แชนแนลยูทูบ BLACK BOX STORY นำเสนอเรื่องราวของโศกนาฏกรรมมิวนิก ที่นักเตะและสตาฟฟ์ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องสังเวยชีวิตรวม 11 ศพ พร้อมด้วยผู้สื่อข่าวและลูกเรือ ก่อนที่กัปตันในเที่ยวบินนั้น จะต้องเผชิญวิบากกรรม กับความผิดที่เขาไม่ได้เป็นต้นเหตุ
เชื่อว่าแฟนฟุตบอล คงจะจำเหตุการณ์ช็อกโลกที่เที่ยวบินของสายการบิน “บริติชยูโรเปียนแอร์เวย์ส” เที่ยวบิน 609 ที่นำนักเตะและสตาฟฟ์ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เดินทางกลับสู่บ้านเกิด หลังเสร็จสิ้นภารกิจในยูโรเปียนคัพ รอบรองชนะเลิศ พุ่งชนกับรันเวย์ของสนามบินมิวนิก-รีม ในมิวนิก ประเทศเยอรมนีตะวันตก เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 21 ศพ แต่ในเวลาต่อมา เคนเนธ เรย์เมนต์ ผู้ช่วยนักบิน และ ดันแคน เอ็ดเวิร์ด นักเตะของทีม ก็ได้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้รวมยอดผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ รวมเป็น 23 ศพ และรอดชีวิต 21 คน
นอกจากความโศกเศร้าของแฟนฟุตบอลทั่วโลก ที่ต้องสูญเสียนักเตะคนสำคัญ และเตรียมที่จะมีอนาคตกับทีมที่สดใสแล้ว คนที่ต้องรับกรรมในครั้งนี้ คือกัปตันนามว่า “เจมส์ เทรนต์” ผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในไฟลต์นี้ ที่ต้องถูกคนกว่าครึ่งโลก ตราหน้าว่า เพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเขา ทำให้โศกนาฏกรรมครั้งนี้ เกิดขึ้น
กัปตัน เจมส์ เทรนต์ และผู้ช่วย เคนเนตต์ เรย์เมนต์
ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ เราต้องมาทำความรู้จักกับผู้ทำการบินในไฟลต์นี้กันเสียก่อน
กัปตัน เจมส์ เทรนต์ : อายุ 36 ปี ผู้ทำหน้าที่เป็นกัปตันในไฟลต์นี้ ในอดีตเป็นนักบินกองทัพอากาศของสหราชอาณาจักร ในอดีตเคยเป็นคณะกรรมการฉุกเฉินในกองทัพอากาศ ในฐานะเจ้าหน้าที่นักบินคุมประพฤติ ก่อนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เป็นนาวาอากาศโท ในปี 1948 หลังจากนั้นได้ลาออกจากกองทัพอากาศ และมาบินให้กับบริติช ยูโรเปียน แอร์เวย์ส
ผู้ช่วย เคนเนตต์ เรย์เมนต์ : อายุ 38 ปี แม้จะเป็นผู้ช่วย แต่เขามีศักดิ์เป็นกัปตันเช่นเดียวกัน ในอดีตเป็นนักบินขับไล่ของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร และเป็นนักบินทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเคยยิงเครื่องบินรบของเยอรมนีตกมาแล้วถึง 5 ลำ และอิตาลี อีก 1 ลำ
ทั้งคู่ถือเป็นเพื่อนกัน และเคยบินด้วยกันมาแล้วหลายครั้ง
วันเกิดเหตุ 6 กุมภาพันธ์ 1958
กัปตันเจมส์ เทรนต์ และผู้ช่วยนักบิน เคน เรย์เมนต์ นำคณะนักฟุตบอลของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลับมาจากเกมยูโรเปียนคัพ รอบรองชนะเลิศ ที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บุกไปเสมอ เรดสตาร์ เบลเกรด 3-3 ที่ประเทศยูโกสลาเวีย โดยเที่ยวบินนี้ จะแวะเติมน้ำมันและเช็กสภาพ ที่ท่าอากาศยานมิวนิก บรรยากาศบนเครื่องเป็นไปด้วยความสนุกสนาน เพราะทีมปิศาจแดงเพิ่งผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศของยูโรเปียนคัพ
เครื่องบิน ได้มาถึงท่าอากาศยานมิวนิก ในเวลา 13.04 น. โดยไม่มีความผิดปกติ ก่อนที่กัปตันจะให้ผู้โดยสารไปพักผ่อนในอาคาร ส่วนกัปตันได้ตรวจสภาพเครื่องอย่างละเอียด ก่อนจะออกเดินทางสู่เกาะอังกฤษ
สภาพอากาศในวันนี้ อุณหภูมิภาคพื้นอยู่ที่ 0 องศา มีหิมะตกอย่างต่อเนื่อง ด้วยหลังการแล้ว เป็นหน้าที่ของผู้ทำการบินที่จะต้องละลายน้ำแข็งที่อยู่บนปีก เพื่อไม่ให้เกิดแรงต้านขณะบินขึ้นในอากาศ
เมื่อกัปตันตรวจสอบพบว่า หิมะ ไม่ได้จับตัวเป็นน้ำแข็ง และมีปริมาณไม่มาก จึงตัดสินใจไม่ละลายน้ำแข็งที่อยู่บนปีก แต่ใครจะคิดว่า นั่นคือการตัดสินใจที่ทำให้เขาต้องมลทินไปตลอดชีวิต ทั้งที่ประเด็นนี้ เป็นเพียงข้ออ้างของฝ่ายที่ไม่ยอมรับผิดเท่านั้น
จากนั้น เวลาประมาณ 14.00 น. กัปตันได้เรียกผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ก่อนที่เวลา 14.19 น. หอบังคับการบินจะให้สัญญาณให้ BEA เริ่มทำการบิน
หลักการ TAKE OFF ของเครื่องบิน
ทุกครั้งที่จะทำการบิน นักบินจะต้องคำนวณค่าความเร็ว ในการนำเครื่องบินขึ้น โดยจะแตกต่างกันอยู่ที่ปัจจัยต่างๆ สำหรับศัพท์ที่จำเป็นต้องทราบของการเทคออฟ มีดังนี้
1.V1 (วีวัน) หรือ ความเร็วตัดสินใจ : คือ ความเร็วไม่เกินที่กัปตันจะสามารถยกเลิกการเทคออฟ หากเกิดปัญหาขึ้น
2.V rotate (วีอาร์) : ความเร็วในช่วงระดับของการยกหัวเครื่องบิน
3.V2 (วีทู) : ความเร็วขณะอยู่ในอากาศอย่างปลอดภัย บนความสูงเหนือพื้นดิน 35 ฟุต
สำหรับเที่ยวบินนี้ นักบิน คำนวณความเร็ว V1 ไว้ที่ 110 นอต (203.7 กม./ชั่วโมง), Vrotate 114 นอต (211 กม./ชั่วโมง) และ V2 119 นอต (220.3 กม./ชั่วโมง)
สัญญาณเตือนสองครั้งแรก สู่หายนะ
การเทคออฟครั้งแรก ในขณะที่กัปตันกำลังเร่งเครื่องเต็มกำลัง ปรากฏว่าเครื่องยนต์เกิดการกระตุก กัปตันจึงตัดสินใจยกเลิกการเทคออฟ ก่อนจะถึงความเร็วตัดสินใจ หรือ V1 ก่อนที่จะกลับมาเพื่อเทคออฟรอบที่สอง ปรากฏว่า เครื่องยนต์ยังคงกระตุกเช่นเดิม ทำให้กัปตันตัดสินใจที่จะนำเครื่องกลับไปเช็กสภาพอีกครั้ง
เมื่อตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ ช่างภาคพื้นดิน ได้ให้คำแนะนำให้นักบิน ค่อยๆเพิ่มระดับความเร็ว เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์เกิดการกระตุกซ้ำ เหตุนี้การบินในครั้งต่อไป นักบินต้องใช้ระยะบนรันเวย์มากขึ้น ก่อนจะนำเครื่องขึ้น เพราะไม่สามารถเร่งความเร็วเต็มอัตราได้ตามเดิม
การเทคออฟครั้งที่ 3 ในเวลา 15.03 น. จึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลของผู้โดยสารและทีมงานแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขณะที่กัปตัน ก็ต้องรับความกดดันมากขึ้น เนื่องจากเวลาทำการบินเหลือเพียงแค่ 2 นาทีเท่านั้น หากไม่สามารถนำเครื่องขึ้นได้ทัน จะต้องดำเนินการเรื่องเอกสารใหม่ ทำให้เสียเวลาเพิ่มขึ้น และอาจทำให้คณะต้องใช้เวลาอยู่ที่มิวนิกอีก 1 คืน เนื่องจากสภาพอากาศที่ปลายทางจะไม่เอื้ออำนวย
