ไทยรัฐฉบับพิมพ์
ทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย คว้ารวม 68 เหรียญทอง 72 เหรียญเงิน 92 เหรียญทองแดง จบอันดับ 3 ในมหกรรม กีฬาอาเซียน พาราเกมส์ ครั้งที่ 9 ขณะที่อินโดนีเซีย คว้าแชมป์ เป็นเจ้าเหรียญทองสมัยที่ 2 ทำได้ 126 เหรียญทอง 75 เหรียญเงิน 50 เหรียญทองแดง ส่วนเจ้าภาพมาเลเซีย รั้งอันดับ 2 คว้า 90 เหรียญทอง 85 เหรียญเงิน 84 เหรียญทองแดง “บิ๊กเสือ” สกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการ กกท. แนะควรให้โอกาสนักกีฬาหน้าใหม่ก้าวขึ้นมาเสริมทัพให้มากขึ้น
การแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งอาเซียน ครั้งที่ 9 “อาเซียน พาราเกมส์ 2017” ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ปิดฉากลงแล้ว เมื่อวันที่ 23 ก.ย. โดยพิธีปิดการแข่งขันที่สนามกีฬาแห่งชาติบูกิต จาลิล มี ดร.อาห์หมัด ซาฮิด ฮามีดิดาน รองนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศมาเลเซีย เป็นประธาน เจ้าภาพมาเลเซียจัดการแสดงส่งท้ายในวีดิโอชุด “หัวใจแห่งพาราเกมส์” และการแสดงชุด “ซามา ซามา” ซึ่งสื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ตามด้วยพิธีส่งมอบธงประจำการแข่งขันต่อให้ มิเชล บาร์เรโด ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งฟิลิปปินส์ และอาร์โนลด์ อูกุสติน รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาแห่งฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไปในปี 2019
ส่วนการแข่งขันวันสุดท้ายชิง 19 เหรียญทอง ไฮไลต์นักกีฬาไทยอยู่ที่เทเบิลเทนนิส รอบชิงชนะเลิศ ประเภทชายเดี่ยว คลาสที 6-7 “รุ่ง” รุ่งโรจน์ ไทยนิยม แชมป์พาราลิมปิกเกมส์ 2012 พบ “เนะ” เฉลิมพงษ์ พันภู่ ซึ่งเป็นการชิงกันสมัยที่ 2 ติดกัน ปรากฏว่า รุ่งโรจน์ แซงชนะ 3-1 เกม 9-11, 11-4, 11-7, 11-8 ป้องกันแชมป์สมัยที่ 8 ติดกัน และคว้าเหรียญทองที่ 2 ต่อจากประเภททีม โดยรุ่งโรจน์ กล่าวว่า พอใจผลงานที่คว้าได้ครบ 2 เหรียญทอง หลังจากนี้มีเวลาวางแผนเตรียมทีม 10 เดือนก่อนเข้าร่วมเอเชียนพาราเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในปีหน้า และต้องเจอกับมือท็อป 10 ของโลก ทั้งจีน, เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งเราก็จะปิดจุดอ่อน และแก้ไขข้อบกพร่องตัวเองเพื่อให้พร้อมมากที่สุด
นอกจากนี้ นักเทเบิลเทนนิสไทยยังคว้าอีก 3 เหรียญทองจากชายเดี่ยว คลาสที 3 ยุทธจักร กลิ่น–บานชื่น, ชายเดี่ยว คลาสที 4 วันชัย ชัยวุฒิ, หญิงเดี่ยว คลาสที 1-3 ดารารัตน์ อาสายุทธ รวมทั้งทีมโกลบอลไทยยังคว้าอีก 1 เหรียญทองส่งท้ายจากทีมหญิงไทยลงแข่งรอบชิงชนะเลิศ ชนะลาว 5-0 ส่วนทีมชายไทย แพ้มาเลเซีย 5-9 คว้าเพียงเงิน
สรุปผลงานนักกีฬาไทยคว้ารวม 68 เหรียญทอง 72 เหรียญเงิน 92 เหรียญทองแดง ดังนี้ (ทอง-เงิน-ทองแดง) กรีฑา (26-33-31), เทเบิลเทนนิส (9-11-10), ว่ายน้ำ (7-11-22), บอคเซีย (7-2-2), ยกน้ำหนัก (6-4-4), โบว์ลิ่ง (3-2-6), ยิงธนู (3-0-2), แบดมินตัน (2-5-11), วีลแชร์บาสเกตบอล (2-0-0), วีลแชร์เทนนิส (1-2-3), โกลบอล (1-1-0), ฟุตบอล 5 คน (1-0-0), ฟุตบอล 7 คน (0-1-0) และวอลเลย์บอลนั่ง (0-0-1)
สรุปตารางเหรียญไทยคว้า 68 เหรียญทอง 72 เหรียญเงิน 92 เหรียญทองแดง ได้อันดับ 3 ไม่สามารถป้องกันเจ้าเหรียญทองได้ โดยอินโดนีเซียคว้าแชมป์เป็นเจ้าเหรียญทองสมัยที่ 2 ทำได้ 126 เหรียญทอง 75 เหรียญเงิน 50 เหรียญทองแดง ขณะเจ้าภาพมาเลเซียรั้งอันดับ 2 คว้า 90 เหรียญทอง 85 เหรียญเงิน 84 เหรียญทองแดง ส่วนอันดับอื่น (เรียงตามลำดับเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง) ดังนี้ อันดับ 4 เวียดนาม 40-61-60, อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ 20-20-29, อันดับ 6 เมียนมา 11-15-17, อันดับ 7 สิงคโปร์ 10-18-24, อันดับ 8 บรูไน 2-6-6, อันดับ 9 ติมอร์ เลสเต 2-0-1, อันดับ 10 กัมพูชา 0-5-5 และอันดับ 11 ลาว (0-4-4)
“บิ๊กเสือ” นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า อินโดนีเซียและมาเลเซียเตรียมตัวดี ส่วนไทยก็เตรียมตัวดีเช่นกัน แต่กีฬาย่อมมีแพ้ชนะ และเราต้องยอมรับว่าสู้ไม่ได้ ซึ่งก็ไม่เป็นไร แต่เราต้องกลับไปพิจารณาตัวเอง ประเมินจุดอ่อนและแก้ไขผลงานที่ยังไม่ดี พร้อมสร้างและให้โอกาสนักกีฬาหน้าใหม่ โดยจะต้องวางแผนเฟ้นหาหน้าใหม่เสริมทัพ และฝึกฝนให้ทดแทนหน้าเก่าให้ได้ รวมทั้งการเปรียบเทียบเชิงลึกของแต่ละสมาคมกีฬาคนพิการต้องลึกซึ้งกว่านี้
“บิ๊กนิดหน่อย” นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ไทยจะไม่สามารถรักษาเจ้าเหรียญทองไว้ได้ แต่เป้าหมายจริง ๆ แล้วอยู่ที่พาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ครั้งนี้ได้ส่งนักกีฬาหน้าใหม่ 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อต่อยอดพัฒนาสร้างคลื่นลูกใหม่ตามนโยบาย ซึ่งทุกคนทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว และทุกคนตั้งใจและพัฒนาขึ้นมาดีมาก จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดี.