แม่ลูกจันทร์
แม้ว่าศึกฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2021 ที่ลิทัวเนีย จะจบไปหลายสัปดาห์แล้ว
แต่พี่หมอไพศาล จันทรพิทักษ์ ยังคงมีควันหลงบางแง่บางมุม เก็บมาเล่าสู่กันฟังกันอีกตอน เป็นตอนสุดท้าย
ส่วนจะเป็นเรื่องไหน? อย่างไร? ลองไปอ่านกันดูครับ
ผมได้มีโอกาสเล่าเรื่องลึกๆ เกี่ยวกับการที่ได้มาอยู่ใกล้ชิดกับทีมฟุตซอลทีมชาติไทยที่มาแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก ที่ลิทัวเนีย 2021 ในฐานะแพทย์ประจำทีม รวมทั้งได้แสดงความคิดเห็นในบางเรื่องไปบ้าง
ถือว่าเป็นมุมมองของผู้ที่อยู่ในแวดวงกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลมานานมากกว่า 40 ปี และที่สำคัญคือมีความรักและความหวังดีกับวงการฟุตบอลมาโดยตลอด ดังนั้นความคิดเห็นต่างๆ จึงเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ นะครับ ผมจึงขอกล่าวโดยสรุปความคิดเห็นรวมๆ ในตอนสุดท้ายนี้ ดังนี้นะครับ
1.มาตรฐานการเล่นของทีมฟุตซอลทีมชาติไทยดีขึ้นหรือแย่ลง?? ทีมฟุตซอลทีมชาติไทย ภายใต้การฝึกสอนและฝึกซ้อมโดยโค้ชคนไทย (โค้ชหมี-รักษ์พล สายเนตรงาม) ที่เข้ามาทำหน้าที่เต็มตัว ในช่วงที่โค้ชต่างชาติท่านเดิมตัดสินใจเลิกคุมทีมต่อ
และผลงานโดยรวมอย่างที่ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้ว ว่า Ranking การจัดอันดับล่าสุดที่ฟีฟ่าประกาศออกมาว่าไทยเราอยู่ที่อันดับเดิม (ที่ 18) และยังคงเป็นที่ 3 ของเอเชีย ก็ต้องถือว่าทั้งโค้ชที่เป็นคนไทย และภายใต้การสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก คุณป๋อม อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ อุปนายกและประธานฝ่ายพัฒนาฟุตซอล ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คุณสุทิน บัวตูม ผู้จัดการทีมฯ และทางสมาคมฯ ที่ได้ส่งอุปนายก คุณ ลัคนนนันท์ ไปเสริมทีมในช่วงแข่งขันด้วย
ทำให้ทั้งการเตรียมทีมและความพยายามที่จัดหารางวัลที่เป็นรูปธรรมมาช่วยให้เป็นขวัญกำลังใจของนักฟุตซอลทุกคนเป็นอย่างดี ถือว่าทีมฟุตซอลทีมชาติไทย ได้รักษามาตรฐานของทีมฟุตซอลชาติไทยเอาไว้ได้ คือการผ่านเข้ามาถึงรอบ 16 ทีมอีกครั้งหนึ่ง
2.เราจะทำให้มาตรฐานของทีมฟุตซอลทีมชาติไทยให้ดีมากขึ้นจากที่เป็นอยู่ได้อย่างไร ? ผมขออนุญาตตอบเช่นเดียวกับที่ผมเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับทีมฟุตบอลทีมชาติไทยว่าไทยเราจะได้ไปแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อใด?
