หน้าแรกแกลเลอรี่

“จิตสำนึก” เท่านั้น! สร้างภูมิคุ้มกัน “ล้มมวย”

กัญจน์

24 ต.ค. 2564 04:20 น.

โลกไปถึงไหนกันแล้ว ความเป็นมืออาชีพทางด้านกีฬาในทุกๆ ชนิดมีอยู่ทั่วไปในทุกๆประเทศ นักกีฬาอาชีพ ถูกปลูกฝัง ต้องซื่อสัตย์กับอาชีพของตนเอง อย่างมั่นคง จริงจัง

ทำงานกันอย่างมุ่งมั่น เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้ได้

โดยไม่หวั่นไหวกับระบบ องค์กรอื่นใด หรือบุคคลใดที่จะทำให้อาชีพของตนได้รับผลกระทบไปในทางที่ไม่ดี เสื่อมเสีย หรือทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลการแข่งขัน

ทำให้สังคมเสื่อมศรัทธากับกีฬาอาชีพ

แต่ในประเทศไทย เรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นแล้วบนโลกใบนี้กับกีฬาอาชีพ เป็นเรื่องที่ล้าสมัยสุดๆ ไปเรียบร้อย ก็เกิดขึ้นอีกจนได้ คราวนี้เป็นกีฬาประจำชาติของเราเองอย่างมวยไทย

ที่มีการรับสารภาพกันว่าล้มมวย!!!

ล่าสุดเป็นกรณีของฟ้าวันใหม่ ช.ไทยเศรษฐ์ แพ้น็อกให้หลานย่าโม ว.วัฒนะ ในยกที่ 4 ศึกมวยไทย “มวยมันส์วันศุกร์” ที่เวทีมวยโรงยิมอเนกประสงค์ สนามกีฬากลางจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา

ฟ้าวันใหม่ให้การรับสารภาพว่า ล้มมวยตามข้อเสนอของนายอุดม จารย์ลี เจ้าของฟาร์มควายจังหวัดนครนายก อดีตหัวหน้าคณะนักมวยเกียรติพานทอง ที่ตอนนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ว่าจ้างล้มมวย

ในวงเงินที่ตกลงกัน 500,000 บาท และรับเงินมาแล้ว 30,000 บาท

จากนั้น จึงได้เข้าแจ้งความบันทึกประจำวันต่อเจ้าหน้าที่ สภ.เขาบางแกรก จังหวัดอุทัยธานี ต่อด้วยการเข้าให้ปากคำ เปิดเผยขั้นตอนการว่าจ้างล้มมวย ต่อสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2564

ฟ้าวันใหม่ได้ให้การกับ กกท.ไว้ว่า ผู้จ้างวานให้ล้มมวย ได้ติดต่อมาครั้งแรกในทำนองมาขอซื้อน้ำพริกที่ตนขายในช่วงที่ไม่ได้ขึ้นเวที เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19

ครั้งแรกซื้อ 5 กิโลกรัม ประมาณ 2,400 บาท แต่โอนมาให้ 5,000 บาท โดยบอกว่า ชื่นชอบฝีมือการชกมวยและถามเรื่องมวย ซ้อมอย่างไร เป็นอยู่อย่างไร

จากนั้นครั้งต่อมา ได้มีการสั่งซื้ออีกครั้ง แต่ครั้งนี้บอกว่าจะมารับด้วยตัวเองที่บ้าน โดยให้ขึ้นไปรับเงินบนรถ ก่อนที่จะยื่นข้อเสนอว่าในการชกกับ หลานย่าโม ว.วัฒนะ ตนสู้ไม่ได้หรอก

ให้ล้มมวยตามคำสั่ง จะจ้างในจำนวนเงิน 500,000 บาท แต่ไม่เอาไม่เป็นไร แต่ห้ามบอกใคร ถ้าเกิดบอกใคร จะมากระทืบ เพราะรู้ว่าบ้านอยู่ตรงนี้

ทั้งนี้ ฟ้าวันใหม่ได้ตอบรับที่จะล้มมวยให้ โดยในวันชกได้มีการโอนเงินมาให้ 30,000 บาท

พอขึ้นชกก็ทำตามที่เขาบอก คือ ในการชกยก 1-3 ให้โชว์ฝีมือเต็มที่ แต่ยก 4 ให้แกล้งโดนอาวุธอะไรก็ได้ แล้วทิ้งตัวยอมแพ้น็อกไป ซึ่งฟ้าวันใหม่ ก็เดินลุยเข้าไปให้หลานย่าโมสับศอกแพ้น็อกไปในที่สุด

ต่อมา นายพลัฎฐ์ สุวรรณาเมธากร ผู้อำนวย การสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท.ได้เดินทางไปแจ้งความไว้ที่ สภ.เมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2564

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เขาบางแกรก อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ได้ออกหมายจับ นายอุดมไปแล้ว ก่อนหน้านั้น วันที่ 12 ต.ค.2564

และเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2564 ที่ สภ.เขาบางแกรก นายอุดม ผู้ถูกกล่าวหาว่าจ้างฟ้าวันใหม่ล้มมวย และถูกผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. แจ้งความดำเนินคดี ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน

แต่นายอุดมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมยื่นประกันวงเงิน 100,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ประกันตัวในชั้นโรงพักไป

เรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้วงการมวยไทยตื่นตัวออกมาต่อต้านการล้มมวยกันอย่างพร้อมหน้า

