หน้าแรกแกลเลอรี่

"หางโจว" โชว์ล้ำ! จีน จัด "เอเชียนเกมส์" หน 3

กัญจน์

10 ก.ย. 2566 04:10 น.

หลังจากต้องหลีก ทางให้กับไวรัสอันตราย โควิด-19 ไปร่วมปี

นับจากนี้ เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์แล้ว ที่หนึ่งในมหาอำนาจกีฬาโลกอย่างจีนจะเป็นเจ้าภาพ จัดมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 “หางโจว 2022” ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-8 ตุลาคม 2566 ที่เมืองหางโจว

เดิมทีจีนจะต้องจัดตามกำหนดเมื่อวันที่ 10-25 กันยายน 2565 แต่สถานการณ์โควิดเมื่อปีก่อนยังรุนแรงเลยต้องเลื่อนมาจัดในปีนี้

และแน่นอนว่าครั้งนี้จีนจะเป็นเจ้าภาพกีฬาใหญ่ระดับเอเชีย เป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ด้วย หลังจากเคยจัดมาแล้วเมื่อครั้งที่ 11 ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2533 และครั้งที่ 16 ที่เมืองกวางโจว เมื่อปี 2553

ขึ้นชื่อว่าจีน ทุกอย่างต้องยิ่งใหญ่ คราวนี้ เปิดเมืองหางโจว ในมณฑลเจ้อเจียง ต้อนรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และบุคลากรด้านสื่อสารมวลชน ในทวีป เอเชียกว่า 20,000 คน ด้วยความยินดียิ่ง

โดยจัดการแข่งขันทั้งหมด 40 ชนิดกีฬา ชิง 481 เหรียญทอง ใน 54 สนาม ซึ่งมีหางโจวเป็น เมืองหลักและกระจายไปยังหนิงโป เหวินโจว หูโจว เชาซิง และจินหัว

ภายใต้ธีม Heart to Heart@future สะท้อน วิถีชีวิตในยุคดิจิทัลของผู้คนในทุกประเทศทั่วเอเชีย ที่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกันได้ผ่านการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์

โลโก้ของเกมนี้ เป็นงานที่มีเส้นสายมาจากพัดจีนผสมผสานกับคลื่นน้ำ ทิวเขา และพระอาทิตย์ ส่วนเหรียญรางวัลดีไซน์มาจาก Cong Jade แจกันหยก ที่ใช้ในพิธีสำคัญจากวัฒนธรรมเหลียงจู ของมณฑลเจ้อเจียง ในสมัยก่อน

ขณะที่มาสคอตเป็นหุ่นยนต์กีฬา 3 ตัว เรียกรวมกันว่า สมาร์ททริปเล็ทส์ (Smart Triplets) สะท้อนถึงความก้าวหน้าทางอินเตอร์เน็ตของเมืองหางโจวและมณฑลเจ้อเจียง

ตัวแรก คองคอง (Congcong) สีเหลือง สีของดิน ความอุดมสมบูรณ์ ตัวแทนซากเมืองโบราณเหลียงจู ชื่อมาจากจี้หยก คอง (Cong) ถูกขุดพบในซากปรักหักพังของเมืองโบราณเหลียงจู ที่มีอายุเก่าแก่ 5,000 ปี ใบหน้าบ่งบอกถึงความกล้าหาญ เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนค้นหาชีวิตที่ดีขึ้น

อีกตัว เหลียนเหลียน (Lianlian) สีเขียว สัญลักษณ์ชีวิตและธรรมชาติ ชื่อนี้หมายถึงทะเลสาบ ที่เต็มไปด้วยใบบัวสีเขียวชอุ่ม ชาวจีนเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์ สงบสุข เหลียนเหลียน ใจดี สง่างาม สะท้อนจิตวิญญาณที่ละเอียดอ่อน สามัคคี สื่อถึงแรง บันดาลใจสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ

ตัวสุดท้าย เฉินเฉิน (Chenchen) ตัวแทนของ ต้าอวินเหอ คลองขุดยาวที่สุดในโลก เชื่อมระหว่าง ปักกิ่งและหางโจว ชื่อมาจากสะพานกงเฉิน สัญลักษณ์สำคัญของการขุดฝั่งเมืองหางโจวที่อายุกว่า 400 ปี สีฟ้าแสดงถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เฉินเฉิน ฉลาด มองโลกแง่ดี สะท้อนการครอบคลุมยุคสมัยปัจจุบัน ที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

ในส่วนของสนามกีฬา จีนต้องการแสดงศักยภาพให้โลกเห็นว่า ไม่ใช่เพียงแค่กีฬาเอเชียน เกมส์ แต่มาตรฐานของการจัดเทียบเท่าโอลิมปิก เลยก็ว่าได้

สนามหลักเป็นหางโจว โอลิมปิก สปอร์ต เซ็นเตอร์ หรือสนามดอกบัวยักษ์ ที่มีความสวยงามอลังการ มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทันสมัย จุผู้ชมได้ 80,000 ที่นั่ง ใช้ในพิธีเปิดและปิด รวมทั้งการแข่งขันกรีฑา และฟุตบอลชาย รอบชิงชนะเลิศ

ส่วนสนามอื่นๆที่สร้างใหม่ขึ้นมา 14 แห่ง ก็มีการออกแบบบนพื้นฐานศิลปวัฒนธรรม ผสมกับ ความทันสมัยได้อย่างลงตัว ขณะที่สนามที่เหลือที่ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม ก็เน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

มาที่หมู่บ้านนักกีฬา หนึ่งในโครงสร้างพื้นสำคัญ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเฉียงถัง ครั้งนี้ จีนก่อสร้างกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษ และไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ในเวลาเดียวกันก็ต้องบอกว่า ระบบภายในล้ำสมัยไม่น้อย มีการนำเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์เข้ามา ช่วยจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล ช่วยในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยภายในหมู่บ้าน

เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายอย่างสูงสุดแก่นักกีฬา เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เข้าพัก

โดยหลังเอเชียนเกมส์จบลง หมู่บ้านแห่งนี้ ก็จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นคอมเพล็กซ์เชิงพาณิชย์ และ อาคารสำนักงานสำหรับบริษัทห้างร้านต่างๆ

อนาคตจะกลายเป็นย่านธุรกิจใหม่ ที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับเมืองหางโจว อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน “บิ๊กต้อม” นายธนา ไชยประสิทธิ์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะหัวหน้านักกีฬาไทย กล่าวว่า จีนได้แยกสนาม แข่งขันจากเมืองหางโจวออกไปอีก 5 เมือง ซึ่งสนาม กับที่พักก็อยู่ใกล้กัน บางชนิดกีฬาอยู่ในโซนหมู่บ้าน นักกีฬาที่แออัด เจ้าภาพก็เปลี่ยนแผนให้แบ่งไปพักโรงแรม

“โดยรวมศักยภาพของจีนถือว่าพร้อมมากๆ ไม่มีอะไรต้องกังวล” นายธนากล่าว

ทั้งหมดนี้เป็นความพร้อมของจีนที่เตรียมการมาอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปี ตั้งแต่ทราบว่าจะได้รับหน้าที่ครั้งสำคัญ

อีกทั้งยังสะท้อนถึงความตั้งใจของเจ้าภาพที่ ต้องการใช้การพัฒนาเมืองของตัวเอง สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เศรษฐกิจที่ยอดเยี่ยมเทคโนโลยี ที่ทันสมัย มาผสมผสานกับเกมกีฬาใหญ่อย่าง เอเชียนเกมส์

เพื่อบอกให้โลกและเอเชียรู้ว่าหางโจวเป็นเมืองที่ล้ำหน้า

ขนาดไหน...

กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง