หน้าแรกแกลเลอรี่

ยกน้ำหนัก สะดุด! สะเทือน โอลิมปิก

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

22 ก.ย. 2562 05:01 น.

2 สหพันธ์กีฬา ไม่ว่าจะเป็นสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ และสหพันธ์มวยสากลนานาชาติ ถูกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล จับจ้องเป็นพิเศษมาก่อนหน้านี้ ถึงแนวทางการบริหารงาน และมีโอกาสที่จะหลุดวงโคจรจากการถูกบรรจุในโอลิมปิกเกมส์

ในส่วนของสหพันธ์มวยสากลฯแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เรื่องการตัดสิน ทำให้โอลิมปิกสากล เข้าไปเป็นผู้จัดการแข่งขันในโอลิมปิก โตเกียว 2020 แทนเป็นที่เรียบร้อย

ส่วนสหพันธ์ยกน้ำหนักฯ ซึ่งมีทามาส อาจัน เป็นประธาน มีประเด็นที่ต้องควบคุมการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาของชาติต่างๆ ให้ได้ ไม่เช่นนั้น โอลิมปิก ปารีส 2024 ก็สุ่มเสี่ยง จะถูกตัดออกระบบ

สหพันธ์ยกน้ำหนักฯ เลยทำข้อตกลงกับ โอลิมปิกสากล เพื่อคงกีฬานี้ไว้ในโอลิมปิกอีก 5 ปีข้างหน้า

นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในการประชุม เมื่อวันที่ 16 ก.ย. สหพันธ์ฯไม่ยินยอมให้ไทย (ซึ่งถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ และสมาคมฯ ได้แก้ต่างไปเรียบร้อยแล้ว ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นเพียงการกระทำของโค้ช ที่ให้เจลรักษาอาการบาดเจ็บกับนักกีฬา) ลงแข่งขันในศึกยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก 2019 ซึ่งกำลังชิงชัยอยู่ในเวลานี้ ที่ศูนย์กีฬา แห่งชาติภาคตะวันออก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

ในเรื่องนี้ “เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอด-บางเตย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และรองประธานสหพันธ์ฯ คนที่ 1 เล่าถึงที่ไปที่มาว่า จากที่ก่อนหน้านี้สมาคมฯ ประกาศแบนตัวเองตั้งแต่ช่วงต้นปี ด้วยอยู่ใน กระบวนการสืบสวนสอบสวนว่า สิ่งที่ถูกกล่าวหาจากสหพันธ์ฯเกิดจากอะไร

แต่เมื่อการสืบหาข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นลง สมาคมฯ ได้ส่งเรื่องให้สหพันธ์ฯและฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยสมาคมฯไม่ได้เป็นผู้กระทำ

เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็ได้ขอยกเลิกการแบนตัวเอง เพื่อให้กลับเข้ามาแข่งขัน โดยเฉพาะกับรายการชิงชนะเลิศแห่งโลกครั้งนี้ ซึ่งมีคะแนนสะสมให้นักกีฬาได้ไปโอลิมปิก โตเกียว 2020

แต่อย่างไรก็ตาม สหพันธ์ฯไม่ให้ไทยเข้าร่วมแข่งขัน เพราะสหพันธ์ฯต้องการให้โอลิมปิกสากล เห็นว่าสหพันธ์ฯ มีมาตรการควบคุมการใช้สารกระตุ้น และต้องการให้เป็นโอลิมปิกสีขาว

พล.ต.อินทรัตน์กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัว ในฐานะรองประธานสหพันธ์ฯ ต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเอง เพื่อรักษาภาพรวมของกีฬายกน้ำหนักทั้งโลกเอาไว้

ทั้งนี้ เราคงต้องรอสหพันธ์ฯประชุมกันวันที่ 26 ก.ย.นี้อีกครั้งว่าจะให้นักกีฬาไทยเริ่มลงแข่งขันได้ในรายการใด นั่นหมายถึง เราจะได้ทราบว่า กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ปลายปีนี้ที่ฟิลิปปินส์ นักกีฬาไทยจะได้ลงแข่งหรือไม่

ท้ายที่สุดแล้ว สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ต้องขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ที่ไม่สามารถสร้างความสุขให้กับพี่น้องชาวไทยได้เหมือนที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่ได้รับการยินยอมจากสหพันธ์ฯให้แข่งขันชิงชนะเลิศแห่งโลก 2019 และมีโอกาสที่จะไม่ได้ไปโอลิมปิก 2020 ด้วยนักกีฬาเก็บคะแนนสะสมไม่ทันเวลา

กับประเด็นการจะพลาดไปโอลิมปิกของจอมพลังไทย จะเป็นการพลาดโอกาสเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี หลังจากได้เข้าร่วมมาแบบติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 1992 ที่บาร์เซโลนา

ก่อนหน้านั้น ยกเหล็กไทยเบิกทางได้ไปโอลิมปิกครั้งแรกสุด ตั้งแต่ปี 1964 ที่โตเกียว เรื่อยไปจนถึงปี 1976 ที่มอนทรีอัล และเว้นไป 3 ครั้ง ก่อนจะมาเริ่มต้นอีกรอบ ปี 1992 ที่บาร์เซโลนา ดังกล่าว

ส่วนผลงานทำเอาไว้มากถึง 5 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 7 เหรียญทองแดง

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะยกน้ำหนักเป็นกำลังสำคัญในการหยิบเหรียญรางวัลในมหกรรมกีฬาใหญ่ระดับโลก ให้ไทยมาโดยตลอด

ที่สำคัญเป็นบทเรียนราคาแพงของทั้งสมาคมกีฬายกน้ำหนัก และวงการกีฬาไทย ที่ต้องตระหนักถึงเรื่องของการป้องกันการใช้สารต้องห้ามให้มากกว่าเดิม

การเรียนรู้ต่อวิทยาการใหม่ๆ ที่มีการเปลี่ยน-แปลงอยู่ตลอดเป็นสิ่งจำเป็น!!!

สำหรับในโอลิมปิก โตเกียว 2020 แฟนกีฬาชาวไทยก็คงต้องไปลุ้นคว้าเหรียญกับกีฬาอื่นๆต่อไปแทน ไม่ว่าจะเป็น เทควันโด มวยสากล และแบดมินตัน เป็นต้น

ส่วนยกน้ำหนัก คงต้องมาว่ากันใหม่

จอมพลังดาวรุ่งต้องใช้เวลาต่อจากนี้ เดินหน้าเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด พร้อมๆกับเก็บพลังแห่งความอัดอั้น ความกระหายในชัยชนะกันเอาไว้

แล้วไประเบิดฟอร์มให้โลกได้ประจักษ์ฝีมือกันอีกครั้ง

ในโอลิมปิก ปารีส 2024...

กัญจน์ ศิริวุฒิ