพราะมันเหนื่อยมากกับการวิ่งเก็บลูกเทนนิส โดยที่ไม่ได้ตีโต้กันเลย ก็เลยเริ่มไปหาโค้ชแต่โค้ชก็ไม่ใช่โค้ชมืออาชีพจริงๆ อีก พอไปสมัครที่อื่นก็ไม่รับ เพราะอายุน้องตอนนั้น 4-5 ขวบเอง” 

“จากนั้นผมเลยเปลี่ยนความคิด ส่งให้พี่ชายของเขาไปเรียนก่อน และตอนนั้นก็ได้พี่ชายเขานี่แหละที่ช่วยสอนเป็นน็อกเกอร์ให้ด้วย ส่วนผมเป็นคนยืนบอกอยู่ข้างหลัง ต่อมาในช่วงหลังเขาบาดเจ็บแบบไม่รู้สาเหตุ จนมาได้ทางสมาคมลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยนี่แหละที่ให้นักกายภาพมาดูแล ซึ่งต่อจากนั้นเพียงแค่ 20 นาที เขาหายเป็นเลย จากเดิมที่เดินไม่ไหวแถมวิ่งได้เลยด้วย โดยสาเหตุมาจากการที่ไม่ค่อยยืดหลังเล่นเสร็จ ซึ่งก็ใช่เพราะตอนนั้นเราเล่นอย่างเดียวไม่สนใจเรื่องพวกนี้เลย เล่นเสร็จกลับบ้านแล้วก็นอน ด้วยความที่ไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้ ผมจึงส่งพี่ชายเขาไปเรียนด้านนี้โดยเฉพาะเพื่อนำเอาความรู้มาช่วยน้อง เกิดบาดเจ็บอะไรขึ้นมาจะได้ดูแลกันได้” 

คุณพ่อผู้อยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จ

ถึงแม้จะเริ่มต้นจากศูนย์ แต่ด้วยความรักลูกของคุณพ่อที่พยายามผลักดันลูกอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เรื่องการกิน การจัดเวลา รวมถึงการเป็นโค้ชบวกกับการทำหน้าที่ของพ่อไปในตัว ก็จะคล้ายๆ กับนักกีฬาชื่อดังในไทยหลายคน อย่าง “โปร์เมย์” เอรียา จุฑานุกาล ก็มีคุณพ่อสมบูรณ์ จุฑานุกาล คอยอยู่เคียงข้างตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นมือสมัครเล่น จนก้าวมาถึงจุดสูงสุดคือมือ 1 ของโลก หรือ “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่มีคุณพ่อก้องภพ สรงกระสินธ์ เป็นโค้ชให้คนแรก จนตอนนี้เจ้าตัวไปโลดแล่นอยู่บนเวทีลูกหนังของประเทศญี่ปุ่นกับทีมคอนซาโดล ซัปโป และมีชื่อเสียงอย่างมากในไทยรวมถึงต่างประเทศด้วย ซึ่งแน่นอนความเข้มงวดของคุณพ่อกับลูกที่เป็นนักกีฬา มันเป็นของคู่กันที่ยอมให้ขาดไม่ได้

“ผมเป็นคนที่ชมเขาน้อยครับ ในสิ่งที่เขาทำได้ดีแล้วเราจะไม่พูด ผมต้องเอาข้อที่ไม่ดีออกมาพูด แน่นอนว่ามันทำให้เขาเบื่อเหมือนกัน ที่คอยติตลอด ตรงนั้นไม่ดี ตรงนี้ก็ยังไม่ดี ตีแบบนั้นก็ยังไม่ได้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วข้อดีเขาเยอะ แต่เราอยากบอกข้อที่ควรให้แก้ไขมากกว่า โดยเด็กทั่วไปคงไม่มีใครชอบ ผมรู้ดีผมก็พยายามปรับอยู่ ปรับตามความต้องการของเขาว่าเขาต้องการแบบไหน” คุณพ่อผู้สวมบทเป็นครูใจร้าย กล่าว

