หน้าแรกแกลเลอรี่

'เจียงฮายเกมส์' สร้างมาตรฐานใหม่

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

2 ธ.ค. 2561 05:01 น.

จบลงไปด้วยความประทับใจ ตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว สำหรับการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 “เจียงฮายเกมส์” ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งชิงชัยกันไปเมื่อระหว่างวันที่ 18-28 พ.ย.2561

เป็นกีฬาแห่งชาติ ที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องชาวเชียงราย โดยมี อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ นำทัพ ทำเกือบทุกอย่างที่ทำได้ ช่วยให้กระแสและบรรยากาศของเจียงฮายเกมส์มีความคึกคัก ได้รับความสนใจในวงกว้าง

ใช้จุดเด่นของจังหวัด คือศิลปะมาผสมผสานกับกีฬาได้อย่างลงตัว

ในด้านของเกมการแข่งขัน ความสนใจของแฟนกีฬา รวมไปถึงกองเชียร์ ผู้ปกครอง ผู้ติดตามของนักกีฬา ก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

ร่วมด้วย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เจ้าของเกม ยังเดินหน้าแนวทางสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์ สร้างความบันเทิงให้กับ 9 ชนิดกีฬา ได้แก่ ยูโด, เทควันโด, คาราเต้โด, ลีลาศ, ยูยิตสู, เพาะกาย, แฮนด์บอลชายหาด, บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล ทั้งการใช้แสงสีเสียง แนะนำตัวนักกีฬา และจัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมกับคนดู เพิ่มความสนุกสนานเข้าไปอีก

นายวิษณุ ไล่ชะพิษ ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาเป็นเลิศ กกท.กล่าวว่า ผลงานของนักกีฬาจากจังหวัดต่างๆ สร้างสถิติที่น่าสนใจมากมาย โดย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. และนายณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศ และวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้ให้ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศ กกท. รวบรวมข้อมูลเอาไว้ ปรากฏว่า นักกีฬาทั่วไปชนะทีมชาติได้ถึง 79 รายการ คิดเป็น 16.74 เปอร์เซ็นต์, มีสถิติดีขึ้นกว่าครั้งที่ 45 จำนวน 68 รายการ จาก 134 รายการ คิดเป็น 50.75 เปอร์เซ็นต์, มีการทำลายสถิติ 13 รายการ จาก 134 รายการ คิดเป็น 9.70 เปอร์เซ็นต์, นักกีฬาคนเดิม/ทีมเดิม ได้แชมป์ 179 รายการ คิดเป็น 26.32 เปอร์เซ็นต์ และนักกีฬาคนใหม่/ทีมใหม่ ได้แชมป์ 501 รายการ คิดเป็น 73.68 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ สถิติและเหตุการณ์ด้านอื่นๆ ที่สื่อมวลชนได้รวบรวมไว้ ยังมีอีกไม่ว่าจะเป็นทัพนักกีฬาเมืองหลวงกรุงเทพฯ ได้ตำแหน่งเจ้าเหรียญทองกีฬาแห่งชาติ เป็นสมัยที่ 28 (แบ่งเป็นกีฬาเขต 16 สมัย ครั้งที่ 7-18, 23, 28, 30-31 และ กีฬาแห่งชาติ 12 สมัย ครั้งที่ 32-41, 45-46) ทำไปได้ทั้งหมด 118 เหรียญทอง 118 เหรียญเงิน 120 เหรียญทองแดง

ด้าน “อุ้ม” ณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง นักว่ายน้ำทีมชาติไทย ที่ครั้งนี้เล่นให้อุดรธานี ได้เหรียญในเจียงฮายเกมส์ อีก 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง รวมแข่งขันกีฬาแห่งชาติไปแล้ว 13 ครั้ง ได้ไปถึง 89 เหรียญทอง 18 เหรียญเงิน 10 เหรียญทองแดง เช่นเดียวกับ “ติ๋ม” ธนภรณ์ เปี่ยมสกุล จากสงขลา ก็ได้เหรียญทองเดิน 20 กม.หญิง เป็นสมัยที่ 17 เข้าให้แล้ว

ยังรวมถึง “น้องมิลค์” วรรรญา วรรณผ่อง วัย 11 ขวบ จากกรุงเทพฯ จอมยิ้มยากเจ้าของแชมป์บังคับโดรนชิงแชมป์โลกที่จีน โชว์ฟอร์มสมราคา คว้าเหรียญทองบังคับโดรนไปครองได้อีก เป็นต้น

ไม่แค่นั้น เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง ที่มอบให้นักกีฬาที่ได้อันดับ 1–3 ในแต่ละประเภทกีฬา ซึ่งออกแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย ซึ่งมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ และลายเส้นที่สวยงาม ยังได้รับความนิยม เป็นที่ต้องการ ของตลาด

มีการโพสต์ในโลกออนไลน์ ซื้อขายกันหลักหมื่นหลักแสน มากที่สุดตัวเลขขึ้นไปแตะที่ 300,000 บาท อีกด้วย

เรียกได้ว่าเชียงรายประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านของการบริหารจัดการ ให้การแข่งขันออกมาดี น่าสนใจ ได้รับความนิยม และผลงานของนักกีฬาทั่วประเทศ มีไฮไลต์มากมายเกิดขึ้น ทำให้เกมนี้มีความสำคัญกว่าเดิม

เป็นมาตรฐานใหม่ของกีฬาแห่งชาติไปแล้ว

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ส่วนตัวมีความสุขและพอใจกับการได้รับเกียรติจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 เป็นอย่างมาก แม้ช่วงการแข่งขันจะพบปัญหาบ้าง แต่เราก็พยายามแก้ไขเพื่อให้งานลุล่วง เกมนี้จึงเป็นเกมที่พวกเรา ซึ่งเตรียมตัวมาตั้งแต่ปี 2557 ภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก

จึงถือเป็นงานหนักของจังหวัดศรีสะเกษ ไม่น้อยเลย กับการจะเป็นเจ้าภาพในครั้งที่ 47 “ศรีสะเกษเกมส์” ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5-15 ธ.ค.2563

ยังดีหน่อยที่กว่าจะถึงเวลาจริงๆก็อีก 2 ปี ทำให้มีเวลาเตรียมตัวค่อนข้างมาก จะทำได้ดีหรือ ไม่ดี จะหาจุดขายอะไรมานำเสนอ เพื่อให้กีฬาระดับประเทศรายการนี้โดดเด่นโดนใจ

เป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดท้าทายของศรีสะเกษ...


กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง