ฟังสองมุม ใครถูกใครผิด และเพราะอะไรคุณหมอเกาหลีใต้ถึงต้องลุกขึ้นประท้วงรัฐบาล?"รัฐบาลจะต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากสาธารณชน หากยังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของคณะแพทย์และพยายามที่จะปราบปรามพวกเรา"ชู ซู โฮ (Joo Soo-ho) หัวหน้าคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินแผนกประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ สมาคมแพทย์เกาหลีใต้ (Korean Medical Association) หรือ KMA กล่าวถึงการเดินขบวนประท้วงของกลุ่มแพทย์ฝึกหัดหลายพันคนที่กรุงโซล3มี.ค.24 : 13วันของการประท้วงหยุดงานของหมอฝึกหัดในเกาหลีใต้ (เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 20ก.พ.24)20ก.พ.24 :"แพทย์ฝึกหัดซึ่งถือเป็นกำลังหลักที่สำคัญสำหรับวงการแพทย์ และนักเรียนแพทย์ซึ่งเป็นกำลังหลักในอนาคตของวงการแพทย์ ไม่ควรร่วมมือกัน จับชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นตัวประกัน เพราะนอกเหนือไปจากความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยสาธารณแล้ว การปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนเป็นเหตุผลในการดำรงอยู่ของรัฐ และเป็นความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญมอบให้แก่รัฐบาล"ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ผู้นำเกาหลีใต้ เหตุผลในการประท้วงของเหล่าคุณหมอแพทย์ฝึกหัดและนักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศนัดหยุดงานประท้วงนโยบายของรัฐบาลเกาหลีที่จะเพิ่มโควตานักศึกษาแพทย์ถึง 2,000 คน จากเดิมที่มีโควตาผลิตนักศึกษาแพทย์ 3,058 คนต่อปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป เพราะอะไรเกาหลีใต้จึงต้องเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์? การขยายตัวของจำนวนผู้สูงอายุ :อ้างอิงจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ เกาหลีใต้จะเข้าสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ลำดับที่ 2 ของโลกในปี 2050 โดยจะมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 39.4% เป็นรองเพียง เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 40.6%ในช่วงเวลาเดียวกันเท่านั้น ข้อมูลประชากรเกาหลีใต้ ณ ปัจจุบัน (ปี2024)จำนวนประชากร : 51,742,000 คนจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป : 14,199,000 คน (27.4%)สัดส่วนเพศหญิงในกลุ่มประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป : 7,752,654 คน (54.6%) จำนวนประชากรที่มีอายุระหว่าง 15 - 64 ปี : 36,092,000 คน (69.8)%ค่าเฉลี่ยอายุขัย : 84.3 ปี อัตราการเจริญพันธ์ุ (ค่าเฉลี่ยที่ผู้หญิง 1 คน จะมีบุตรตลอดช่วงชีวิต) : 0.72 โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีทารกแรกเกิดเพียง 230,000 คน ซึ่งลดลงถึง 7.7% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2022 (249,186คน) โดยเมืองหลวงอย่างกรุงโซล ถือเป็นพื้นที่ ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุด คือ 0.55ด้วยจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ คาดการณ์ว่า ภายในปี 2035 ประเทศจะประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์ สำหรับทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนมากถึง 15,000 คนจำนวนแพทย์เกาหลีใต้ต่อประชากร? อ้างอิงข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD สถิติปี 2022 : จำนวนแพทย์ : 2.6 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ซึ่งอยู่ที่ 3.7 คน ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน แต่หากไม่นับรวมจำนวนแพทย์แผนโบราณ สัดส่วนนี้จะลดลงเหลือเพียง 2.2 คน ต่อจำนวนประชากร 1,000 คนจำนวนผู้จบการศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ : 7.3 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 คนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ซึ่งอยู่ที่ 14 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 คนจากข้อมูลดังกล่าว รัฐบาลเกาหลีใต้จึงอ้างว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะกลุ่มศัลยแพทย์ , กุมารแพทย์ , สูตินรีแพทย์ และ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือ แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน และเพื่อเป็นการตอบสนองต่อความกังวลที่ว่า การเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์อย่างกระทันหันอาจทำให้เกิดปัญหาในแง่คุณภาพการผลิตบุคลากร รัฐบาลเกาหลีใต้จึงเตรียมแผนสำหรับการเพิ่มจำนวนอาจารย์แพทย์ตามคณะแพทย์ศาสตร์ในสถาบันการศึกษาต่างๆอีกอย่างน้อย 1,000 คน ภายในปี 2027 ปัจจุบันจากรายงานของสื่อเกาหลีใต้ มีอาจารย์แพทย์อยู่ในคณะแพทย์ศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยใหญ่ๆของรัฐ ประมาณ 1,200 - 1,300 คน รายได้แพทย์เกาหลีใต้ อ้างอิงข้อมูลจาก OECD ผ่านการประเมินด้วย Purchasing Power Parity หรือ PPP ซึ่งอิงจากค่าครองชีพในแต่ละประเทศ พบว่า ปี 2020 ค่าเฉลี่ยรายได้สำหรับแพทย์เฉพาะทางในเกาหลีใต้อยู่ที่ 192,749 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (6,929,712บาท) ขณะที่ แพทย์อิสระในเกาหลีใต้ จะมีค่าเฉลี่ยรายได้ 298,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (10,742,457บาท) เหตุผลและข้อโต้แย้งของแพทย์เกาหลีใต้ ชู ซู โฮ (Joo Soo-ho) หัวหน้าคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินแผนกประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ สมาคมแพทย์เกาหลีใต้ (Korean Medical Association) หรือ KMA ซึ่งเป็นองค์กรที่มีแพทย์ในเกาหลีใต้ที่ใหญ่ที่สุดเนื่องจากมีจำนวนสมาชิกมากถึง 140,000 คน ชี้แจงผ่านสื่อถึงกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นว่า... ปัจจุบันเกาหลีใต้ไม่ได้อยู่ในภาวะขาดแคลนแพทย์ อีกทั้งการเพิ่มจำนวนแพทย์เข้าไปในระบบสาธารณสุขไม่ได้เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องอีกด้วย...จำนวนแพทย์ต่อสัดส่วนประชากร : จากข้อมูลของ OECD ในปี 2020 ระบบสาธารณสุขของเกาหลีใต้ สามารถรองรับผู้ป่วยนอกด้วยค่าเฉลี่ยที่สูงถึง 14.7 คนต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 5.9 คนต่อปีอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์ได้ในราคาประหยัดในวันที่และเวลาที่ต้องการ เช่น กรณีผ่าตัดต้อกระจก ชาวเกาหลีใต้ไม่จำเป็นต้องรอคิวเหมือนในยุโรป ซึ่งอาจต้องรอคิวนาน 10-12 วัน แถมยังมีค่ารักษาที่สูงกว่ากันมากด้วย ด้านข้อมูลเรื่องจำนวนแพทย์ที่รัฐบาลเกาหลีใต้อ้างว่าขาดแคลนนั้น หากพิจารณาให้ดีจะพบว่าตามสถิติของ OECD นั้น จำนวนแพทย์ต่อสัดส่วนประชากรของเกาหลีใต้ ใกล้เคียงกับ ประเทศชั้นนำอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา (ญี่ปุ่น 2.6 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน , สหรัฐฯ 2.7 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน) นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ โรงพยาบาลในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นของเอกชน เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งแตกต่างจากกรณีของอังกฤษและเยอรมนี ที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นของรัฐ จนเป็นผลให้มีแพทย์จำนวนมากและมีความต้องการบุคคลากรในระดับสูง กุมารแพทย์ขาดแคลน : จำนวนประชากรอายุต่ำกว่า 15 ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 สูงถึง 9.9 ล้านคน แต่ในปี 2023 ลดลงมาเหลือเพียง 5.4 ล้านคน ซึ่งสวนทางกับจำนวนกุมารแพทย์ที่รัฐบาลเกาหลีใต้อ้างว่าขาดแคลน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากตัวเลข 3,400 คน เป็น 6,200 คน ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ บรรดาพ่อและแม่ของเด็กส่วนใหญ่ยังมักนิยมเลือกนัดพบกุมารแพทย์ในช่วงเช้าก่อนที่จะไปทำงาน จนทำให้คิวการรักษาแน่นขนัด ซึ่งแตกต่างจากช่วงบ่ายที่แพทย์แทบไม่มีคิวนัดหมายใดๆเลยด้วย ความแออัดในห้องฉุกเฉิน : สาเหตุที่มักทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เป็นเพราะ...