หน้าแรกแกลเลอรี่

ยูธโอลิมปิก

เบี้ยหงาย

5 ก.ย. 2561 05:01 น.

ปีนี้ต้องถือว่ามีเกมใหญ่ๆในระดับนานาชาติแข่งกันหลายเกม ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลโลก หรือ เอเชียนเกมส์ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป และที่กำลังจะมาถึงก็ กีฬาเยาวชนโอลิมปิก หรือ ยูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 3 ซึ่งจะแข่งกันระหว่างวันที่ 6-18 ต.ค.นี้ ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

ยูธโอลิมปิกเกมส์นั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกีฬาเยาวชน จึงจำกัดอายุนักกีฬาอยู่ที่ 15-18 ปี แน่นอนในเรื่องของเกมการแข่งขันกีฬาก็ว่ากันไป แต่ยังมีมุมอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เกี่ยวทั้งแนวคิด และ แนวทางที่ออกจะต่างกว่าการแข่งขันกีฬาปกติ

และยูธโอลิมปิกครั้งนี้คงจะแตกต่างจากครั้งก่อน ด้วยนอกเหนือจากที่มีนักกีฬาไทยไปแข่งขัน ซึ่งผ่านรอบคัดเลือกได้สิทธิ์เข้าไปกว่า 60 คนแล้ว ไทยเรายังจัดทีมไปเสนอตัวเพื่อแย่งสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2026 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นยูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 5 ซึ่งจะเปิดรับสมัครให้เสนอตัวกันในการประชุมไอโอซี ช่วงระหว่างการแข่งขันที่นั่น ดูเหมือนจะเป็นวันที่ 8–9 ต.ค.

กีฬายูธโอลิมปิกนั้น ไม่ต้องมีการลงทุนมากมายมหาศาลเหมือนโอลิมปิกใหญ่ จำกัดจำนวนนักกีฬาอยู่ที่ราวๆ 3,500 คน ศักยภาพของประเทศไทยเรานั้นทำได้แน่ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการจัดได้ต้องได้จัด และก็ไม่ได้หมายถึงมีศักยภาพทางด้านการจัดเท่านั้นที่เป็นหัวใจ ด้วยยังมีปัจจัยอื่นๆในแนวคิดที่เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งต้องตอบโจทย์ของไอโอซีให้ได้เหนือกว่าเมืองคู่แข่งอื่นๆ

จริงๆแล้วประเทศไทยเราเคยเสนอตัวมาก่อน ตั้งแต่ยูธโอลิมปิกเกมส์ตั้งไข่กำลังทำคลอดกับการแข่งขันในครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.2010 หรือ พ.ศ.2553 ซึ่งสิงคโปร์ชนะเราได้จัดไป

ว่าไปแล้วการเสนอตัวในครั้งนั้น กับที่จะเสนอตัวในครั้งนี้ มีทั้งที่คล้ายกันและต่างกัน ไม่รู้จะเป็นเรื่องบังเอิญรึเปล่า!

โดยในการเสนอตัวครั้งแรกนั้นย้อนไปเมื่อปี 2550 เป็นสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ก่อนจะแปลงมาเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า และตอนนั้นมี ดร.สุวิทย์ ยอดมณี เป็น รมต.การท่องเที่ยวและกีฬา

ซึ่งหัวหน้าทีมที่เดินทางไปเสนอตัวเป็นเจ้าภาพที่เมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ ช่วง 18-19 ก.ย.2550 ได้แก่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้น พร้อมด้วย พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ เลขาธิการโอลิมปิกไทย และ ดร.ชัยยงค์ สัจจิพานนท์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเวลานั้น

ตอนนั้นโอลิมปิกไทยก็ดี แต่แรกยังไม่ค่อยจะเห็นด้วยจนระยะหลังจึงเข้ามาช่วยเต็มตัว ด้านไอโอซีเมมเบอร์ไทยสมัยนั้น ดร.ณัฐ อินทรปาน ก็ยืนอยู่ห่างๆ ด้วยรักษาภาพถึงการวางตัวเป็นกลาง

ครั้งนั้นมี 11 เมืองเสนอตัว ซึ่งไอโอซีตั้งคำถาม 15 ประเด็นให้ทำเอกสารตอบไม่เกิน 96 หน้า ประกอบด้วย แนวทางและจุดมุ่งหมาย, การเมือง เศรษฐกิจ และโครงสร้าง, กฎระเบียบและการยอมรับ, ศุลกากรและการเข้าเมือง, การเงิน, การตลาด, ชนิดกีฬาและสนามแข่งขัน, การศึกษาและวัฒนธรรม, หมู่บ้านนักกีฬา, การบริการทางการแพทย์ และการควบคุมสารกระตุ้น, การรักษาความปลอดภัย, โรงแรมที่พัก, การคมนาคมขนส่ง, เทคโนโลยีและการสื่อสาร ข้อสุดท้าย การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ก่อนจะมีการตัดสินด้วยการโหวตทางไปรษณีย์

กรุงเทพฯของเราผ่านรอบแรกเข้าไป 5 เมืองสุดท้าย ร่วมกับ มอสโก (รัสเซีย), สิงคโปร์, เอเธนส์ (กรีซ) และตูริน (อิตาลี) ก่อนถัดไปเลือกเหลือ 2 เมืองมอสโกกับสิงคโปร์ และในที่สุดสิงคโปร์ก็ได้ไป

การพิจารณาครั้งนี้ยังไม่รู้ว่ากฎเกณฑ์เป็นเช่นไร แต่แนวคิดไม่น่าต่างกันสุดขั้วจากเดิม น่าจะมีลักษณะของกิจกรรม ที่ไม่ใช่เฉพาะแต่กีฬา ยังรวมเอาถึงการศึกษา วัฒนธรรม และเทคโนโลยี เข้ามา สร้างการเชื่อมสัมพันธ์กับเยาวชนที่มาจากความแตกต่างในที่ต่างๆของโลกรวมอยู่ด้วย

ครั้งนี้เราเสนอตัวครั้งที่สอง เป็นช่วงรัฐบาลหลังการปฏิวัติรัฐประหารโดย คสช. เรามี ดร.ก้องศักด ยอดมณี เลือดเนื้อเชื้อไขของอดีต รมต.การท่องเที่ยวและกีฬา (ดร.สุวิทย์ ยอดมณี) เป็นผู้ว่าการ กกท. ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในทีมบิดแย่งเป็นเจ้าภาพ

ปัจจุบันนี้เราดูจะมีความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แตกต่างกว่าครั้งก่อนมากมาย ไล่ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยพูดคุยกับ โธมัส บาค ประธานไอโอซี รวมทั้ง รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่สวมหมวกทั้งประธานโอลิมปิก และประธานบอร์ดการกีฬา รวมทั้ง รมต.กีฬา วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ก็คุยด้วยเช่นกัน สื่อถึงการขอเสียงสนับสนุนในการจะเสนอตัวจัดเมื่อครั้งช่วงประชุมสปอร์ตแอคคอร์ดในไทย

ไม่เท่านั้น ไอโอซีเมมเบอร์ขณะนี้ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล พร้อมด้วยมือประสานหลัก ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน

โอกาสมีไม่น้อย แต่ต้องร่วมมือกัน ทำงานหนักและจริงจัง...

“เบี้ยหงาย”