หน้าแรกแกลเลอรี่

ปิ๊งไอเดีย! ปลัดก.กีฬา เสนอสร้างสนามกีฬาภาคละ 1 แห่งทั่วประเทศ

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

23 ม.ค. 2561 15:30 น.

"พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์" ปลัดกระทรวงกีฬา ตั้งเป้าจะให้มีสนามกีฬาที่มีมาตรฐานทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค ภาคละ 1 แห่ง ขณะที่กรมพลศึกษาวางแผนปีนี้ จะส่งมอบสนามกีฬาอำเภอและตำบลอีก 56 แห่ง เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยใช้ประโยชน์ร่วมกัน...

วันที่ 23 ม.ค.61 นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมพลศึกษา พบว่าโครงการก่อสร้างสนามกีฬาอำเภอและตำบล ระยะเวลา 5 ปี (2555-2559) มีพื้นที่เป้าหมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวนรวมทั้งโครงการ 182 แห่ง ก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 135 แห่ง โดยในปี 2561 กรมพลศึกษามีแผนการดำเนินงานเพื่อส่งมอบสนามกีฬา จำนวน 56 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป

“ผมอยากให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงกีฬา รักการออกกำลังกาย และจะยกระดับสนามกีฬาทั่วทุกภูมิภาคให้มีมาตรฐาน อาทิ การสร้างลู่วิ่งยางพารา การติดตั้งระบบไฟส่องสว่างสนามกีฬา พร้อมทั้งสร้างระบบการบริหารจัดการสนามกีฬาให้เกิดความคุ้มค่า ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการเล่นออกกำลังกาย มีการฝึกซ้อม แข่งขันกีฬาอย่างต่อเนื่องจนเป็นวิถีชีวิต โดยตั้งเป้าว่าจะให้มีสนามกีฬาที่มีมาตรฐานทั่วประเทศทั้ง 4 ภาคภาคละ 1 แห่ง ทั้งนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อคัดเลือกและกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกต่อไป” นายพงษ์ภาณุกล่าว

นายปัญญา หาญลำยวง อธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงในการเร่งส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากิจกรรมการกีฬา เป็นสิ่งที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายลงสู่การปฏิบัติการส่งมอบสนามกีฬาแก่อำเภอและตำบล เป็นการส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีที่ออกกำลังกาย เป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายในโอกาสต่างๆให้แก่ประชาชนในสถานที่ที่ได้มาตรฐาน รวมถึงสามารถรองรับมหกรรมกีฬาระดับต่างๆได้อีกด้วย

โดยได้กำหนด 5 มาตรการหลักในการดำเนินการ ดังนี้ 1.เร่งรัดการส่งมอบสนามกีฬา อำเภอ และตำบลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเร็ว

2.ส่งเสริมกิจกรรมทางการออกกำลังกาย ฝึกซ้อมและแข่งขันกีฬา รวมทั้งการพัฒนาสนามกีฬาให้มีมาตรฐานมากขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนในพื้นที่ท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการมีสนามกีฬา

3.สร้างเครือข่ายและการบูรณาการงานส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพของประชาชนร่วมกับหน่วยงานอื่น ได้แก่ หน่วยงานภายในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชน เป็นต้น

4.สร้างเกณฑ์มาตรฐานและองค์ความรู้ในการบริหารจัดการกีฬาที่จะพัฒนาและยกระดับให้มีบทบาทและมีความสำคัญในการดูแลสุขภาพมวลชนในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ 

5.จัดตั้งศูนย์กีฬาประจำภูมิภาคใน 4 ภาคของประเทศ โดยพิจารณาจากพื้นที่ใดได้ผ่านหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการที่มีความเหมาะสมเป็นอย่างดีแล้ว