ไทยรัฐออนไลน์
หากจะพูดถึงกีฬาเทควันโด ที่มีต้นตำรับมาจากแดนโสมขาว เกาหลีใต้ เชื่อว่าคนไทยทั่วไป ย่อมรู้จัก “โค้ชเช” เช ยอง ซอก ผู้ที่ปลุกปั้นจอมเตะของไทย ให้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับแนวหน้าของโลก แต่ใครจะรู้บ้างว่าเทควันโดไทย ยังมีโค้ชอีกหนึ่งคนที่มีความสามารถอยู่ในระดับแนวหน้า และเข้ามารับอาสาทำหน้าที่โค้ชในประเภทท่ารำ หรือ พุมเซ่ ให้ก้าวขึ้นมาเทียบเคียงกับชาติต้นตำรับในอนาคต
โดยในครั้งนี้ ทีมข่าวกีฬาไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับโค้ช "ลี นา ยอน" อดีตแชมป์โลกพุมเซ่ชาวเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย พร้อมเจาะลึกที่มาที่ไป รวมถึงเป้าหมายระยะใกล้ ในการตะลุยโจทย์คว้าเหรียญเอเชี่ยนเกมส์ให้ได้ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้
เรียนรู้จากไอดอล สู่แรงบันดาลใจในการไต่ฝัน
สำหรับโค้ชลี ได้เล่าย้อนกลับไปถึงเส้นทางของการเริ่มเล่นเทควันโดพุมเซ่ ด้วยสีหน้าเปื้อนรอยยิ้มว่า “มันเริ่มต้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว สมัยที่ยังเป็นนักกีฬา แน่นอนว่าในเกาหลีมีนักกีฬาเยอะมากที่เป็นแชมป์โลก แต่ฉันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองแตกต่างจากคนอื่น นั่นคือในเรื่องของภาษา เพราะภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญและช่วยเปิดโลกกว้าง นั่นทำให้ตัดสินใจไปที่อเมริกาเพื่อเริ่มเป็นโค้ชระดับสโมสร ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษา นอกเหนือจากการเป็นโค้ช”
“ฉันคิดว่าการเป็นนักกีฬา ไม่สามารถอยู่กับเราได้ตลอดชีวิต แต่ทักษะบางอย่าง เช่น เรื่องภาษาต่างหากจะอยู่กับเราตลอดไป และข้อได้เปรียบเหล่านี้เอง ที่ทำให้ได้ฉันรับเลือกเป็นโค้ชให้กับมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง ม.สแตนฟอร์ด และนี่คือสิ่งที่ตัวเองนำมาถ่ายทอดให้กับนักกีฬาด้วยว่า ถึงแม้คุณจะมีความสามารถเหมือนคนอื่น แต่จะทำอย่างไรให้ตัวเองเหนือหรือแตกต่างจากคนอื่น เพื่อคิดถึงอาชีพที่จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในวันข้างหน้า”
“นอกจากนี้ โปรแกรมการซ้อมก็ไม่เคยกำหนดเวลาที่ตายตัว แต่จะยึดเอาตามความสะดวกของนักกีฬาเป็นหลัก เพราะนักกีฬาส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียน ดังนั้นการเรียนต้องมาก่อนอย่างอื่นเสมอ”
และเมื่อถูกถามว่า ทำไมถึงเลือกมาสนใจเทควันโดในประเภทท่ารำ (พุมเซ่) ทั้งที่ในความเป็นจริงประเภทต่อสู้ได้รับความนิยมมากกว่า และน่าจะสร้างชื่อเสียงในวงกว้างได้มากกว่า ทำให้โค้ชสาวจากแดนกิมจิไขข้อข้องใจให้กับเราได้ทราบว่า
