หน้าแรกแกลเลอรี่

เรื่องนี้มีที่มา เปิดต้นตอของ “ฟองสบู่” ลอยแตกกลางหัว “เทน ฮาก” เกม “ผี พ่าย ค้อน” 0-2

ไทยรัฐออนไลน์

25 ธ.ค. 2566 19:04 น.

เปิดที่มาของบทเพลงประจำทีม เวสต์แฮม กับ ฟองสบู่ที่ลอยไปแตกกลางศีรษะของ เอริก เทน ฮาก เกมที่ แมนฯ ยูไนเต็ด บุกพ่าย เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 0-2

ในเกมที่ เอริก เทน ฮาก พา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บุกไปแพ้ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ณ ลอนดอน สเตเดียม ด้วยสกอร์ 0-2 เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากความปราชัยอันน่าอดสูของทัพปิศาจแดงแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เรียกความสนใจของผู้คนทั่วโลกอินเทอร์เน็ตได้ก็คือภาพที่ฟองสบู่แตกกลางศีรษะของนายใหญ่ชาวดัตช์ ซึ่งความจริงแล้วการที่มีฟองสบู่ล่องลอยอยู่ในสนามนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด

ถ้าใครได้รับชมแมตช์ของทัพขุนค้อนในบ้านเป็นประจำ ก็น่าจะรู้สึกคุ้นเคยกับภาพที่ฟองสบู่ลอยคลุ้งปกคลุมทั่วสนาม พร้อมกับเสียงร้องของแฟนบอลผ่านเพลงประจำทีมอย่าง “I’m Forever Blowing Bubbles (ฉันจะเป่าฟองสบู่ตลอดไป)” บทเพลงสัญชาติอเมริกัน แต่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาโด่งดังถึงประเทศอังกฤษ ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1920

ณ ห้วงเวลาเดียวกันนั้น ฟุตบอลระดับเยาวชนกำลังเป็นที่นิยมในย่าน เวสต์แฮม เป็นอย่างมาก และได้มีเด็กหนุ่มแววดีคนหนึ่งชื่อว่า บิลลี เจ เมอร์เรย์ ผู้เล่นของโรงเรียน พาร์ค สคูล ถูกตั้งฉายาว่า “Bubbles (ฟองสบู่)” เนื่องจากมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับรูปวาดเด็กผู้ชายในโฆษณาสบู่ก้อนตัวหนึ่งที่ถูกแปะทั่วกรุงลอนดอน

จากนั้นทุกครั้งที่เด็กหนุ่มเจ้าของฉายา ฟองสบู่ ลงฟาดแข้งในละแวกดังกล่าว ก็จะมีผู้คนคอยส่งเสียงเชียร์ด้วยเพลงนี้อยู่เป็นประจำ และแม้ตัวเขาจะไม่สามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้เล่นระดับมืออาชีพได้ แต่ก็มีเพื่อนร่วมทีมโรงเรียนของ บับเบิลส์ เมอร์เรย์ ที่ชื่อว่า จิม บาร์เร็ตต์ ก้าวขึ้นไปเป็นแข้งตัวจริงของขุนค้อนได้ ทำให้ผู้คนที่ตามเชียร์แข้งหนุ่มทั้งสองรายตั้งแต่ระดับเยาวชน และได้นำ “I’m Forever Blowing Bubbles” เข้าไปขับร้องใน โบลีน พาร์ค รังเหย้าของ เวสต์แฮม ด้วย จนแฟนๆ ทั้งสนามต่างก็ร่วมเคล้าเสียงเพลงนี้ไปพร้อมๆ กัน และสุดท้ายมันก็กลายเป็นเพลงประจำทีมไปโดยปริยาย.