หน้าแรกแกลเลอรี่

ไทยคิดจัด 4 เกมใหญ่ เป็นไปได้แค่ไหน?

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

10 มี.ค. 2562 05:01 น.


ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีสำหรับการประชุมใหญ่สามัญ สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือโอซีเอ ครั้งที่ 38 ซึ่งประเทศไทยของเรา เป็นเจ้าภาพ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

การเดินทางมาของชาติสมาชิกโอซีเอ 45 ชาติ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซี ผู้แทนสหพันธ์กีฬานานาชาติชนิดต่างๆ จากทั่วโลกกว่า 800 คน

แน่นอน ทำให้ภาพของวงการกีฬาไทย เป็นบวกในสายตานานาชาติ อย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น ได้เพิ่มมาอีกไม่น้อยเลย

ทั้งในด้านตัวบุคคล ชีค อาหมัด อัล ฟาฮัด อัล ซาบาห์ ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานโอซีเอ อีกสมัย ในการประชุมครั้งนี้ ก็มอบให้คีย์แมนกีฬาไทย ช่วยงานหลายตำแหน่ง

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมและ กรรมการบริหารโอซีเอ

ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ยังทำหน้าที่ที่ปรึกษาประธานโอซีเอ ต่อไป

ส่วนคณะกรรมการโอลิมปิกฯ คนอื่น อย่าง พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ ได้เป็นรองประธานโอซีเอ ภาคพื้นตะวันออกเฉียงใต้ ศ.เจริญ วรรธนะสิน เป็นกรรมการกฎกติกา

ขณะที่ นายธนา ไชยประสิทธิ์ รอคำสั่งแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการฝ่ายการเงิน เช่นเดียวกับ รศ.ดร.สุพิตร สมาหิโต จะได้เป็นกรรมาธิการฝ่ายสตรี และกีฬา

ไม่เพียงแค่นั้น กับกรณีที่ไทยมีแนวคิดจะเสนอตัวจัด 4 เกมใหญ่

แยกเป็น 3 เกมระดับเอเชีย เอเชียนอินดอร์-มาเชียลอาร์ตเกมส์ ปี 2021, เอเชียนยูธเกมส์ ปี 2025 และเอเชียนเกมส์ ปี 2030

รวมไปถึงอีก 1 เกมระดับโลก อย่างยูธโอลิมปิกเกมส์ ปี 2026

การประชุมครั้งนี้ก็ถือเป็นต้นทุน เป็นพื้นฐานที่ดีในการต่อยอดไปสู่การเสนอตัวจัดเกมต่างๆ

“เกมที่กล่าวไป เราสนใจเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีที่สุด อย่างเอเชียนเกมส์ ก็ต้องมีการวางแผนสร้างหมู่บ้านนักกีฬาขึ้นมารองรับ

ส่วนยูธโอลิมปิกเกมส์ หลังจากอินเดีย หนึ่งในชาติคู่แข่งของไทย มีปัญหา ถูกไอโอซี ระงับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพเกมนานาชาติ หลังจากไม่ให้นักยิงปืนปากีสถานเข้าไปแข่งขัน

ทำให้โอกาสของไทยมีมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องรอทางไอโอซี ประกาศวันเปิดรับสมัครประเทศเจ้าภาพอย่างเป็นทางการอีกครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะมีชาติอื่นเสนอตัวเพิ่มเติมก็ได้” พล.ต.จารึกกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงประเด็น ไทยคิดจัด 4 เกมใหญ่ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

เรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า มีหลายองค์ประกอบ ไม่ว่า จะเป็นความต้องการ นโยบายของรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ เรียกว่าภาครัฐ มีนโยบายจัดมหกรรมกีฬารายการต่างๆอยู่แล้ว

ถัดมาเป็นความพร้อมของเราเอง จะจัดจริงๆ ได้กี่เกม หรือจะใช้เกมหนึ่งเพื่อต่อยอดไปสู่อีกเกม

และสนามกีฬาจะใช้ของเดิมเป็นทางเลือก แล้วมาปรับปรุง หรือจะสร้างขึ้นใหม่ รวมทั้งแผนการดูแลสนามหลังจากการแข่งขันเสร็จสิ้น เป็นอย่างไร

จากนั้นมีแผนงานระยะยาวที่จะสร้างเมืองจากเกมที่ว่า ใช้กีฬาสร้างระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน กับเมืองที่ใช้แข่งขันหรือไม่

มีการวางกลยุทธ์ เมื่อต้องใช้งบประมาณแล้ว ประเทศได้อะไรกลับมาบ้าง ถ้าตอบประชาชนได้ และแสดงให้เห็นว่าคุ้มค่ากับการลงทุน ลงแรง ก็เดินหน้าได้เลย

หากภายในของเรา เตรียมการไว้ดี 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะสะท้อนไปถึงองค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจได้ไม่ยาก

เชื่อว่าถ้าตั้งใจจริง จะถูกมองเห็น และนำมาสู่โอกาสในที่สุด แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะต้องสู้กับชาติอื่นๆ ที่เสนอตัวเข้ามาในคราวเดียวกันก็ตาม ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้เสมอ

แต่ถ้าดีดลูกคิดแล้วดูไม่เหมาะ ไม่เข้าท่า

หยุด! ดีกว่าจะลุยต่อ ได้ทันที...

กัญจน์ ศิริวุฒิ