“ชาติซ้าย” นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ได้มีการเชิญบุคคลวงการมวยมาร่วมหารือ หาแนวทางป้องกันและปราบปรามขบวนการจ้างล้มมวย ที่ห้องประชุมภายในราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬาหัวหมาก เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564

“จ่าตุ๊” ทรงพล พงษ์สว่าง โปรโมเตอร์รุ่นอาวุโส กล่าวว่า แม้ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป แต่วงการมวยก็ยังไม่ไปไหน เพราะมันขึ้นอยู่กับการพนัน

ความสำคัญของหัวหน้าคณะนักมวย ลดน้อยลง ค่าตัวนักมวยน้อยลง การเสนอมวยชกต้องไปอ้อนวอนผู้จัด ยิ่งวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจตกต่ำ ปัจจุบันค่ายมวยต่างๆปิดตัวลงไปมาก อยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุด

“อยากให้ทุกคนตระหนักว่า การจ้างล้มมวยเป็นปัญหาใหญ่ มวยล้มเกิดจากคนไปจ้างล้มมันก็พวกเราในวงการนี่แหละ มันไม่หมดไปจากวงการมวย ปราบได้ยาก” จ.ส.ต.ประพันธ์กล่าว

ขณะที่ “เสี่ยกบ” ฐากูร ผ่องสุภา เจ้าของค่าย ศศิประภายิม ยอมรับว่า การจ้างล้มมวยนั้นมีจริงและเกิดขึ้นมานาน ตนเข้มงวดกับนักมวยในค่าย เมื่อจับได้ว่าล้มมวยก็ไล่ออกเป็นการลงโทษอย่างเด็ดขาด

เพราะถือว่าทรยศต่อวิชาชีพ!!!

ด้าน กกท.ที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ต่อต้านการล้มมวย ตามพระราชบัญญัติ กีฬามวย พ.ศ.2542 นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายกีฬาอาชีพ และกีฬามวย ยืนยันกับ “ฮอตสปอร์ต” กราวกีฬาไทยรัฐ ว่า กกท.ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แน่นอน

ไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะการล้มมวย ทำให้วงการกีฬาไทยเสียหาย!!!

นายทนุเกียรติอธิบายขั้นตอนการทำงานในเรื่องนี้ให้ฟัง หลังจากสังคมเริ่มกดดันมาที่ กกท. ว่าเหตุใด มีกฎหมายในมือ แต่ยังไม่สามารถทำเรื่องนี้ให้สะเด็ดน้ำ นำคนผิดมาลงโทษ อย่างรวดเร็วว่า กกท. มีเครื่องมือ คือ กฎหมาย กกท.ได้ทำหน้าที่ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ตามขอบเขตของ พ.ร.บ.มวย แล้ว

ในเรื่องนี้ มีกระบวนการ และต้องใช้เวลา เรื่องผ่านมายัง กกท.ก็ต้องส่งต่อไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และเข้าสู่ขั้นตอนศาล ตามลำดับ
เมื่อเสร็จหน้าที่ของ กกท. ก็เป็นเรื่องที่นอกเหนือการควบคุมของเรา แต่ กกท.ก็มีการติดตามเรื่องอยู่ตลอด

ที่ผ่านมา ก็เคยมีนักมวยถูกลงโทษจากกฎหมายนี้ไปแล้ว เดิมโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เมื่อเข้าสู่ชั้นศาล จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ศาลสั่งจำคุก 2 ปี ให้รอลงอาญา

รองผู้ว่าการ กกท.ให้ความเห็นในเรื่องการล้มมวยไว้ด้วยว่า เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ จับตา เมื่อรู้เบาะแส ต้องช่วยกันแจ้งให้ กกท.ทราบเพื่อดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

“ทุกคนควรต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ผมเห็นว่า จิตสำนึก การสร้างจริยธรรมในแต่ละอาชีพ ซึ่งรวมถึงในวงการมวย เป็นเรื่องสำคัญ คนใดคนหนึ่งบกพร่อง ปัญหาก็จะเกิดอย่างที่เป็น” นายทนุเกียรติกล่าว

ก็ต้องยอมรับความจริงว่า หากทุกๆภาคส่วนในสังคมมวย รับผิดชอบหน้าที่กันอย่างดีที่สุดไม่น้อยไป หรือมากไปจนเกินเลย ไปรุกล้ำส่วนอื่น ไม่ให้เรื่องการพนัน มาเป็นสิ่งเร้า ปัญหาการล้มมวย ก็คงน้อยลง หรือไม่มีเลย

บรรดานักมวย คนทำมวย อาจมีการอ้างว่า ในยุคโควิด-19 สนามมวยปิด ชกไม่ได้ ไม่มีรายได้ ก็อยากให้มองกว้างๆ ทุกอาชีพก็ได้รับผลกระทบ เหมือนกันหมดเช่นกัน

เรื่องนี้ คงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากเรียกร้องให้ทุกคนในวงการมวย มีจิตสำนึก รับผิดชอบหน้าที่ร่วมกัน ก็เข้าใจเรื่องปากท้อง แต่ความเป็นมืออาชีพก็ต้องมี เพื่อไม่ให้คนในสังคมมาด้อยค่ามวยไทย

พร้อมกับต้องยกระดับกีฬานี้ให้สูง เมื่อสูงแล้ว ความเข้มแข็งในระบบก็จะเกิด วงจรที่เหมาะสม การสร้างงาน สร้างรายได้ ตามครรลองก็จะมีตามมาเอง

เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ป้องกัน “ล้มมวย” แบบอัตโนมัติ...

กัญจน์ ศิริวุฒิ