หน้าแรกแกลเลอรี่

เจาะลึก "อตาลันตา" ทีมเล็ก ผลงานใหญ่ ในโลกแห่งทุนนิยม

ชัช บางแค

11 ส.ค. 2563 06:00 น.

ยิงกระจาย 98 ประตู, จบท็อปโฟร์ กัลโช เซเรีย อา อิตาลี 3 ครั้งใน 4 ฤดูกาลหลังสุด, เข้ารอบ 8 ทีม ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก อะไรที่ทำให้ทีมเล็กๆ อย่าง อตาลันตา บินสูงได้ ไปติดตามพร้อมกัน

ยิงเยอะที่สุด อันดับ 3 ของยุโรป

ฤดูกาล 2019-2020 ที่เพิ่งจบไป คงไม่มีใครคิดว่า อตาลันตา จะจบที่อันดับ 3 ของ กัลโช เซเรีย อา อิตาลี ได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และยังเป็นการจบท็อปโฟร์ครั้งที่ 3 ใน 4 ฤดูกาลหลังสุดด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น อตาลันตา ยังยิงเยอะที่สุดในลีกถึง 98 ประตู มากกว่า ยูเวนตุส แชมป์ลีก 9 สมัยซ้อนที่มีจอมถล่มประตูย่าง คริสเตียโน โรนัลโด, มากกว่า อินเตอร์ มิลาน ที่มีกองหน้าค่าตัวแพงอย่าง โรเมลู ลูกากู จับคู่กับดาวยิงเนื้อหอมอย่าง เลาตาโร มาร์ติเนซ, มากกว่า ลาซิโอ ที่มีดาวซัลโวยุโรป เจ้าของผลงาน 36 ประตูอย่าง ชิโร อิมโมบิเล

และยังยิงมากกว่าแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ อย่าง ลิเวอร์พูล, มากกว่าทีมที่ขึ้นชื่อว่ามีเกมรุกทรงประสิทธิภาพอย่าง บาร์เซโลนา จะเป็นรองก็เพียงแค่ บาเยิร์น มิวนิก (100 ประตู) และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (102 ประตู) เท่านั้น

ที่น่าแปลกใจ คือ พวกเขาเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ของ เซเรีย อา ที่ไม่มีนักเตะสัญชาติอิตาลีเป็นผู้ทำประตูแม้แต่ลูกเดียว (ไม่นับ 2 ลูกที่คู่แข่งทำเข้าประตูตัวเอง) และหากดูรายชื่อทั้ง 14 คนที่เป็นผู้ทำสกอร์ทั้ง 98 ลูก จะเห็นว่าจำนวนประตูที่แต่ละคนทำได้ เป็นการเฉลี่ยกันยิงอย่างทั่วถึง ไม่มีใครที่ยิงเยอะแบบโดดๆ ในลักษณะ "คนแบกทีม"

เมื่อไล่รายชื่อผู้ทำประตูแล้ว ไม่มีคนไหนที่เข้าข่าย "ซูเปอร์สตาร์" เลย แต่ อตาลันตา ก็ยังสามารถผลิตสกอร์ได้มากที่สุดของ เซเรีย อา ตลอด 2 ฤดูกาลหลังสุด และเคล็ดลับที่ทำให้ทีมเล็กๆ จากเมืองแบร์กาโมที่ไร้นักเตะบิ๊กเนม กลายเป็นเครื่องจักรถล่มประตูไปได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่แฟนบอลหลายคนต้องการคำตอบ

จากทีม "หนีตกชั้น" สู่ทีม "จองตั๋วยุโรป"

ย้อนกลับไปดูตู้โชว์ของสโมสร มีถ้วยแชมป์โคปปา อิตาเลีย ฤดูกาล 1962-1963 เพียงใบเดียวที่เป็นความสำเร็จแบบเป็นชิ้นเป็นอันตลอดการก่อตั้ง 112 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ อตาลันตา มักวนเวียนอยู่แถวกลางตารางค่อนไปทางลุ้นหนีตาย โดยมีถึง 12 ครั้งที่พวกเขาร่วงจากลีกสูงสุดลงไปเล่นใน เซเรีย บี หนำซ้ำยังเคยดิ่งลงไปถึง เซเรีย ซี 1 ครั้งในปี 1982

ส่วนครั้งสุดท้ายที่ล่อแหลมต่อการตกชั้นจาก เซเรีย อา ก็เพิ่งผ่านมาไม่นานในฤดูกาล 2014-2015 ที่จบอันดับ 17 ด้วยแต้มที่เหนือกว่า กายารี แค่ 3 คะแนน

และหลังจบซีซั่นต่อมาที่ได้อันดับ 13 ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสโมสรก็มาพร้อมกับชายที่ชื่อว่า "จานปิเอโร กาสเปรินี" ที่เข้ามารับไม้ต่อจาก เอดี เรยา ในฤดูกาล 2016-2017

จานปิเอโร กาสเปรินี กุนซือผู้พลิกโฉมของ อตาลันตา
จานปิเอโร กาสเปรินี กุนซือผู้พลิกโฉมของ อตาลันตา

ก่อนมา อตาลันตา กาสเปรินี ยังไม่เคยพาทีมใดได้แชมป์นับตั้งแต่เริ่มจับงานกุนซือเมื่อปี 2003 แม้จะเคยนำ เจนัว ที่มีดาวเด่นอย่าง ดิเอโก มิลิโต และ ติอาโก ม็อตตา ได้อันดับ 5 ของ เซเรีย อา ฤดูกาล 2008-2009 พร้อมคว้าตั๋วไปลุยยูโรปาลีก

แต่การทำงานกับทีมใหญ่อย่าง อินเตอร์ มิลาน ในปี 2011 กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า ได้คุมทีมแค่ 5 นัดในช่วงไม่ถึง 3 เดือน ก่อนตกเก้าอี้จากผลงานย่ำแย่ แพ้ไปถึง 4 เกม และไม่ชนะเลย ส่วนผลงานหลังจากนั้นกับ ปาแลร์โม และ เจนัว (รอบ 2) ก็ไม่มีอะไรน่าจดจำ

ความจริง กาสเปรินี เกือบจะโดน อตาลันตา เด้งอยู่แล้ว หลังคุมทีม 5 นัดแรก แพ้ไปถึง 4 เกม แต่เขาก็มองข้ามคำเตือนจากผู้บริหารด้วยการยึดมั่นในการดันดาวรุ่งหลายรายที่เขาเชื่อในศักยภาพให้ไปปะทะกับ นาโปลี ที่เป็นทีมลุ้นแชมป์ในช่วงนั้น ก่อนจบเกมด้วยชัยชนะ 1-0 และนั่นเปรียบเสมือนการปลดล็อกให้ กาสเปรินี ได้ "ปล่อยของ" อย่างแท้จริง

เพราะหลังจากนั้น เขาก็พา อตาลันตา จบฤดูกาลที่อันดับ 4 พร้อมตีตั๋วไปลุยยูโรปาลีก รอบแบ่งกลุ่ม และซีซั่นถัดมา 2017-2018 แม้จะหล่นลงมาที่ 7 แต่ก็ยังได้ไปยูโรปาลีก 2 ปีซ้อน หลังรับส้มหล่นจาก ยูเวนตุส ที่ควบดับเบิลแชมป์ทั้ง เซเรีย อา และ โคปปา อิตาเลีย ก่อนใช้สิทธิ์ไป ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ในฐานะแชมป์เซเรีย อา

ก่อนที่ ฤดูกาล 2018-2019 จะตีตั๋วไปเล่น ยูซีแอล ครั้งแรกของสโมสร ด้วยการคว้าอันดับ 3 และซีซั่นล่าสุดก็จบอันดับ 3 ได้ไปลุยถ้วยใหญ่ของทวีปอีกครั้ง เท่ากับว่า กาสเปรินี พาทีมไปเล่นถ้วยยุโรปได้ถึงครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 8 ครั้งที่สโมสรเคยทำได้

การซ้อมของ อตาลันตา หนักหน่วงกว่าเกมการแข่งขันจริง ?
การซ้อมของ อตาลันตา หนักหน่วงกว่าเกมการแข่งขันจริง ?

