หน้าแรกแกลเลอรี่

กฎแปลกในวงการลูกหนัง

มะระหวาน

29 ก.ย. 2566 05:04 น.

ตามปกติแล้วการที่นักฟุตบอลคนหนึ่งสามารถยิงประตูได้ 3 ลูกในเกมเดียวกันก็จะถูกเรียกว่าแฮตทริก แต่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แฮร์รี เคน กองหน้า กัปตันทีมชาติอังกฤษ ส่งบอลเข้าไปตุงตาข่ายถึง 3 ครั้งในเกมที่ “เสือใต้” บาเยิร์น มิวนิก ถล่มโบคุม ไป 7-0 ในเกมบุนเดสลีกาเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การซัลโวไป 3 เม็ดของเคน นั้นไม่ถูกนับว่าเป็นแฮตทริกในวงการลูกหนังเยอรมนี เนื่องจากในธรรมเนียมลูกหนังเมืองเบียร์นั้นจะพิเศษกว่าลีกอื่นๆ ทั่วโลก เพราะการทำแฮตทริกในเยอรมนีนั้นจะต้องยิงติดต่อกัน 3 ลูกโดยไม่มีคนอื่นยิงประตูคั่น แถมทั้งหมดจะต้องเกิดขึ้นครึ่งเดียวกันเท่านั้น

ซึ่งในกรณีของเคนที่ยิงให้โบคุมนั้นเขาเป็นคนยิงประตูลำดับที่ 2, 5 และ 7 ทำให้เงื่อนไขของกองหน้าวัย 30 ปีนั้นไม่ตรงกับธรรมเนียมของฟุตบอลเยอรมนี ทำให้เกมดังกล่าว เคนยิงเข้า 3 ประตู แต่ไม่ได้ทำแฮตทริก

ก่อนหน้านี้ เออร์ลิง ฮาแลนด์ กองหน้าทีมชาตินอร์เวย์สมัยค้าแข้งอยู่กับดอร์ทมุนด์ก็เคยยิงได้ 3 ประตูในเกมที่ “เสือเหลือง” เอาชนะเอาก์สบวร์ก ไป 5-3 แต่ก็ไม่ถูกนับเพราะมีจาดอน ซานโช เพื่อนร่วมทีมมาคั่นกลาง

แต่อย่างไรก็ตามก็มีคนที่ทำแฮตทริกในเวทีบุนเดสลีกาได้เช่นกันนั่นก็คือ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี อดีตกองหน้าของบาเยิร์น มิวนิก ที่ยิงคนเดียว 5 ประตูภายใน 9 นาทีในเกมที่ “เสือใต้” ถล่มโวล์ฟสบวร์ก ไปในปี 2015 ซึ่งทางอดีตกองหน้าทีมชาติโปแลนด์ทำได้ตามธรรมเนียมของลีกเยอรมนีจึงได้รับการขนานนามว่าเป็นแฮตทริก

อย่างไรก็ตาม นักเตะหลายคนก็ไม่ได้สนใจประเพณีนี้มากเท่าไร เพราะทุกคนคิดว่ายิงเข้า 3 ประตูก็คือแฮตทริกตามหลักสากลนั่นเอง

พูดถึงเรื่องแฮตทริกตามประเพณีของเมืองเบียร์แล้วที่ผ่านมาเกมลูกหนังโลกก็มีกฎอะไรแปลกๆ หลายต่อหลายเรื่องเช่นเดียวกัน วันนี้ “มะระหวาน” จะพามาดูกฎแปลกของโลกลูกหนังที่ผ่านมากัน

ห้ามเปลี่ยนตัวสำรอง

ในยุคปัจจุบันการเปลี่ยนตัวเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อช่วยเซฟนักเตะไม่ให้เหนื่อยล้ามากไป แต่ก่อนปี 1965 ในวงการลูกหนังเคยมีกฎไม่มีการอนุญาตให้เปลี่ยนตัวสำรองแม้แต่คนเดียว ทีมต้องเลือกผู้เล่น 11 คนลงสนามเท่านั้น หากผู้เล่นได้รับบาดเจ็บทีมก็จะต้องเล่นตามจำนวนคนที่เหลือโดยไม่มีการเปลี่ยนตัวสำรอง

ไม่มีการล้ำหน้า

ในโลกยุคปัจจุบันนำกฎล้ำหน้าที่ถือว่าเป็นกฎที่ช่วยเหลือนักกีฬาเป็นอย่างมาก เพื่อรอดพ้นในการไม่เสียประตูมาปฏิบัติ แต่ก่อนปี 1863 ยังไม่มีกฎล้ำหน้าเกิดขึ้นกองหน้าสามารถไปยืนกับผู้รักษาประตูได้เลยเพื่อรอบอลส่งมาให้และก็จะยิงประตูได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะดวลกับผู้รักษาประตู 1-1 เท่านั้น สุดท้ายก็มีการคิดกฎล้ำหน้าขึ้น

ไม่มีใบเหลืองใบแดง

ในเกมยุคปัจจุบันกรรมการจะมีใบเหลืองใบแดงเอาไว้ลงโทษผู้เล่น เพื่อกำชับไม่ให้เกมมีความรุนแรงมากเกินไป แต่เมื่อย้อนกลับไปในอดีตใบเหลืองใบแดงนั้นเพิ่งจะมีในปี 1963 เป็นต้นมา โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในระหว่างเกมชิลี กับอิตาลี ผู้ตัดสิน เคน แอสตัน ได้ขอให้จอร์โน เฟอร์รินี ผู้เล่นอิตาลี ออกจากสนามหลังสกัดกั้นอย่างหนัก แต่เจ้าตัวไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ จนทำให้เคนเกิดปิ๊งความคิดให้ใบเหลืองและแดงเพื่อสื่อสารกับนักเตะ

โกลเดนโกล

กฎโกลเดนโกลจะนำมาใช้ในช่วงต่อเวลาพิเศษ หลังจากจบ 90 นาทีไปแล้ว ซึ่งก็คือใครยิงประตูได้ก่อนในช่วงต่อเวลาก็จะชนะไปทันทีโดยที่ไม่ต้องสนใจว่าเวลาเหลือเท่าไร โดยประตูโกลเดนโกลที่คนจดจำมากที่สุดก็คือลูกยิงของดาวิด เทรเซเกต์ ที่ยิงใส่โปรตุเกส จนคว้าแชมป์ยูโร 2000 มาครองได้สำเร็จ

แต่กฎนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะหลายคนมองว่ามันไม่ยุติธรรมและโหดร้ายเกินไป เพราะหากยิงได้ทุกอย่างก็จบทันที จนสุดท้ายก็ถอดออกไปจากกฎของฟีฟ่าไปในที่สุด.

มะระหวาน

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่