หน้าแรกแกลเลอรี่

อิเหนาสยอง เหยียบตาย 125 ศพ แฟนบอลคลั่ง แก๊สน้ำตาสยบ ฮือแย่งกันหนี

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

3 ต.ค. 2565 05:09 น.

ช็อกวงการลูกหนัง แฟนบอล “อารีมา เอฟซี” เจ้าถิ่นลีก 1 อินโดนีเซียก่อจลาจล เหตุไม่พอใจหลังทีมรักพ่าย “เปอร์เซบายา สุราบายา” คู่ปรับจังหวัดเดียวกัน กรูลงไปในสนามกว่า 3 พันคน ทำลายข้าวของและทำร้ายเจ้าหน้าที่จนต้องใช้แก๊สน้ำตาสลาย ส่งผลให้แฟนบอลที่กำลังบ้าคลั่งหนีไปทางออกทางเดียวกัน เบียดเสียดจนเหยียบกันตายและขาดอากาศหายใจ แฉยอดตายพุ่ง 125 ศพและอาจจะเพิ่มมากขึ้น ประธานาธิบดีสั่งระงับแข่งขันจนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จ

เหตุสลดแฟนบอลเมืองอิเหนาตายหมู่ครั้งนี้ เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 2 ต.ค. นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย สั่งระงับการแข่งขันฟุตบอลลีก BRI Liga 1 ภายในประเทศทั้งหมด จนกว่าการสอบสวนและการปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยจะเสร็จสิ้น หลังเกิดเหตุสลดแฟนบอลเหยียบกันตายและขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตจำนวนมาก ในการแข่งขันฟุตบอลคู่ระหว่างทีมอารีมา เอฟซี เจ้าบ้าน กับเปอร์เซบายา สุราบายา ที่จังหวัดชวาตะวันออก ทั้ง 2 ทีมเป็นคู่ปรับไม้เบื่อไม้เมาจากเมืองเดียวกัน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างการเปิดเผยของทางการอินโดนีเซียระบุว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 1 ต.ค. ที่สนามกีฬาคานจูรูฮาน ในเมืองเมลัง จังหวัดชวาตะวันออก ทันทีที่กรรมการเป่านกหวีดปิดเกม ทีมเจ้าบ้านพ่ายแพ้ทีมเยือนด้วยสกอร์ 2 ต่อ 3 บรรดาแฟนบอลเจ้าถิ่นต่างพากันกรูลงไปในสนามกว่า 3,000 คน มีทั้งก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ทำลายทรัพย์สิน รวมถึงรถตำรวจ

ขณะเดียวกัน ภาพวิดีโอที่แพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย แสดงให้เห็นฝูงชนพากันวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ ทั้งตำรวจ สุนัขตำรวจ และทหาร คนที่หนีไม่ทันถูกรุมทุบตีด้วยกระบอง ถูกกระโดดถีบจนล้มคว่ำ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้แก๊สน้ำตายิงกว่า 20 นัด ทางการอินโดนีเซียยืนยันว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้สูงถึง 125 ศพ และอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 180 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 11 คน สำหรับผู้เสียชีวิตมีตำรวจรวมอยู่ด้วย 2 ศพ พร้อมยอมรับอีกว่าการแข่งขันครั้งนี้ มีผู้ชมมากถึง 42,000 คน ทั้งที่สนามแข่งมีความจุเพียง 38,000 คนเท่านั้น

นายนิโก อาฟินตา ผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดชวาตะวันออก เปิดเผยว่า การจลาจลที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจใช้แก๊สน้ำตาสลายฝูงชน ทำให้กลุ่มแฟนบอลเจ้าถิ่นที่ลงไปอยู่ในสนาม กรูไปที่ทางออกเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการแออัดเบียดเสียดเหยียบย่ำกันจนเสียชีวิต เพราะขาดอากาศหายใจ ขาดออกซิเจน ส่วนนางโคฟิฟาห์ อินดาร์ พาราวันซา ผู้ว่าการจังหวัดชวาตะวันออกประกาศว่าทางการจะจ่ายเงินช่วยเหลือเหยื่อที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ รายละ 15 ล้านรูเปียอินโดนีเซีย หรือประมาณรายละ 37,052 บาท

สำนักข่าวต่างประเทศและสื่อท้องถิ่นอินโดนีเซียรายงานด้วยว่า สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า ออกแถลงแสดงความเสียใจต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ พร้อมชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยการแข่งขันฟุตบอล ไม่ควรพกพาหรือใช้งานแก๊สสำหรับควบคุมฝูงชน

ต่อมาช่วงค่ำวันเดียวกัน นายอีมิล ดาร์ดัก รองผู้ว่าการจังหวัดชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย ประกาศยืนยันยอดผู้เสียชีวิต 125 คน ระบุว่าทางการยืนยันตัวตนแล้ว 124 คน เหลือ 1 คนยังไม่ยืนยัน ส่วนสาเหตุที่ตัวเลขพุ่งสูง 174 ศพก่อนหน้านี้ เนื่องจากศพผู้เสียชีวิตบางศพถูกส่งต่อไปจากโรงพยาบาลหลักไปยังโรงพยาบาลรองอื่นๆ ทำให้มีการบันทึกชื่อผู้เสียชีวิตซ้ำซ้อน

สำหรับเหตุฝูงชนเหยียบกันตายในสนามกีฬาเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าเหตุการณ์ในปี 2507 การแข่งฟุตบอลรอบคัดเลือกโอลิมปิก ที่กรุงลิมา เปรู มีผู้เสียชีวิต 320 คน บาดเจ็บกว่า 1,000 คน หรือปี 2528 การแข่งยูโรเปียนคัพระหว่างทีมลิเวอร์พูลกับยูเวนตุส กำแพงสเตเดียมพังถล่ม มีผู้เสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บกว่า 600 คน หรือปี 2532 การแข่งรอบรองชนะเลิศถ้วยเอฟเอ คัพ ระหว่างลิเวอร์พูลกับนอตติงแฮมฟอเรสต์ มีผู้เสียชีวิต 97 คน หรือปี 2555 เหตุจลาจลที่สนามกีฬาพอร์ต ซาอิด อียิปต์ มีผู้เสียชีวิต 74 คน บาดเจ็บกว่า 500 คน