ปรัชญาการทำทีม...จากตำราพิชัยสงคราม

การเป็นทีมที่ยิงเยอะที่สุดใน กัลโช เซเรีย อา อิตาลี ได้ถึง 2 ปีติด คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ โดยซีซั่น 2018-2019 อตาลันตา จัดไป 77 ประตู ก่อนเพิ่มความโหดในฤดูกาลล่าสุดด้วยการกดไปถึง 98 ประตู ซึ่งก็มี 3 นัดที่ยิงคู่แข่งถึง 7 ลูก โดยในจำนวนนี้มี 2 นัดที่เป็นเกมเยือน และยังมีอีก 1 นัดที่ยิงคู่ต่อสู้ 6 ลูก รวมถึงทีมดังอย่าง เอซี มิลาน และ ปาร์มา ก็ตกเป็นเหยื่อการถล่มประตูของ อตาลันตา ด้วยสกอร์ 5-0 เท่ากัน

เมื่อวิเคราะห์ดูจากลักษณะการได้ประตู รวมทั้งสัดส่วนพื้นที่การเล่นในสนาม และพื้นที่ในการเล่นเกมรุกตลอดทั้งฤดูกาล 2019-2020 ใน เซเรีย อา จะเห็นว่าทีมดังแห่งแคว้นลอมบาร์เดีย มีรูปแบบการเล่นและวิธีการเข้าทำสมกับการเป็นทีมฟุตบอลยุคใหม่ที่เปิดเกมรุกได้หลากหลาย

ในบทสัมภาษณ์ของ เดอะ การ์เดียน ซึ่ง ฟาบริซิโอ โรมาโน นักข่าวผู้คร่ำหวอดในแวดวงลูกหนังอิตาลีเคยถาม กาสเปรินี ถึงที่มาของปรัชญาในการสร้าง อตาลันตา ให้กลายเป็นทีมที่เล่นเกมรุกได้เร้าใจมากที่สุดทีมหนึ่งในยุคนี้ กาสเปรินี ก็อ้างอิงภาษิตหนึ่งจาก “ตำราพิชัยสงคราม” ตำรายุทธศาสตร์ทางทหารที่มีอิทธิพลมากของประเทศจีนขึ้นมา

“การตั้งรับ จะทำให้คุณไม่แพ้ แต่ถ้าคุณอยากชนะ คุณต้องเป็นฝ่ายบุกโจมตี”

นี่คือหลักการที่ กาสเปรินี ถ่ายทอดให้กับลูกทีม ควบคู่ไปกับการเคี่ยวกรำในการฝึกซ้อมแต่ละวัน โดยเขาได้ปลูกฝังเรื่องทัศนคติเข้าไปอีกด้วยว่า “คุณต้องเติบโตและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เมื่อไหร่ที่คุณไม่พัฒนา ทุกอย่างก็จบ และใครก็ตามที่หยุดอยู่กับที่ ก็มีแต่จะอ่อนแอและแพ้ไป”

ปาปู โกเมซ 1 ในนักเตะที่ถูก กาสเปรินี เคี่ยวกรำ
ปาปู โกเมซ 1 ในนักเตะที่ถูก กาสเปรินี เคี่ยวกรำ

“เกมการแข่งขัน คือ วันพักผ่อน” ?

นี่คือคำพูดของ ปาปู โกเมซ จอมทัพกัปตันทีมอตาลันตา ที่บ่งบอกถึงความโหดของการซ้อมภายใต้การควบคุมของ กาสเปรินี ได้เป็นอย่างดี ซึ่งกุนซือจอมเฮี้ยบรายนี้เน้นย้ำว่า “ใครที่เป็นลูกทีมของผมก็ต้องอดทนในระหว่างการซ้อม เพราะการดิ้นรนต่อสู้จะนำมาซึ่งชัยชนะ แต่ถ้าในการฝึกซ้อมคุณยังไม่มีแรงที่จะวิ่ง ก็อย่าหวังว่าจะวิ่งได้เมื่อถึงเกมการแข่งขันจริง”

