เบี้ยหงาย
จำได้ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นรัฐบาลชุดนี้ จะถูกใจกับตัวบุคคลกันมากน้อยแค่ไหนก็ไม่ทราบ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ “มีความหวัง” และวงการกีฬาก็เช่นกัน
จะเป็นหวังด้วยความเป็นปกติของ “การเปลี่ยนแปลง” ที่โหยหาของใหม่ และเบื่อของเก่า ที่ปกคลุมด้วยสีเขียวมายาวนาน ซึ่งฝังรากแตกหน่อไว้เยอะแยะในกลไกต่างๆ หรือหวังด้วยความคิด ความรู้สึก ภาพจำเดิม ในเครดิตของพรรคเพื่อไทยก็ตาม
กีฬาเรานั้นก็ตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคแกนนำ “เพื่อไทย”
นายกรัฐมนตรีที่ชื่อเศรษฐา ทวีสิน ก็มีภาพติดตัวที่บวกยิ่งกับเรื่องกีฬา
ทีมงานแม้จะนำโดย รมต.ใหม่เอี่ยม แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหา และแถมจะมีความสดใหม่ คาดหวังใหม่ ด้านคณะทำงานที่มีการแต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ก็มีคนกีฬาไม่น้อย
จึงเป็นเรื่องคิดบวกได้ไม่ยาก
จำได้อีกเช่นกันว่าตั้งแต่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ยังเป็นแคนดิเดตนายกฯช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เคยแสดงความเป็นห่วงไม่อยากให้มีการเลื่อนหรือยกเลิกการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ยกเหตุผลมากมาย ซึ่งตอนนั้นกำลังจะจัดในช่วงเดือน พ.ย.2566
สุดท้ายพอมาเป็นรัฐบาลเรียบร้อยก็ทำอะไรไม่ได้ เลื่อนจาก พ.ย.2566 ไปเป็น 24 ก.พ.2567 โดยคณะรัฐมนตรีรับทราบอย่างเป็นทางการ เมื่อ 24 ต.ค.2566 แถมวันนั้น ครม.ยังมีมติเห็นชอบในหลักการและกรอบวงเงินในการจัดออกมาด้วย
แต่ท้ายสุดถึงตอนนี้ ไอ้ที่จะจัดในวันที่ 24 ก.พ.ปีหน้า ก็ต้องเลื่อนออกไปอีกเป็นปลายปี
แม้ว่าเหตุผลที่ยกมาอ้างอิงส่วนหนึ่งจะมาจากโอซีเอ เจ้าของเกมห่วง แต่ก็มีประเด็นภายในของเราเองด้วยเช่นกัน ยังสะท้อนได้ว่า คิดได้ พูดได้ ใช่จะต้องเป็นไปตามนั้น!
ขณะที่นโยบาย 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ ที่ประกาศตั้งแต่หาเสียงเช่นกัน มีการตั้งคณะกรรมการ วางหลักเกณฑ์แล้ว แต่ยังไม่มีอะไรออกมา แถมน่าสนใจกับตัววางในบางจุด ต้องรอดูว่าในที่สุดจะจับคู่อย่างไร สมาคมใดจะได้จับกับรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆบ้าง มีเครือข่ายของใครหรือไม่
มาถึงนโยบายชวนฝัน มวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ กว้างกว่าเดิม ไม่แค่มุ่งโอลิมปิกเหมือนเก่า ดีน่ะดีแน่ แต่หลายส่วนก็ยังงงๆ ถึงแนวทางที่จะออกมา ก่อนจะถึงผลที่ปลายฝัน ต้นทางและระหว่างทางจะเกิดประโยชน์กับคนมวยมากน้อยแค่ไหน และครอบคลุมไปทั่วหรือไม่
วันก่อนก็มีการขยับออกมาย้ำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ด้านกีฬามุ่งที่ “มวยไทย” เป็นหลัก ด้วยมีพ่วงคำว่า “ไทย” ต่อท้าย ชัดเจนดี แถมมีการแจงถึงการไปได้ข้อมูลที่น่าตื่นตาตื่นใจของมวยไทยในต่างแดนทั้งค่ายมวยที่มีมากมาย กระแสตอบรับดี และมีนักมวยดังไปเป็นครูมวย วางแผนไปปักหมุดที่ยุโรป และอเมริกาก่อน
ก็ต้องนึกย้อนข้อมูลพื้นๆลักษณะนี้ผ่านมาเป็นสิบๆปีก็ยังเหมือนเดิม เรื่องอย่างนี้กรรมาธิการกีฬา ทั้ง สส. สว. ในอดีต หาเหตุทำมาแทบจะทุกคณะ ข้อมูลแนวเดียวกันต่างแค่ตัวเลข จำนวน ตามแต่ละเวลา
จริงๆก็ต้องถือว่ามวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์อยู่แล้ว เพิ่งมาพูดให้เท่ คงเป็นการเพิ่มให้ซึมแน่น ลึกและกว้างขึ้น
มวยไทยนั้นฝังรากอยู่ในต่างแดนมานาน ทั้งธุรกิจค่ายมวย อีเวนต์ เครือข่ายเส้นทางทำมาหากิน รวมถึงเนื้อหา วิชาการ จัดหลักสูตรให้เรียน ทั้งเป็นคอร์สฝึกให้เจ้าหน้าที่รัฐ ก็มีอยู่ในหลายประเทศ และมีมาก่อนแล้ว
กฎ กติกา รูปแบบ และการตัดสินที่ชัดเจนในมาตรฐานเดียวกันยังจำเป็นหรือไม่ในยุคนี้
แต่ละยุคสมัยใกล้ใคร คุยกับใคร ก็เอ่ยอ้างถึงมวยกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ ซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีเครือข่าย และผลประโยชน์ในทางของตน
และจงอย่ามุ่งไปที่มวยไทยในต่างแดนจนหลงลืมมวยไทยในประเทศอันเป็นฐานที่มั่น เป็นต้นกำเนิด มีมิติของวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ซึ่งยังมากด้วยปัญหา ทั้งต้องดิ้นรนต่อสู้ไม่ให้กลายพันธุ์เป็นมวยในรูปแบบใหม่ ในกลิ่นอายของเกมโชว์ อันเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ส่งผลต่อคนมวยในวงแคบ
เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ฐานรากที่ก่อกำเนิดมาก็ต้องอยู่รอด ได้ประโยชน์ด้วย ไม่งั้นก็ไร้ค่า
กลไกรัฐ งบประมาณรัฐที่ผ่านมากระจุกตัวอยู่กับมวยกลุ่มไหน ต้องมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกันหรือไม่ จึงจะได้รับการแบ่งปันสนับสนุน ทำไมคนมวยในทุกแขนงถึงยังเดือดร้อนกันไปทั่ว
ได้คุยกับคนมวยทุกกลุ่มบ้างหรือยัง เข้าหา เรียนรู้ให้กว้างที่สุด เพื่อให้เข้าใจจริงๆเสียก่อนไหม ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ
ความน่าเชื่อถือ ทำเป็น ทำได้ ในอดีตเป็นแต้มบวกที่พรรคเพื่อไทยมีต้นทุนในส่วนนี้
อย่าให้ผู้คนต้องรู้สึก “เอ๊ะ” ทำเป็นจริงๆ
รึเปล่า หรือ “เอ๊ะ” ทำได้แค่นี้เหรอ
เดี๋ยวจะกลายเป็น “เอ๊ะ” ท่าดีทีเหลวเสีย
แล้วมั้ง...
“เบี้ยหงาย”