หน้าแรกแกลเลอรี่

แฟนบอลกลายพันธุ์ (2)

บี บางปะกง

8 ก.ค. 2563 05:01 น.


(ต่อตอนที่แล้ว) เรื่องที่ว่าใครจะมาเป็นผู้จัดการทีม สโมสรจะซื้อนักเตะคนไหน การเปลี่ยนเพลงปลุกใจก่อนเดินลงสนาม ฯลฯ พวกเค้ามีหน้าที่แค่เพียงรับทราบเท่านั้น

เห็นได้ชัดจากฉากที่มีการพบปะ ประจำปีระหว่างตัวแทนสโมสรกับกลุ่มแฟนคลับที่ได้รับเลือกมาประชุมเสนอความเห็น

เราจะเห็นการตีหน้าตายของประธานสโมสรและนักเตะค่าตัวแพงที่ดูเหมือนแค่มาทำหน้าที่รับฟังสิ่งที่แฟนบอลคั้นออกมาจากใจแบบเสียไม่ได้ เพราะรู้ว่ายังไงแฟนบอลเหล่านี้เกิดและอาศัยอยู่ในเมืองนี้ ยังไงก็ของตาย จะเปลี่ยนไปเชียร์ทีมอื่นก็คงใช่ที่

ต่างจากบรรดาสปอนเซอร์เงินหนา ผู้จัดการฝีมือดี หรือนักเตะที่มีมูลค่าทางการตลาดที่อาจย้ายเงินและย้ายตัวเองไปสร้างมูลค่าให้กับสโมสรอื่นได้ง่ายกว่า

ในทางกลับกัน เวลาเราดูรายการวิเคราะห์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในปัจจุบัน เรามักเห็นบรรดากูรูทั้งหลายต่อสายตรงคุยผ่านวิดีโอคอลกับแฟนบอลในประเทศต่างๆ มากมาย

แฟนเบิร์นลีย์ที่บังกลาเทศ หรือแฟนวัตฟอร์ดที่แอฟริกาใต้สามารถให้ความเห็นและวิจารณ์ทีมรักตัวเองอย่างดุเดือดผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่สู่สายตาคนหลายล้านที่ดูรายการอยู่

ถ้าผมเป็นแฟนบอลท้องถิ่นที่เชียร์ 2 ทีมนี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อคงน้อยใจน่าดู แทนที่กูรูเหล่านี้จะถามคนในเมืองกลับไปถามใครก็ไม่รู้ที่อยู่อีกซีกของโลก และไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนใจหรือเปล่าหากทีมทำได้ไม่ดีในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ใครจะไปรู้ นัยของสุ้มเสียงแฟนบอลในอนาคตอาจเปลี่ยนไป คนท้องถิ่นที่เกิดและแก่ไปพร้อมกับสโมสรไม่ค่อยมีใครฟัง

แต่เกิดมีคอบอลพันธุ์ดิจิทัลที่รู้จักใช้เครื่องมือในการสร้างฐานเสียงสนับสนุนช่วยกันปั่นกระแสในโลกโซเชียลมีเดียให้มีคนเห็นด้วยเป็นล้านๆคน ขอให้ปลดผู้จัดการหรือขายนักเตะออกไป แล้วบังเอิญประธานสโมสรเกิดบ้าจี้ให้ราคากับกระแสแบบนี้

สุดท้ายการบริหารสโมสรฟุตบอลที่จะประสบความสำเร็จทั้งในสนามและโลกธุรกิจคงเป็นเรื่องที่วุ่นวายน่าดูล่ะครับ.

เศรษฐา ทวีสิน

0 0 0 0 0

เป็นไงครับ...เรื่องราวของแฟนฟุตบอลยุคโซเชียลเฟื่องฟู

น่าสนใจเลยทีเดียว ลองไปหาดูเต็มๆ ทาง Netflix ก็แล้วกัน

เผื่อจะได้แนวคิดอะไร...กับฟุตบอลไทยเราบ้าง!!!

บี บางปะกง