กาสเปรินี เชื่อว่า การทำงานหนักจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ และเมื่อทำจนเกิดความคุ้นเคยแล้วก็จะไม่รู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยอีกต่อไป จากนั้นเขาจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนบรรยากาศการซ้อมจากที่เคยตึงเครียดให้เป็นความสนุกสนานครื้นเครง เพื่อสร้างสรรค์สไตล์และคุณภาพในการเล่นขึ้นมา

แต่เมื่อถูกยิงคำถามว่ามีวิธีอย่างไรในการเค้นฟอร์มเก่งของแต่ละคนออกมา กาสเปรินี กลับตอบว่า “เป็นความลับ” เพียงแค่ขยายความจากคำพูดของ ปาปู โกเมซ ว่าดาวเตะชาวอาร์เจนไตน์เป็นผู้เล่นที่มหัศจรรย์ แต่กลับดึงศักยภาพออกมาได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากไม่เคยผ่านการฝึกซ้อมที่ดี แต่หลังจากทำตามคำแนะนำของเขา “ปาปู” ก็ยกระดับขึ้นมาเป็น 1 ในตัวรุกที่ดีที่สุดของยุโรป

หลักฐานที่พิสูจน์ว่าวิธีของ กาสเปรินี ได้ผล คือ สถิติที่ดีขึ้นชัดเจน โดย 2 ฤดูกาลแรกภายใต้เฮดโค้ชคนก่อน ทั้ง สเตฟาโน โคลันตูโอโน กับ เอดี เรยา ผลงานของ ปาปู ทำได้แค่ 10 ประตู กับ 12 แอสซิสต์ แต่เพียงแค่ซีซั่นแรกที่ กาสเปรินี เข้ามา ปาปู กลับยกระดับตัวเองจนกดไปถึง 16 ประตู กับ 11 แอสซิสต์ และเมื่อรวม 4 ฤดูกาลที่ทำงานกับกุนซือวัย 62 ปี ปาปู ทำไปทั้งสิ้น 44 ประตู 53 แอสซิสต์

โยซิป อิลิชิช กลับมาเกิดใหม่ด้วยฝีมือของ กาสเปรินี
โยซิป อิลิชิช กลับมาเกิดใหม่ด้วยฝีมือของ กาสเปรินี

นายใหญ่ของทัพ “ลา เดีย” ยังยกตัวอย่างอีกหนึ่งราย นั่นคือ โยซิป อิลิชิช ซึ่งเคยถูกเขาแซวว่า “ยายแก่ โยซิป” จนต้องคอยจี้ให้ซ้อมหนักมากขึ้น และเมื่อปรับวิธีการคิดของกองหน้าทีมชาติสโลวีเนียได้สำเร็จ จนรู้สึกสนุกในทุกๆ ครั้งที่ลงซ้อม อิลิชิช ก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคนเหมือนเกิดใหม่ และเขาก็เปลี่ยนมาเรียกว่า “ศาสตราจารย์” แทน

หากเปรียบเทียบง่ายๆ อิลิชิช อยู่กับ ปาแลร์โม 3 ปี ทำไป 25 ประตู 18 แอสซิสต์ ก่อนใช้เวลา 4 ปี ทำ 37 ประตู 18 แอสซิสต์ให้ ฟิออเรนตินา แต่เมื่อย้ายมา อตาลันตา ที่มี กาสเปรินี คุมทัพได้แค่ 3 ปี กลับระเบิดฟอร์มทำไปแล้ว 49 ประตู 28 แอสซิสต์

นโยบาย “ซื้อถูก ขายแพง สร้างแข้งลูกหม้อทำกำไร”

และถ้าเทียบค่าตัวกับผลงานของนักเตะทั้ง 2 รายถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม โดย ปาปู ย้ายมาจาก เมตาลิสต์ คาร์คีฟ ทีมในยูเครน เมื่อปี 2014 ด้วยค่าตัวเพียง 4.47 ล้านยูโร (165 ล้านบาท) ส่วน อิลิชิช นั้น อตาลันตา ก็จ่ายให้ ฟิออเรนตินา เพียง 5.75 ล้านยูโร (212 ล้านบาท)

ในยุคของ อันโตนิโอ แปร์คัสซี ประธานสโมสรคนปัจจุบัน ที่เคยเป็นนักเตะเยาวชนของ อตาลันตา มาก่อน เขาจึงเข้าใจวัฒนธรรมของทีมเป็นอย่างดี และได้วางนโยบายโดยเน้นการลงทุนกับระบบการสร้างเยาวชนที่เป็นจุดแข็งของสโมสรมาตั้งแต่อดีต โดย แปร์คัสซี ได้วางรากฐานไว้ตั้งแต่สมัยแรกที่เข้ามาบริหารในปี 1990-1994 ก่อนเข้ามาสานต่อในสมัยที่ 2 เมื่อปี 2010 จนถึงปัจจุบัน

อันโตนิโอ แปร์คัสซี ผู้ปฏิรูปโครงสร้างระบบเยาวชนของ ลา เดีย
อันโตนิโอ แปร์คัสซี ผู้ปฏิรูปโครงสร้างระบบเยาวชนของ ลา เดีย

ซึ่งในปี 2014 "CIES Football Observatory" เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลนักเตะที่ได้รับการยอมรับเรื่องความน่าเชื่อถือ ก็จัดให้ อตาลันตา มีระบบทีมเยาวชนที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก จากการที่มีอดีตดาวรุ่งของสโมสรถึง 25 คน ได้ลงเล่นใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป (พรีเมียร์ลีก อังกฤษ, ลา ลีกา สเปน, กัลโช เซเรีย อา อิตาลี, บุนเดสลีกา เยอรมัน, ลีกเอิง ฝรั่งเศส)

ยิ่งได้ กาสเปรินี เข้ามาเป็นกุนซือก็ยิ่งเข้าทาง เพราะ กาสเปรินี ก็มีแนวทางการทำทีมที่ไม่เน้นทุ่มซื้อดาวดัง แต่เลือกที่จะเสาะหาผู้เล่นอายุน้อยทั่วยุโรปที่มีปรัชญาด้านฟุตบอลเหมือนกัน พร้อมปรับตัวเข้ากับสไตล์การเล่นของทีม มีความกระหายในชัยชนะ ชอบการเล่นฟุตบอลเกมรุก และยินดีที่จะซ้อมหนัก

เพียงแค่ซีซั่นแรกของ กาสเปรินี พวกเขาก็ทำกำไรจากการขาย โรแบร์โต กายาร์ดินี ที่เป็นผลผลิตจากทีมเยาวชนให้ อินเตอร์ มิลาน ได้ถึง 22 ล้านยูโร (814 ล้านบาท) ในเดือนมกราคม ปี 2017

หลังจากได้อันดับ 4 ในลีกก็มี เอซี มิลาน ที่ควักกระเป๋าจ่ายมากกว่า 50 ล้านยูโร (1,850 ล้านบาท) เพื่อคว้าตัว อันเดรีย คอนติ อีกหนึ่งแข้งลูกหม้อ พร้อมกับ ฟรองค์ เกสซิเย ที่ อตาลันตา ลงทุนไปแค่ 1.5 ล้านยูโร (55 ล้านบาท)

และในช่วงซัมเมอร์เดียวกัน เป็นอีกครั้งที่ อินเตอร์ ทุ่ม 31.1 ล้านยูโร (1,150 ล้านบาท) คว้าตัวเด็กสร้างอย่าง อเลสซานโดร บาสโตนี ที่เพิ่งลงเล่นให้ อตาลันตา ชุดใหญ่แค่ 9 นัดไปร่วมงาน

เดยัน คูลูเซฟสกี 1 ในนักเตะตามนโยบาย ซื้อถูก ขายแพง
เดยัน คูลูเซฟสกี 1 ในนักเตะตามนโยบาย ซื้อถูก ขายแพง