“ตอนแรกก็มีคนชวนเหมือนกันนะคะ แต่อาจารย์ (คัง อิก พิล ปรมาจารย์ด้านพุมเซ่ของเกาหลี) บอกว่า ถ้าเลือกเล่นในประเภทต่อสู้ อาจจะทำให้เราไม่ค่อยมีเวลาเรียนมากนัก เพราะต้องซ้อมหนักมาก แต่ถ้าเลือกเล่นพุมเซ่ ก็จะสามารถแบ่งเวลามาเรียนได้ เอาเวลาไปเรียนรู้อย่างอื่นเพิ่มเติมไม่ใช่เป็นแค่นักกีฬาอย่างเดียว ซึ่งฉันเชื่อคำแนะนำของอาจารย์ ก็เลยเลือกเดินทางมาสายนี้”
กับเป้าหมายครั้งใหม่ บนเส้นทางที่เลือกเองกับทีมชาติไทย
ด้วยชีวิตที่ชอบความท้าทาย และพบเจอกับสิ่งใหม่ๆ ทำให้โค้ชลี นา ยอน หวังที่จะทำงานในต่างประเทศมากกว่าบนแผ่นดินบ้านเกิด ซึ่งประจวบเหมาะกับที่สมาคมเทควันโดฯ กำลังมองหาโค้ชพุมเซ่ฝีมือดี เข้ามาสานต่อความสำเร็จของนักเทควันโดไทย
“ด้วยความที่ตัวเองเคยทำงานมาหลายประเทศ และส่วนตัวก็ไม่อยากกลับไปทำงานที่เกาหลี พอดีกับที่สมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย กำลังเปิดรับสมัครโค้ช ทำให้เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับเทควันโดในประเทศไทย และรู้ว่าที่นี่มีชื่อเสียงแค่ในประเภทต่อสู้ แต่พุมเซ่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงเกิดความอยากที่จะเข้ามาทำหน้านี้ เพื่อช่วยให้เทควันโดพุมเซ่ของไทยประสบความสำเร็จในอนาคต”
แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่าง ทำให้การเริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้งของโค้ชลี ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนเห็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อต้องพยายามปรับจูนความคิด ทัศนคติ รวมถึงเบสิกของนักกีฬาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สามารถเดินก้าวต่อไปในอนาคตได้อย่างถูกต้องและมั่นคง
“ครั้งแรกที่มาถึงเมืองไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2016 ซึ่งมีเวลาอีกเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น ก่อนถึงชิงแชมป์โลก และอีกวันหลังเดินทางถึงเมืองไทยก็ต้องทำการคัดตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ปวดหัวมาก เพราะนักกีฬาส่วนใหญ่รู้แค่กฎกติกา แต่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพื้นฐาน ขั้นตอนการออกทวงท่าที่ดี และมีประสิทธิภาพสำหรับการไปสู่ชัยชนะ”
“ในเดือนแรกยังไม่ได้สอนท่ารำ แต่ต้องรื้อเบสิกใหม่หมด นักกีฬาบางคนสงสัยว่าทำไมถึงต้องมาเริ่มฝึกเบสิกกันใหม่ ทำให้ต้องมานั่งปรับความเข้าใจกับทุกคนว่า ถ้าคุณอยากให้ชนะหรือคว้าแชมป์ให้ได้ ก็ต้องมีเบสิกที่ดีก่อน ไม่งั้นก็ไม่มีทางทำสำเร็จ”
จุดเริ่มต้นที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
หลังจากการปรับจูนความคิด และทัศนคติให้ตรงกันอยู่พักใหญ่ ในที่สุดนักกีฬาพุมเซ่ของไทย ก็พุ่งชนกับความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย, เทควันโดพุมเซ่ชายหาดชิงแชมป์โลกที่กรีซ รวมถึงในศึกเจจู โคเรีย โอเพ่น ครั้งล่าสุดด้วย