เหตุผลนี้ จึงทำให้กัปตันตัดสินใจที่จะนำเครื่องขึ้น ทุกอย่างดูจะเป็นไปด้วยดี เมื่อความเร็วมาถึง V1 ที่ 110 นอต (203.7 กม./ชั่วโมง), ทุกอย่างดูจะเป็นไปด้วยดี กระทั่งความเร็วเชิดหัวที่ 114 นอต (211 กม./ชั่วโมง) กัปตันเริ่มกระบวนการนำเครื่องขึ้น ล้อหน้าเริ่มยก แต่แล้ว เมื่อความเร็วมาถึง 117 นอต (216 กม./ชั่วโมง) ความเร็วกลับลดลงมาเหลือเพียงแค่ 105 นอต (194.4 กม./ชั่วโมง) เพราะความเร็วไม่เพียงพอ ก่อนจะไถลออกนอกรันเวย์ พุ่งเข้าชนบ้านของชาวบ้านจนไฟลุกท่วม นั่นคือ วินาทีของโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครลืมได้
ผู้เสียชีวิตบนเครื่องบินลำนี้ มีทั้งสิ้น 23 ศพ แบ่งเป็น ผู้ช่วยกัปตันเคนเนตต์, ลูกเรือ 1 ศพ, นักเตะของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 8 ศพ, สตาฟฟ์ทีมแมนยูฯ 3 ศพ, ผู้สื่อข่าว 8 ศพ และผู้โดยสารอื่นๆ 2 ศพ
วิบากกรรมของกัปตันเจมส์
เครื่องบินในอดีตยังไม่มีกล่องดำ ที่สามารถบันทึกเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้การสอบสวนจะมาจากพยานในที่เกิดเหตุเป็นหลัก ทางการเยอรมนี จึงได้ตั้งกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยพุ่งเป้าไปที่ประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. หิมะบนปีก – หลังเกิดเหตุทางการเยอรมนี ได้ภาพหลักฐานสำคัญจากนักท่องเที่ยว เป็นภาพถ่ายขาวดำที่มีสีขาวอยู่บนปีกเครื่องบิน ทำให้ทางการเยอรมนีเชื่อว่า มีหิมะอยู่บนปีกของเครื่องบิน จนเป็นสาเหตุให้เครื่องบินสูญเสียแรงยก
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้กัปตันเจมส์ ออกมาปฏิเสธทันควัน เพราะเขาตรวจสอบหิมะบนปีกเครื่องบินก่อนทำการบินอย่างแน่นอน และพบว่า มันไม่มีน้ำแข็งอยู่บนปีก นอกจากนี้ ยังมีพยานผู้เห็นเหตุการณ์ที่ขึ้นไปเดินบนปีกด้วยรองเท้าบูตยางที่ยืนยันว่า ไม่มีน้ำแข็งบนปีกแน่นอน เพราะมิฉะนั้น ตัวเขาเองน่าจะต้องลื่นลงมา แต่หลักฐานดังกล่าว กลับหายไปจากรายงานการสืบสวนอย่างไม่น่าเชื่อ
2. การสลับที่นั่งของกัปตัน – ด้วยความที่กัปตันเจมส์ เทรนต์ และกัปตันเคนเนตต์ เรย์เมนต์ เป็นเพื่อนกัน และบินด้วยกันมานาน ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจสลับที่นั่งกัน ซึ่งตามกฎการบินแล้ว ถือว่าผิด แต่กัปตันเจมส์เอง พยายามชี้แจงว่า ทั้งคู่มียศเป็นกัปตันเหมือนกัน จึงทำให้การสลับที่สามารถทำได้โดยไม่มีผลต่อการบิน แต่ประเด็นนี้ ทางการเยอรมนี ได้หยิบยกประเด็นของการสลับมาเป็นประเด็นใหญ่ ของสาเหตุของอุบัติภัยครั้งนี้
3. เครื่องยนต์กระชาก -- เหตุผลของเครื่องบินกระชาก จนทำให้กัปตันต้องยกเลิกการเทคออฟ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกออกมาพูดถึง แต่จากการตรวจสอบกลับพบว่าเหตุการณ์นี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติ และแทบไม่มีผลต่อการบิน
ด้วยสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมา ทางการเยอรมนี จึงสรุปลงในรายการว่า กัปตันเจมส์ ทำผิดกฎการบิน และเป็นความผิดพลาดของกัปตัน ทำให้สายการบินบริติช ยูโรเปียน แอร์เวย์ส ตัดสินใจไล่กัปตันเจมส์ ออกจากการเป็นกัปตัน จากเหตุการณ์นี้
เหยื่อทางการเมือง?