ก่อนที่ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม ปีนี้เอง อตาลันตา จะได้กำไรจากนโยบาย “ซื้อถูก ขายแพง” มากที่สุดนับตั้งแต่ แปร์คัสซี กลับมาเป็นประธานสโมสรเมื่อ 10 ปีก่อน โดยเป็น ยูเวนตุส ที่หิ้วเงิน 35 ล้านยูโร (1,295 ล้านบาท) มาให้ เพื่อกระชากตัว เดยัน คูลูเซฟสกี ปีกดาวรุ่งชาวสวีเดนไปครอบครอง ทั้งที่ย้ายมา อตาลันตา เมื่อ 2 ปีก่อนด้วยค่าตัวเพียง 165,000 ยูโร (6.1 ล้านบาท) และได้ลงช่วยทีมแค่ 3 นัด ก่อนปล่อยให้ไปเฉิดฉายกับ ปาร์มา ในรูปแบบยืมตัว

ดูวาน ซาปาตา - หลุยส์ มูเรียล 2 นักเตะค่าตัวแพงที่สุดของสโมสร
ดูวาน ซาปาตา - หลุยส์ มูเรียล 2 นักเตะค่าตัวแพงที่สุดของสโมสร

ขณะที่สถิติการซื้อผู้เล่นของสโมสร หากนับแบบจ่ายทีเดียวจบก็อยู่ที่ 20 ล้านยูโร (740 ล้านบาท) สำหรับ หลุยส์ มูเรียล จากเซบีญา แต่ถ้านับรวมมูลค่าแบบจ่ายหลายงวดก็ยังแค่ 26 ล้านยูโร (962 ล้านบาท) เพื่อแลกกับ ดูวาน ซาปาตา หลังจ่ายค่ายืมตัว 2 ปีให้ ซามพ์โดเรีย ไปก่อน 14 ล้านยูโร ก่อนจ่ายอีก 12 ล้านยูโรตามออปชั่นซื้อขาด แต่ทั้งคู่ก็กลายเป็นดูโอถล่มประตู จนเกินคุ้มกับเม็ดเงินที่จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว

แม้จะขายผู้เล่นแทบทุกช่วงตลาดนักเตะ แต่ “ลา เดีย” ไม่เคยกังวลกับการเสียเพชรเม็ดงามหรือแกนหลักฝีเท้าดีออกไป ตราบใดที่พวกเขายังสามารถหา “ของดี ราคาถูก” ที่เข้ากับระบอบการปกครองของ กาสเปรินี มาทดแทนได้เรื่อยๆ

ไม่ว่าจะเป็น มาร์เทน เดอ รูน มิดฟิลด์ห้องเครื่องที่คว้าตัวกลับมาจาก มิดเดิลสโบรช์ ในราคา 13.5 ล้านยูโร (500 ล้านบาท), มาริโอ ปาซาลิช กองกลางตัวรุกที่ถูก เชลซี ปล่อยให้ยืมตัวถึง 5 ทีม ก่อนลงเอยที่ อตาลันตา ในราคา 15 ล้านยูโร (555 ล้านบาท)

โรบิน โกเซนส์ เพชรในตมที่กลายเป็นนักเตะเนื้อหอม
โรบิน โกเซนส์ เพชรในตมที่กลายเป็นนักเตะเนื้อหอม

รวมถึง โรบิน โกเซนส์ แบ็กซ้ายที่คว้ามาจาก เฮราเคลส อัลเมโล เพียง 900,000 ยูโร (33 ล้านบาท) แต่มีข่าวว่าค่าตัวตอนนี้พุ่งขึ้นไปถึง 30 ล้านยูโร (1,110 ล้านบาท) ท่ามกลางความสนใจจากบรรดายักษ์ใหญ่อย่าง ยูเวนตุส, อินเตอร์ และ เชลซี ตลอดจน โยอาคิม เลิฟ กุนซือทีมชาติเยอรมนีที่เปรยว่าอาจเรียกไปติดธง

ตลอด 4 ฤดูกาลที่ กาสเปรินี เข้ามา อตาลันตา ทำเงินจากการขายผู้เล่นได้ถึง 247.93 ล้านยูโร (9,173 ล้านบาท) แต่จ่ายเงินซื้อนักเตะเข้ามาเพียง 176.11 ล้านยูโร (6,516 ล้านบาท) เท่ากับว่าพวกเขาได้กำไรเน้นๆ 71.82 ล้านยูโร (2,657 ล้านบาท) ในขณะที่ผู้เล่นชุดปัจจุบันใช้งบลงทุนรวมกันเพียง 93 ล้านยูโร (3,441 ล้านบาท)

เมื่อเทียบกับการได้ไปเล่น ยูโรปาลีก 2 ปีซ้อน ตามด้วยการได้ไป ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม อีก 2 สมัยติด ซึ่งหมายถึงรายได้อีกมากมายที่จะเข้ามา นับว่าการทำทีมในแบบฉบับ “อตาลันตา เวย์” คือ สัญลักษณ์แห่งชัยชนะของทีมฟุตบอลขนาดเล็ก ที่สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ได้ โดยไม่ต้องทุ่มเงินให้มากมายเพื่อซื้อความสำเร็จตามกระแสแห่งโลกทุนนิยม 

ซึ่งเพียงแค่ครั้งแรกที่ได้มาชิมลางในถ้วยใหญ่ของยุโรป "ลา เดีย" ก็สามารถฝ่าด่านเสือ สิงห์ กระทิง แรด ผ่านรอบแบ่งกลุ่มไปได้ ทั้งที่แพ้รวดใน 3 นัดแรก แต่ยังพลิกสถานการณ์กลับมาเข้ารอบเหมือนที่ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เคยทำได้ในฤดูกาล 2002-2003 ก่อนไล่ขยี้ บาเลนเซีย ในรอบ 16 ทีม ด้วยสกอร์รวม 2 นัดซัดกระจายถึง 8-4

อตาลันตา VS เปแอสเช การดวลกันของ 2 ทีมต่างขั้ว
อตาลันตา VS เปแอสเช การดวลกันของ 2 ทีมต่างขั้ว

ศึกตัดสินของ 2 ทีมต่างขั้วแห่งโลกทุนนิยม

ช่างบังเอิญเหลือเกินว่า อตาลันตา จะลงเล่นในรอบ 8 ทีมสุดท้ายของศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ที่ปรับรูปแบบจากการเล่นเหย้า-เยือน มาตัดสินแบบนัดเดียวรู้ผล ที่สนามกลางในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ด้วยการพบกับคู่แข่งที่มีแนวทางการทำทีมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงอย่าง ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่เน้นกว้านซื้อแข้งพระกาฬค่าตัวมหาศาล

เพราะในขณะที่ อตาลันตา มีมูลค่านักเตะรวมกันทั้งทีม (อ้างอิงจากเว็บไซต์ Transfermarkt) เพียงแค่ 261.70 ล้านยูโร (9,683 ล้านบาท) น้อยที่สุดในบรรดาทีมที่เข้ารอบไฟนอล 8 เปแอสเช กลับมีมูลค่าสูงถึง 788.45 ล้านยูโร (29,172 ล้านบาท) หรือมากกว่า 3 เท่า

ซึ่งถ้านับเพียงค่าตัวตอนที่ย้ายมา เปแอสเช ของ เนย์มาร์ (222 ล้านยูโร) รวมกับ คีลิยัน เอ็มบัปเป (135 ล้านยูโร) แค่ 2 คนยังมากกว่ามูลค่านักเตะทั้งทีมของ อตาลันตา เสียอีก คู่นี้จึงเปรียบเสมือนศึกตัดสินของ 2 ทีมต่างขั้วแห่งโลกทุนนิยมของวงการลูกหนังก็ว่าได้

แต่ใครจะเป็นผู้ชนะ ระหว่าง อตาลันตา ตัวแทนของทีมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ตัวแทนของทีมมหาเศรษฐีเงินถุงเงินถัง...คืนวันพุธที่ 12 สิงหาคมนี้...มีคำตอบ

- ชัช บางแค -