มะระหวาน
กลายเป็นเรื่องราวทุกครั้งที่มีการแข่งขันศึกชิงแชมป์ทวีปเอเชีย (เอเชียน คัพ) และศึกชิงแชมป์ทวีปแอฟริกา (แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์) โดยทัวร์นาเมนต์แรกแข่งทุก 4 ปี ส่วนรายการหลังแข่ง 2 ปีครั้ง
ที่บอกว่าเมื่อ 2 รายการนี้โคจรมาถึงเวลาจัดการแข่งขันจะมีเรื่องราวนั่นก็คือเรื่องของเวลาในการจัดการแข่งขันเพราะทั้งสองทัวร์นาเมนต์ส่วนใหญ่จะเลือกจัดการแข่งขันในช่วงเดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์เป็นหลัก
ซึ่งมันแตกต่างจากโปรแกรมทัวร์นาเมนต์ทั่วไปที่จะจัดการแข่งขันในช่วงเดือนมิถุนายน ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลโลก, ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูโร) หรือฟุตบอลชิงแชมป์อเมริกาใต้ (โคปา อเมริกา) แต่มีเพียงแค่เอเชียน คัพ กับแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ ที่แข่งในช่วงเดือนมกราคม
เมื่อการลงแข่งขันไม่เหมือนรายการอื่นๆ ส่งผลให้บรรดานักเตะที่ค้าแข้งจากทวีปยุโรปต้องหมดสิทธิ์ลงเล่นให้กับต้นสังกัดเนื่องจากต้องบินกลับมารับใช้ทีมชาติบ้านเกิด
ปกติถ้าเป็นฟุตบอลโลก, ยูโร หรือโคปา อเมริกา จะรอให้ลีกต่างๆในยุโรปจบก่อน นักเตะจบภารกิจ จากการรับใช้สโมสรก่อนถึงจะมารับใช้ชาติ แต่สำหรับ เอเชียน คัพ และแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ ไม่ใช่นักเตะต้องผละจากการรับใช้สโมสรกลางทาง
จนถึงขนาดที่ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ ปราการหลังทีมชาติญี่ปุ่นของอาร์เซนอล ก็ยังไม่เข้าใจเลยว่าทำไมศึกลูกหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียถึงไม่ฟาดแข้งกันช่วงเดือนมิถุนายนเหมือนยุโรป
ส่วนลีกที่โดนผลกระทบมากที่สุดก็คงไม่พ้น พรีเมียร์ลีก ที่เต็มไปด้วยระดับซุปเปอร์สตาร์ของทั้งเอเชียและแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นโมฮัมเหม็ด ซาลาห์, ซน เฮือง มิน, คาโอรุ มิโตมะ, นิโคลัส แจ็คสัน, อ็องเดร โอนานา เป็นต้น
ซึ่ง 20 ทีมพรีเมียร์ลีกทีมที่เดือดร้อนมากที่สุดก็คือ “เจ้าป่า” นอตติงแฮม ฟอเรสต์ ที่นักเตะต้อง กลับไปรับใช้ทีมชาติบ้านเกิดถึง 6 รายด้วยกัน รองลงมาก็เป็นเบรนท์ฟอร์ด และวูล์ฟแฮมป์ตัน ทีมละ 4 รายด้วยกัน
สำหรับทีมไหนมีใครไปรับใช้ชาติบ้าง “มะระหวาน” มาสรุปให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบมีดังนี้ บอร์นมัธ : 2 ราย ดานโก โออูตารา (บูร์กินา ฟาโซ), อันโดนี เซเมนโญ (กานา), อาร์เซนอล : 2 ราย โมฮัมเหม็ด เอล เนนี (อียิปต์), ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ (ญี่ปุ่น), แอสตัน วิลลา : 1 ราย เบอร์ทรานด์ ตราโอเร (บูร์กินา ฟาโซ), เบรนท์ฟอร์ด : 4 ราย ซามาน โกด์ดอส (อิหร่าน), คิม จี-ซู (เกาหลีใต้), แฟรงค์ ออนเยกา (ไนจีเรีย), โยอัน วีซา (คองโก), ไบรท์ตัน 2 ราย ซิมง อาดินกรา (ไอวอรีโคสต์), คาโอรุ มิโตมะ (ญี่ปุ่น), เชลซี : 1 ราย นิโคลัส แจ็คสัน (เซเนกัล)
คริสตัล พาเลซ : 1 ราย จอร์แดน อายิว (กานา), เอฟเวอร์ตัน : 1 ราย อดริสซา กูเอเย (เซเนกัล), ฟูแลม : 3 ราย โฟเด บัลโล-ตูเร (เซเนกัล), คัลวิน บาสซีย์ (ไนจีเรีย), อเล็กซ์ อิโวบี (ไนจีเรีย), ลิเวอร์พูล : 2 ราย วาตารุ เอ็นโด (ญี่ปุ่น), โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ (อียิปต์), ลูตัน : 1 ราย อิสซา คาโบเร (บูร์กินา ฟาโซ), แมนฯ ยูไนเต็ด : 3 ราย โซฟียาน อัมราบัต (โมร็อกโก), อาหมัด ดิยัลโล (ไอวอรีโคสต์), อ็องเดร โอนานา (แคเมอรูน)
ฟอเรสต์ : 6 ราย โอลา อินา (ไนจีเรีย), แซร์จ ออริเยร์ (ไอวอรีโคสต์), วิลลี โบลีย์ (ไอวอรีโคสต์), ชีค คูยาเต (เซเนกัล), มูสซา เนียกาเต (เซเนกัล), อิบราฮิม ซานกาเร (ไอวอรีโคสต์), เชฟฯ ยูไนเต็ด : 2 ราย ยาสเซอร์ ลารูซี (แอลจีเรีย), อานิส เบน ซลิมาเน (ตูนิเซีย), สเปอร์ส : 3 ราย อีฟส์ บิสซูมา (มาลี), ซน เฮือง มิน (เกาหลีใต้), ป๊าป ซาร์ (เซเนกัล), เวสต์แฮม : 2 ราย นาเยฟ อเกิร์ด (โมร็อกโก), โมฮัม เหม็ด คูดุส (กานา) และ วูล์ฟส์ : 4 ราย ฮวาง ฮี-ชาน (เกาหลีใต้), จัสติน ฮุบเนอร์ (อินโดนีเซีย), รายาน อาอิต-นูรี (แอลจีเรีย) และบูบาการ์ ตราโอเร (มาลี)
แต่อย่างไรก็ตาม มี 3 ทีมที่ไม่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ก็คือ “เรือใบสีฟ้า” แมนฯ ซิตี้, “สาลิกา” นิวคาสเซิล และเบิร์นลีย์ เพราะนักเตะอยู่กันครบลูบปากรอจัดหนักจัดเต็มต้องรีบโกยคะแนนกันให้ได้มากที่สุด
แม้ว่าบางทีมจะขาดนักเตะแค่รายสองราย แต่ก็เป็นคนที่สำคัญที่สุดเรียกได้ว่าก็ไม่ค่อยแฟร์สักเท่าไร เชื่อว่าทั้งสองทวีปน่าจะพิจารณาในการ ปรับวันเวลาแข่งขันกันสักที เพราะปัญหานี้มีมานานเหลือเกิน.
มะระหวาน
คลิกอ่านคอลัมน์ “ตะลุยฟุตบอลโลก” เพิ่มเติม