หลังจากที่ถูกไล่ออกจากสายการบิน “เจมส์ เทรนต์” ตัดสินใจผันตัวมาเป็นเกษตรกร และตลอดชีวิตหลังจากนั้น เขาไม่ได้กลับไปบินอีกเลย นอกจากนั้น ลูกสาววัย 7 ขวบของเขา ยังต้องถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนล้อว่าเป็นลูกฆาตกร จนเขาเองก็ถึงกับทนไม่ได้
กัปตันเจมส์ยังได้ขอให้รัฐบาลอังกฤษ ช่วยเหลือในเรื่องการสืบสวนอีกครั้ง แต่ทางอังกฤษเองก็แสดงท่าทีเป็นกังวลถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ จึงตัดสินใจไม่ให้ความช่วยเหลือสืบสวนเพิ่มเติม
เหตุนี้เอง เขาจึงได้พยายามสืบสวนหาสาเหตุด้วยตนเอง เพื่อให้ตัวของเขาพ้นจากมลทินที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้
หลักฐานเด็ดที่เขารวบรวมเพิ่มเติม คือ การสอบสวนของประเทศแคนาดา ที่ได้มีการออกเตือนสายการบินทั่วโลก ถึงประเด็นหิมะบนรันเวย์ โดยพบว่าหากหิมะบนรันเวย์ มีความหนามากกว่า 5 เซนติเมตร จะมีผลให้ความเร็วของเครื่องบินลดลงอย่างฉับพลัน กัปตันเจมส์จึงพยายามใช้ประเด็นนี้ในการแก้ไขข้อครหา รวมไปถึงหลักฐานเพิ่มเติมจากพยานผู้เห็นเหตุการณ์ที่พบว่า มีหิมะอยู่บนส่วนปลายรันเวย์ ซึ่งเคยให้ข้อมูลกับทางคณะกรรมการสืบสวนไปแล้ว แต่กลับไม่ปรากฏอยู่ในรายงาน ดังนั้นกัปตันเจมส์จึงใช้เวลากว่า 5 ปี รวบรวมหลักฐาน และยื่นเรื่องขอเปิดการสืบสวนใหม่ ไปยังทางการเยอรมนี ก่อนที่ทางการเยอรมนี จะตัดสินใจเปิดการสืบสวนใหม่ในปี 1965
ในช่วงเวลานั้น กัปตันเจมส์พยายามเสนอหลักฐานที่เขารวบรวมมา ทั้งเรื่องหิมะบนรันเวย์ที่มีผลต่อความเร็วเครื่องบิน รวมไปถึงบ้านที่อยู่ห่างจากปลายรันเวย์เพียง 300 เมตร ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมหลักฐานจากพยานในที่เกิดเหตุ แต่ดูเหมือนว่า หากคณะกรรมการยอมรับในสิ่งที่กัปตันเจมส์พูด ก็จะทำให้เยอรมนีเป็นฝ่ายยอมรับความผิด
เหตุนี้ คณะกรรมการจึงตีตกหลักฐานทั้งหมด พร้อมทั้งหยิบเอาประเด็นเรื่องการสลับที่ของนักบิน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น พร้อมสรุปลงในรายงานว่า เป็นความผิดพลาดของกัปตัน จึงสร้างความผิดหวังให้กัปตันเจมส์เป็นอย่างมาก จากนั้นเขาได้หลบไปอยู่เงียบๆ โดยที่ไม่มีความเคลื่อนไหวไประยะหนึ่ง
สาเหตุที่แท้จริงปรากฏ
กระทั่งปี 1968 ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่นายกรัฐมนตรี แฮร์โรลด์ วิลสัน ที่ได้ไปดูการแข่งขันของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเชื่อว่ากัปตันเจมส์ คือเหยื่อทางการเมืองอันร้อนระอุของทั้งสองประเทศ
ด้วยความที่เขาคือนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลในยุคนั้น ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหันมาสนใจประเด็นนี้อีกครั้ง ก่อนที่ทางอังกฤษจะเริ่มเปิดการสืบสวนขึ้น โดยคราวนี้ มุ่งประเด็นไปที่หิมะบนรันเวย์ที่อาจมีส่วนให้เครื่องบินไม่สามารถบินขึ้นได้ตามที่ควรจะเป็น
