หน้าแรกแกลเลอรี่

เขมรตรงไหนเอาปากกามาวง เปิดประวัติ “นายขนมต้ม” ยอดมวยไทยที่อยู่ในพงศาวดาร “ไทย-พม่า”

ไทยรัฐออนไลน์

28 ม.ค. 2566 12:29 น.

เปิดประวัติ “นายขนมต้ม” ยอดมวยไทย ที่ใช้ความสามารถในเชิงหมัดมวยชนะใจกษัตริย์พม่า และมีชื่อปรากฏในพงศาวดารของ “ไทย-พม่า”

วันที่ 28 ม.ค. 66 หลังจากชาวเน็ตกัมพูชาบางส่วนบุกไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของเพจ WBC MuayThai หรือว่าเพจของสภามวยไทยโลก ที่โพสต์รูปเข็มขัดอย่างเป็นทางการของสภามวยไทยโลก พร้อมกับแคปชั่นว่า “ขอแสดงความเคารพนายขนมต้ม” โดยชาวเน็ตกัมพูชาอ้างว่า “นายขนมต้มคือคนเขมรไม่ใช่คนไทย”

ไทยรัฐสปอร์ต จึงได้รวบรวมประวัติของขนมต้ม ยอดนักมวยในตำนาน ที่ใช้มวยไทยชนะใจพระเจ้ามังระแห่งพม่า ซึ่งปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและพระราชพงศาวดารพม่า รวมถึงในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน

นายขนมต้ม เกิดวันอังคาร เดือนยี่ ปีมะเมีย พ.ศ.2293 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่บ้านกุ่ม (ปัจจุบันคือ ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) บิดาชื่อ นายเกิด มารดาชื่อ นางอี่ ตามประวัติระบุว่า นายขนมต้ม มีพี่มีสาวที่ชื่อเอื้อย แต่ว่าเสียชีวิตเมื่อยังเด็ก เมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ ต้องมาอาศัยอยู่วัด เพราะพ่อแม่ถูกพม่าฆ่าจนเสียชีวิตทั้งคู่ มีเพียงแต่ นายขนมต้ม คนเดียวที่รอดชีวิตมาได้จากการถูกจับเป็นเชลยในระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อเริ่มแตกหนุ่มได้เริ่มฝึกวิชามวยไทยจนมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ และในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ กรุงศรีอยุธยาต้องเสียกรุงแก่พม่า นายขนมต้ม จึงถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่า และได้อาศัยความสามารถในเชิงหมัดมวย สร้างชื่อเสียงให้กับกรุงศรีอยุธยาและชาติไทย ดังพงศาวดารบันทึกข้อความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อพระเจ้ามังระ (กษัตริย์ยอดนักรบของพม่า) โปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ.2317 พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า "นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก" พระเจ้ามังระจึงตรัสสั่งให้เอาตัว นายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับ นายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่า นายขนมต้มชกกับพม่าไม่ทันถึงยกก็ชนะถึงเก้าคนสิบคน พระเจ้ามังระทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระ ตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า “คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้”

หลังจากนายขนมต้มได้เอาชนะนักมวยพม่าแล้ว พระเจ้ามังระได้ปูนบำเหน็จแก่นายขนมต้ม โดยแต่งตั้งเป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะ แต่นายขนมต้มกลับปฏิเสธ และขอให้พระเจ้ามังระปลดปล่อยตนและเชลยคนไทยทั้งหมดให้เป็นอิสระเพื่อกลับบ้านเกิด พระเจ้ามังระก็ยอมทำตามความประสงค์ ในที่สุดนายขนมต้มและเหล่าเชลยคนไทยก็ได้รับอิสรภาพและกลับไปยังบ้านเกิดก็คือแผ่นดินไทยที่มีกรุงธนบุรีเป็นราชธานีโดยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ พระเจ้าตากสินมหาราช นายขนมต้มก็ได้อาศัยอยู่บ้านเกิดอย่างสงบ แต่ไม่ทราบว่าเสียชีวิตไปเมื่อใด

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ไทยกำหนดให้วันที่ 17 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันมวยไทย เพื่อเป็นเกียรติประวัติต่อนักมวยไทย นอกจากนี้ชาวพระนครศรีอยุธยาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้มไว้ที่บริเวณสนามกีฬากลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสติเตือนใจและให้ลูกหลานไทยยึดถือเป็นแบบอย่างสืบไป.