ไทยรัฐออนไลน์
นักวิ่งปอดเหล็กจากเคนยาโชว์ความอึดขั้นสุดยอด กวาดแชมป์มาราธอนไปครองทั้งประเภทชายและหญิงในศึก Amazing Thailand Marathon 2019...
วันที่ 3 ก.พ.62 การแข่งขัน Amazing Thailand Marathon 2019 ได้เปิดฉากไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น ระยะมาราธอน (42.195 กม.) และ ฮาล์ฟมาราธอน (21.1 กม.) มีจุดปล่อยตัวพร้อมกันที่ ราชมังคลากีฬาสถาน การกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก ในเวลา 03.00 น. สิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนระยะ 10 กม. และ 3.5 กม.ปล่อยตัว บริเวณหน้าโลหะปราสาท ถนนราชดำเนิน สิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีผู้เข้าแข่งขันราว 30,000 คน
ซึ่งผลปรากฏว่า เคมบอย โรติช เคนเน็ธ จากเคนยา คว้าแชมป์ในประเภทมาราธอนชายไปครอง ด้วยเวลา 02.16.07 ชั่วโมง รับเงินรางวัลไป 200,000 บาท ส่วนนักวิ่งไทยที่ทำเวลาดีที่สุดได้แก่ สัญชัย นามเขต ที่เข้ามาเป็นอันดับ 10 ทำเวลาได้ 02.23.02 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 50,000 บาท ขณะที่แชมป์มาราธอนหญิง ได้แก่ มาร์กาเร็ต วันกุย เอ็นจูกูนา เป็นนักวิ่งจากเคนยา สถิติ 02.44.06 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 200,000 บาท ส่วนสาวไทยที่ทำเวลาดีที่สุด โดยเข้ามาเป็นอันดับ 10 ของทั้งหมดได้แก่ พิชชานันท์ มหาโชติ เวลา 03.27.59 ชั่วโมง รับเงินรางวัล 50,000 บาท
หลังการแข่งขัน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับโลก เพื่อต้องการยกระดับการจัดการแข่งขันวิ่งของประเทศไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล สามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และหวังว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในทวีปเอเชีย ที่มีนักวิ่งอยากเข้ามาร่วมแข่งขันระดับต้นๆ ของเอเชีย
การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ทางคณะผู้จัดงานเล็งเห็นความสำคัญของนักวิ่งที่มาร่วมแข่งขัน 30,000 คน ซึ่งในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็มีกระแสเรื่องของมลภาวะทางอากาศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดผลกระทบกับผู้แข่งขัน แต่เราคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก และได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการแข่งขันในหลายๆ ด้าน และเฝ้าระวังตรวจวัดค่า PM 2.5 ตลอดเส้นทาง และช่วงเวลาการแข่งขันจริง อีกทั้งยังมีการขอความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น กทม.ให้มีการฉีดล้างและดูดถนนในเส้นทางตลอดทั้งสัปดาห์ก่อนการแข่งขัน โดยมีการเตรียมทีมแพทย์ พยาบาลในทุกจุดให้น้ำ มีถังออกซิเจนในทุกจุดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเรายังมีทีมแพทย์ที่คอยวิ่งดูแลนักกีฬากว่า 100 คน
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ ยังมีการติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM 2.5 และแจ้งให้นักวิ่งทราบในทุกจุดให้น้ำ มีฟองน้ำแช่น้ำเย็นไว้หากเกิดการระคายเคืองขึ้น ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ ถือว่าเป็นส่วนช่วยทำให้มลภาวะทางอากาศในกรุงเทพมหานครดีขึ้น เมื่อเทียบกับการใช้จราจรของวันอาทิตย์ตามปกติ โดยสามารถวัดได้จากค่าในเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นค่าสีเขียวทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีนักวิ่งเป็นจำนวนมากสามารถทำลายสถิติของตัวเองได้อีกด้วย โดยเฉพาะแชมป์มาราธอนชาย-หญิง (02.16.07 และ 02.44.46 ชม. ตามลำดับ) ทำเวลาดีกว่าแชมป์ปีที่แล้ว (02.18.41 และ 02.50.55 ชม.)