โดย “โค้ชลี” ได้เผยถึงพัฒนาการของลูกทีม ตลอดระยะเวลาราว 2 ปีที่ผ่านมาว่า “ตอนนี้นักกีฬาก็ทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่แล้ว แต่ว่าโดยส่วนตัวต้องการที่จะพัฒนา หรือตั้งเป้าหมายเอาไว้ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ระดับเยาวชนไปจนถึงชุดใหญ่ เพื่อให้มาตรฐานของเทควันโดพุมเซ่ในประเทศไทย สูงขึ้นไปเรื่อยๆ”
“ถ้าจะให้เปรียบเทียบความแตกต่างกับนักกีฬาไทยกับเกาหลี ในเรื่องสรีระไม่ต่างกันมากนัก แต่ถ้าเทียบกับนักกีฬาในทวีปยุโรปหรืออเมริกา ที่ตัวใหญ่และแข็งแรงมากกว่า ทำให้ต้องกลับมาคิดว่าการเคลื่อนไหวแบบไหน ที่จะเหมาะกับนักกีฬาไทย และเอาชนะต่างชาติเหล่านั้นได้ นั่นคือในเรื่องของความเร็ว การออกหมัด การชก ซึ่งจะทำให้สามารถสู้กับประเทศอื่นๆ ได้”
นอกจากนี้ โค้ชสาวชาวเกาหลีใต้ยังเผยแบบไม่มีเม้มว่า นอกจากเป้าหมายในการพานักกีฬาไทยไปล้มต้นตำรับให้ได้แล้ว ยังหวังที่จะเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขยายฐานความนิยมของเทควันโดพุมเซ่ ให้มีการแข่งขันในระดับสากลมากขึ้นกว่าเดิมด้วย
“โดยส่วนตัวรู้สึกตื่นเต้น และตั้งใจจะมาเป็นโค้ชในระดับชาติอยู่แล้ว เพื่อหวังที่จะพาชาติอื่นเอาชนะเกาหลีใต้ให้ได้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในระดับโลก พบว่าเทควันโดประเภทต่อสู้มีโค้ชเกาหลีอยู่เยอะมาก แต่พุมเซ่กลับเพิ่งเริ่มต้นเริ่มต้น ทำให้อยากที่จะไปถ่ายทอดความรู้แก่ชาติอื่น เพื่อให้สามารถคว้าชัยชนะ และยกระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น ไม่เช่นนั้นพุมเซ่จะไม่ถูกบรรจุในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ อย่าง เอเชี่ยนเกมส์ หรือ โอลิมปิกเกมส์ ถ้านักกีฬาเกาหลีใต้ยังคว้าเหรียญอยู่ชาติเดียว”
มองให้ไกลและไปให้ถึง
สุดท้ายก่อนลาจาก โค้ชลี นา ยอน ได้เผยถึงเป้าหมายที่หวังเอาไว้ในเอเชี่ยนเกมส์ 2018 และเป้าหมายในระยะยาวกับทีมชาติไทยว่า “ในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ ที่มีการบรรจุพุมเซ่เข้าแข่งขันครังแรก คงไม่ใช่แค่ไทยชาติเดียวที่หวังเหรียญทอง ทุกประเทศก็หวังเหมือนกันใน 4 ดิวิชั่น 4 เหรียญทอง แต่โดยส่วนตัวก็หวังว่าจะทำทีมไทยคว้าเหรียญทองให้ได้เช่นกัน ซึ่งถึงแม้จะรู้สึกเครียดมาก แต่ถ้านักกีฬามีความตั้งใจเต็มที่ในการฝึกซ้อมแล้ว เชื่อว่าน่าจะทำได้แน่”
“ที่ผ่านมาเคยพูดกับนักกีฬาเสมอว่า อยากที่จะสร้างนักกีฬาไทยให้แข็งแกร่งขึ้น เหมือนสมัยก่อนที่พูดถึงเกาหลีทุกคนจะต้องกลัว แต่ต่อไปถ้าในวงการเทควันโดโลกได้ยินชื่อประเทศไทย ก็ต้องกลัวเหมือนกัน ตอนนี้ถือว่าทำได้สำเร็จตามเป้ามาครึ่งทางแล้ว ส่วนเป้าหมายอย่างที่สองคือ การทำให้เทควันโดพุมเซ่ เป็นที่รู้จักมากขึ้นสำหรับคนไทย และอยากเป็นหนึ่งทางเลือก ที่ให้เยาวชนไทย เข้ามาร่วมแข่งขันมากขึ้นในอนาคต”
ขอขอบคุณ
- ชนาธิป ซ้อนขำ / พัฒนศิลป์ มูซอ (ล่าม)
- ภาพบางส่วนจาก สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย