ไทยรัฐฉบับพิมพ์
มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่กำลังจะเปิดฉากอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ส.ค.นี้ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นครั้งที่ทัพนักกีฬาไทย เข้าร่วมการแข่งขันด้วยจำนวนที่มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
เฉพาะนักกีฬาทีมชาติไทยอย่างเดียว อยู่ที่ 829 คน แยกเป็นชาย 445 คน และหญิง 384 คน
ขณะที่คณะของไทยครั้งนี้ ประกอบด้วย หัวหน้านักกีฬา 1 คน รองหัวหน้านักกีฬา 2 คน อาตาเช่ 1 คน เจ้าหน้าที่ประจำทีม 263 คน แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด 23 คน เจ้าหน้าที่ประจำกองอำนวยการ 17 คน และผู้ตัดสินรับเชิญ 80 คน
เบ็ดเสร็จทัพไทยมีทั้งหมด 1,216 คน
“จาการ์ตา ปาเล็มบัง 2018” นักกีฬาไทยเข้าร่วมการชิงชัยครบทั้ง 40 ชนิดกีฬา ชิง 642 เหรียญทอง และอีก 2 กีฬาสาธิต ที่เจ้าภาพจัดการแข่งขัน ทั้งที่กรุงจาการ์ตา และเมืองปาเล็มบัง
เป้าหมายหลัก ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะคณะกรรมการเตรียมนักกีฬาไทย ร่วมกันพิจารณากับสมาคมกีฬา ตัวเลขออกมาที่ 17 เหรียญทอง 15 เหรียญเงิน 28 เหรียญทองแดง
โดยได้ลุ้นจากเรือพายแคนู/คยัค 2 เหรียญทอง, จักรยาน 1 เหรียญทอง, ยกน้ำหนัก 1 เหรียญทอง, เรือใบ 2 เหรียญทอง, เทควันโด 1 เหรียญทอง, เรือยาว 2 เหรียญทอง, โบว์ลิ่ง 1 เหรียญทอง, ยูยิตสู 1 เหรียญทอง, ปันจักสีลัต 1 เหรียญทอง, ตะกร้อ 4 เหรียญทอง และเจ็ตสกี 1 เหรียญทอง
ส่วนกีฬาใหญ่ๆ อย่างฟุตบอลชาย ขอทำให้ดีที่สุด ขณะที่ฟุตบอลหญิง หวังเข้ารอบรองชนะเลิศ ด้านมวยสากลครั้งนี้ขอแค่ 2 เหรียญเงิน ส่วนวอลเลย์บอลในร่มหญิง ลุ้นเข้าตัดเชือก ด้านแบดมินตัน เป้าติด 1 ใน 3 เป็นต้น
มองว่าต้องทำให้ดีกว่าเดิม จากที่เอเชียนเกมส์ เมื่อ 4 ปีก่อน ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ทำได้ 12 เหรียญทอง 7 เหรียญเงิน 28 เหรียญทองแดง ได้อันดับ 6 เป็นรองจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น คาซัคสถาน และอิหร่าน ตามลำดับ
ขณะที่คีย์แมนกีฬาไทย ให้ความเห็นเรื่องเหรียญทองไว้หลากหลาย เริ่มจาก “บิ๊กจา” พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ คาดการณ์ว่าน่าจะได้ 15-20 เหรียญทอง ส่วน “บิ๊กต้อม” นายธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้านักกีฬาไทย มั่นใจศักยภาพนักกีฬา จะทำได้ 15-20 เหรียญทองเช่นกัน
ด้านสมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศ ไทย ที่จัดงานมีทเดอะเพรส ประเมินความหวังของไทย ร่วมกับสมาคมกีฬา เคาะตัวเลขล่าสุด มีแนวโน้มทำได้ถึง 20 เหรียญทอง 8 เหรียญทองแดง
ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทัพไทยจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ต้องเอาใจช่วยกันให้ดี
อย่างไรก็ตาม เรื่องของเหรียญทองของนักกีฬาทีมชาติไทย ที่ผ่านมามีการพูดถึงกันมาก จากเดิมที่ในทุกๆมหกรรมกีฬา กกท. จะมีวางเอาไว้เป็นปกติ เพื่อให้เป็นเป้าหมาย ที่นักกีฬาจะต้องก้าวไปให้ถึง ให้แฟนกีฬาได้เห็นภาพชัดขึ้น
แต่ก่อนหน้านี้ไม่นาน เป็นที่น่าตกใจ ที่อยู่ดีๆ ก็จะไม่มีการกำหนดเป้าหมายเสียดื้อๆ ด้วยเหตุผล ไม่อยากให้นักกีฬาเกิดความกดดันมากเกินไป ก่อนที่จะค่อยๆเปิดเป้าหมายมาทีละนิด กกท.วางไว้ที่ 17 เหรียญทองดังที่กล่าวไป
ในประเด็นว่าเป้าหมายเป็นสิ่งที่กดดัน หรือเป็นแรงจูงใจของนักกีฬากันแน่ เรื่องนี้ “บิ๊กต้อม” นายธนา กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นแรงจูงใจ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นเป้าหมายที่ควรต้องมี
นายธนากล่าวต่อว่า นักกีฬาไม่ควรคิดว่าเป้าหมายเป็นแรงกดดันของสังคม เพราะเราใช้งบประมาณของรัฐบาล ใช้เงินภาษีของประชาชน ในการเดินทางไปแข่งขัน
“ใช้เงินรัฐ ก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องตอบสังคมได้ ไม่ใช่เงินส่วนตัวของใคร ไม่ใช่เงินส่วนตัวของนักกีฬา อยากให้นักกีฬามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีสมาธิ ทำหน้าที่ของตนเองอย่างสุดความสามารถ สู้ให้ถึงที่สุด เพราะเราคือตัวแทนทีมชาติไทย” หัวหน้านักกีฬากล่าว
เรียกได้ว่าเป็นข้อคิดที่ทุกคนต้องตระหนักกันให้มาก เพราะถ้านักกีฬาไม่สามารถอยู่ภายใต้ความกดดันใดๆได้ ก็ดูไม่ออกเลยว่าจะไปชนะใครในโลกนี้ได้
ทุกวันนี้ นักกีฬาทีมชาติไทยบางส่วนเริ่มมีทัศนคติที่ไม่สู้ดี จงทบทวนบทบาทหน้าที่กันเสียใหม่ คิดไตร่ตรองให้รอบคอบว่า เราคือใคร
ชอบรับแต่ชอบไม่ชอบรับผิด ล้มเหลวมาก็ทำเงียบๆไป
ดูไม่เข้าท่าเสียเลย...
กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง
ณรงค์วิทย์ ศรีวัฒนา ภาพ