เจ้าหน้าที่อังกฤษได้ทำการทดลองบนหิมะ โดยจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่า เมื่อเครื่องบินมาถึงจุดที่มีหิมะสูงกว่า 5 เซนติเมตร ความเร็วของเครื่องบินจะลดลงจริง และเมื่อเทียบกับเหตุการณ์จริงจะพบว่า ในวันนั้น ในช่วงปลายรันเวย์ มีหิมะที่หนาขึ้นมาเกิน 5 เซนติเมตรจริง อีกทั้งด้วยสาเหตุที่เครื่องบินเกิดการกระตุกมาสองครั้ง ทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการเทคออฟมากขึ้น จึงเป็นไปได้ว่า เจ้าหน้าที่ตรวจรันเวย์ อาจจะตรวจสอบแค่เฉพาะจุดที่เครื่องบินบินขึ้นบ่อยๆ เท่านั้น แต่ไม่ได้ตรวจไปถึงท้ายรันเวย์ ที่มีหิมะสะสม
นอกจากนี้ จากภาพถ่ายที่มีการระบุว่าปีกเครื่องบินมีหิมะอยู่นั้น เมื่อใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบภาพจากฟิล์มต้นฉบับพบว่า มันเป็นเพียงการสะท้อนของแสงเท่านั้น ปริศนาจึงไขกระจ่างว่า ไม่มีน้ำแข็งอยู่บนปีกเครื่องบินในขณะเกิดเหตุแต่อย่างใด
สมมติฐานนี้ จึงทำให้ชาวโลก ได้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง และทำให้ชาวอังกฤษได้ทราบว่า ที่แท้แล้ว ความผิดทั้งหมดไม่ได้เกิดจากกัปตันเจมส์แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม ทางการเยอรมนีเอง เมื่อทราบเรื่องแล้ว ก็ไม่ได้มีการแถลงตอบโต้, ยอมรับ หรือขอโทษต่อกรณีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่ชาวโลกที่ฟังความจริงทั้งสองด้าน ก็คงจะตัดสินได้ว่า ใครถูก ใครผิด
กัปตันเจมส์จากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 53 ปี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1975 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เหตุการณ์ทั้งหมดนับเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่เขาต้องเผชิญ และตลอดชีวิตของเขา ที่ต้องสูญเสียหน้าที่การงาน แต่เขาเองก็ได้จากโลกนี้ไปโดยที่ผู้คนทั้งโลกรับรู้ว่า สิ่งที่เขาต้องเผชิญนั้นคืออะไร และไม่มีอะไรติดค้างในใจของเขา
รายชื่อนักฟุตบอลที่เสียชีวิตในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมมิวนิก
- โรเจอร์ ไบรน์
- เจฟฟ์ เบนท์
- เดวิด เพ็กก์
- มาร์ก โจนส์
- บิลลี่ วีแลน
- เอ็ดดี้ โคลแมน
- ทอมมี่ เทย์เลอร์
- ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส
ขอบคุณข้อมูล
-แชนแนลยูทูบ BLACK BOX STORY EP.13 (สามารถติดตามรายละเอียดกรณีอุบัติภัยทางอากาศเพิ่มเติมได้ทางแชนแนล BLACK BOX STORY)
-https://www.thetimes.co.uk/article/captain-james-thain-cleared-of-blame-after-the-thawing-of-hostilities-95xfplm9g6z
-https://www.mirror.co.uk/news/munich-air-disaster-pilot-who-739998
-https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/pilots-daughter-pays-tribute-942308