บุคคลต้นแบบ “โรเจอร์ เฟเดอเรอร์”

อย่างที่ทราบกันดีว่า “เฟดเอ็กซ์” โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ นักหวดชาวสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 19 สมัย คือหนึ่งในนักเทนนิสระดับมือต้นๆ ของโลก ที่เหล่าดาวรุ่งหลายคนอยากเอาเป็นแบบอย่าง และฝึกฝนตามเพื่อจะได้เดินตามรอยเท้าอันยิ่งใหญ่ของมือเก๋ารายนี้ ซึ่งก็แน่นอนว่า “กมลวรรณ” ก็อยากที่จะมีฝีมือที่เก่งกาจแบบโรเจอร์ ถึงกับยกให้เป็นไอดอลร่วมกับนักหวดชาวไทยอย่าง ภราดร ศรีชาพันธุ์, ดนัย อุดมโชค และแทมมารีน ธนสุกาญจน์

“ถ้าในไทยไอดอลคงเป็นพี่แทมมี่ พี่ดนัย และพี่ภราดร แต่ถ้าเป็นเมืองนอกก็คือ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ เพราะเป็นคนที่พ่อให้ดูเอาไว้เป็นแบบอย่าง เขาเป็นคนตีแบบสบายๆ และไม่ค่อยมีอาการบาดเจ็บ แม้สไตล์จะไม่ค่อยคล้ายกัน แต่ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการศึกษา ใช้ลูกเล่นต่างๆของเขา และเป้าหมายสูงสุดคืออยากคว้าแชมป์แกรนด์ให้ได้” น้องบัว กล่าว

นักกีฬาและการศึกษา

ในประเทศไทยวุฒิการศึกษาทุกระดับคือใบเบิกทางสู่การทำงาน แต่กับคนที่มีอาชีพเป็นนักกีฬาแล้ว การเรียนไปด้วยและต้องฝึกซ้อมไปด้วยดูเหมือนจะไม่ค่อยเข้ากันเท่าไรนัก ยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษ นักฟุตบอลหลายคนเริ่มมาเอาดีทางในกีฬาชนิดนี้ตั้งแต่ยังเด็ก เพราะหากมีพรสวรรค์ และพร้อมทุ่มเทให้กับมันแล้วละก็ เม็ดเงินมหาศาลก็จะพุ่งมาหาพวกเขาโดยไม่ทันได้ตั้งตัว ซึ่งดูแล้วคุ้มกว่าที่ต้องแบ่งเวลาไปให้กับการเรียนหนังสือเป็นไหนๆ แต่อย่างไรก็ตามการเรียนไปด้วยและต้องฝึกซ้อมไปด้วย ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ใหญ่อะไรมากมายต่อ “น้องบัว” แถมทุกคนในครอบครัวรวมถึงคุณครู และเพื่อนๆ ที่โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พร้อมให้ความช่วยเหลือน้องเป็นอย่างดี

“นักกีฬาของไทยอุปสรรคคือการเรียนร่วมกับการแบ่งเวลาไปเล่นกีฬา โรงเรียนต้องการเด็กที่เรียนหนังสือ ส่วนนักกีฬาก็ต้องการผลงานออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งต้องขยันมากกว่าคนอื่นหน่อย” 

ส่วนเรื่องภาษานั้นคุณพ่อได้เผยต่อว่า ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับน้องบัวแม้แต่น้อย เพราะเข้ากับคนได้ง่าย “เรื่องภาษาไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับน้องเลย เพราะเขาเป็นคนขี้เล่น เข้ากับคนง่าย และไม่กลัวฝรั่ง เขาชอบพาคนอื่นตลกไปหมด คนบางคนเขายังบอกว่าลูกสาวผมนี่เป็นถึงระดับทีมชาติ คงต้องเข้มแน่ หยิ่งแน่ แต่เปล่าเลยลูกสาวผมเป็นเหมือนคนปกติทั่วไปนี่แหละ”