ผมขอให้ดูความเป็นรูปธรรมจากตัวนักฟุตบอล ที่ปัจจุบันนักฟุตบอลของทุกประเทศเปรียบเสมือนสินค้าระดับนานาชาติ (Global Products) ซึ่งหากเป็นสินค้าชั้นดีจริง ก็จะถูกกว้านซื้อให้ไปเล่นในลีกที่มีมาตรฐานสูงของโลก เช่น ลีกในประเทศอังกฤษ (English Premier League) เยอรมนี, อิตาลี, ฝรั่งเศส, เบลเยียม ฯลฯ
ซึ่งท่านสามารถเข้าไป search ดูในกูเกิล (ใช้คำว่า Football players playing aboard) ว่าประเทศไทยของเรา เมื่อเปรียบเทียบกับ ญี่ปุ่น เกาหลี ท่านจะเห็นว่าทั้งสองประเทศนี้มีนักฟุตบอลไปเล่นในลึกสูงๆ ของโลกในยุโรป เป็นร้อยๆ คน
ดังนั้นมาตรฐานของผู้เล่นทีมชาติญี่ปุ่นและเกาหลี จึงเป็นมาตรฐานยุโรป เพราะเขาเหล่านั้นไปเล่นฟุตบอลอาชีพอยู่ในยุโรปตลอดปี เมื่อถูกเรียกตัวมาเล่นทีมชาติ ด้วยระยะเวลาสั้นๆ ในการเตรียมทีม ทีมของเขาก็ยังประสบความสำเร็จได้ เมื่อมาแข่งขันกับทีมในทวีปเอเชียเพื่อชิงโควตาเข้าไปแข่งขันในฟุตบอลโลก
และเมื่อเรามาดูนักฟุตบอลไทยที่ไปเล่นในลีกระดับสูงของโลกยังมีจำนวนจำกัด มาตรฐานโดยรวมของทีมก็ต้องน้อยกว่าเป็นธรรมดา
ในทำนองเดียวกันกับทีมฟุตซอลทีมชาติไทย เราก็ต้องพัฒนาลีกอาชีพภายในประเทศของเราให้มีมาตรฐานความเก่ง ความแกร่ง ความบึกบึน ให้สูงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้เล่นของไทยเราเป็นที่หมายปองของแมวมองจากยุโรป แล้วมาว่าจ้างนักฟุตบอล/นักฟุตซอลของไทยเราไปเล่นในยุโรปให้มากยิ่งๆขึ้น
3.เนื่องจากเป็นมาตรฐานโดยรวมของทั้งประเทศ ที่ต้องถูกยกระดับให้สูงขึ้น ที่ผู้เล่นที่จะถูกคัดเลือกจากทุกสโมสรในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อมาเป็นทีมชาติไทย ดังนั้นต้องเป็นหน้าที่ของทุกๆท่านที่เกี่ยวข้องในแวดวงฟุตบอล/ฟุตซอล ต้องมาร่วมมือกันทำให้มาตรฐานโดยรวมดีขึ้นให้ได้มากกว่านี้
4. สิ่งที่เป็นข้อเสนอของผมเองในฐานะฝ่ายแพทย์ และอาจในแง่มุมของวิทยาศาสตร์การกีฬา(Sports Science) ที่ทางฟีฟ่าได้บัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาว่า Football Medicine ซึ่งผมใช้ภาษาไทยว่าเวชศาสตร์ฟุตบอล
ผมขอเสนอให้Fitness Coach หรือ Trainer ได้เพิ่มเติมโปรแกรมที่จะทำให้ทุกมิติของFitness ไม่ว่าจะเป็น Aerobic Fitness ทำให้ไม่เหนื่อยเร็ว บึกบึน มีความอึดมากขึ้น หรือ Musculoskeletal Fitness ทำให้มีมวลกล้ามเนื้อที่แข็งแรง มีขนาดให้ใหญ่มากขึ้น เพื่อความบึกบึนและไม่เสียเปรียบเวลามีการปะทะกัน
หรือมี Agility ความคล่องแคล่ว คล่องตัวที่มากขึ้น แม้นว่าเราจะมีรูปร่างเล็กกว่าก็ตาม หรือมีความหนักหน่วงเวลายิงประตู ซึ่งในเกมการแข่งขันฟุตซอล มีความสำคัญมาก จากการสังเกตความแรงในการยิงประตูของทีมยุโรป เห็นว่ามีความแรงมากกว่าทีมอื่นๆ จึงเห็นว่าน่าจะมีช่องทางในการปรับปรุงให้ดีขึ้น
และที่สำคัญอีกประมาณหนึ่งคือการฝึกซ้อมที่เป็นการป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นฟุตซอล ซึ่งมีการใช้ความแข็งแรงของเข่าค่อนข้างมากกว่าฟุตบอล และพบว่านักฟุตซอลมีสถิติการบาดเจ็บเข้าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าฟุตบอล จึงสมควรที่จะมีมาตรการการวอร์มอัพหรือการฝึกซ้อมเป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันเข่าบาดเจ็บให้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ผมขอจบข้อเขียนอินไซด์ฟุตซอลเวิลด์คัพ ลิทัวเนีย 2021 ไว้แต่เพียงเท่านี้นะครับ สวัสดีครับ.
นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์
ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ
แพทย์ประจำทีม และ Medical Liaison Officer ประจำทีมฟุตซอลไทย
ในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกของฟีฟ่า ที่ประเทศลิทัวเนีย
- บี บางปะกง -