ชาวเกาหลีใต้ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบของแผนกฉุกเฉิน หรือ ERดังจะเห็นได้จากในปัจจุบัน ผู้ป่วยที่มีอาการไม่ร้ายแรง มักจะพยายามร้องขอเข้าไปรักษาตัวในแผนก ER จนกระทั่งกลายเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ป่วยหนักที่ต้องการได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะมีแผนก ER ไม่เพียงพอช่องว่างระหว่างเขตเมืองและชนบท สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดช่องว่างทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบทและเขตเมือง ไม่ได้เกิดจากจำนวนแพทย์ แต่เป็นเพราะคนในพื้นที่ชนบทและชานเมือง มักจะเลือกไปเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลในกรุงโซล แม้ว่าในพื้นที่จะมีสถานพยาบาลที่สามารถให้การรักษาได้ในระดับเดียวกันก็ตาม เพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์ รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาผิดจุด เพราะประชาชนต้องการคุณภาพมากกว่าปริมาณ แต่แนวทางของรัฐบาลในเวลานี้ ไม่ต่างอะไรกับพยายามบอกว่าเราควรสร้างร้านอาหารเพิ่มขึ้นอีก เพราะมีคนไปเข้าแถวเพื่อรอกินอาหารจากร้านยอดนิยมมากกว่า คำขู่และการเผชิญหน้า รัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศขีดเส้นตายให้วันที่ 29ก.พ.24 เป็นวันสุดท้าย สำหรับบรรดาแพทย์ฝึกหัด ที่จะสามารถกลับไปทำงานได้โดยไม่มีความผิด พร้อมกับขู่ว่าจะมีการนำมาตรการทางกฏหมาย ตามพระราชบัญญัติการให้บริการทางการแพทย์ (Medical Service Act) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การให้ความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพมาบังคับใช้ ซึ่งอาจนำไปสู่การดำเนินคดีอาญา ซึ่งอาจต้องรับโทษจำคุก 3 ปี และปรับอีก 30 ล้านวอน (807,390บาท) และนำไปสู่การเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมในที่สุด ขณะเดียวกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ ยังย้ำด้วยว่า แม้กลุ่มแพทย์ฝึกหัดจะพยายามโต้แย้งว่า การลาออกจากงาน เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเลือกอาชีพ แต่กฏระเบียบบางอย่างสามารถนำไปใช้เพื่อปกป้องผลกระโยชน์ส่วนรวมและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ด้วยเหตุนี้คำสั่งให้แพทย์ฝึกหัดกลับไปปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติการให้บริการทางการแพทย์ และสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สำหรับความพยายามของแพทย์ฝึกหัดที่พยายามหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินการตามกฏหมาย ด้วยการปิดเครื่องหรือเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ รวมถึงย้ายที่อยู่ เพื่อหวังเป็นข้ออ้างว่า ไม่ได้รับทราบคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่นั้น รัฐบาลเกาหลีใต้เตือนว่า จะไม่มีผลในทางกฏหมายแต่อย่างใด เนื่องจากได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปแจ้งคำสั่งถึงบ้านพัก และส่งอีเมล์คำสั่งถึงแพทย์ฝึกหัดทุกคน รวมถึงยังมีประกาศคำสั่งดังกล่าวบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขแล้วยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงสาธารณสุข ยังยื่นคำร้องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนนำไปสู่การนำกำลังบุกเข้าไปค้นสมาคม KMA ซึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการต่อต้านรัฐบาลเกาหลีใต้ รวมถึงทำการสอบสวนบรรดาผู้บริหารสมาคมทั้งในอดีตและปัจจุบันหลายต่อหลายคน ฐานยุยงให้เกิดการประท้วงหยุดงานของบรรดาแพทย์ฝึกหัดในครั้งนี้ เส้นตายของรัฐบาลเกาหลีใต้ สิ้นสุดเวลา 19.00 น. ของวันที่ 28ก.พ.2024 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ รายงานว่า มีแพทย์จำนวนมากถึง 9,997 คน จาก 100 โรงพยาบาลทั่วประเทศเกาหลีใต้ หรือ คิดเป็น 80.2% ของจำนวนแพทย์ฝึกหัดทั้งหมด (ประมาณ 13,000 คน) ได้พร้อมใจกันยื่นจดหมายลาออก นอกจากนี้ บรรดานักศึกษาแพทย์ ในคณะแพทย์ศาสตร์ใน 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำของเกาหลีใต้ ยังคงร่วมกันงดเข้าชั้นเรียนอย่างพร้อมเพรียงต่อไป อย่างไรก็ดี ณ สิ้นสุดวันที่ 1มี.ค.2024 ซึ่งเลยเส้นตายที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดไว้ 1 วัน กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ ระบุว่า จากคำสั่งถึงแพทย์ฝึกหัดให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่จำนวน 9,438 คำสั่งนั้น มีจำนวนแพทย์ฝึกหัดที่ปฏิเสธคำสั่งดังกล่าวมากถึง 7,854 คำสั่ง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ สัญลักษณ์ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า...พร้อมที่คัดค้านนโยบายเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์ของรัฐบาลเกาหลีใต้อย่างแข็งกร้าวต่อไป ผลลัพท์จากการนัดหยุดงานประท้วง การดำเนินการของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศเกาหลีใต้ แทบต้องหยุดชะงักลงทั้งหมด โดยเฉพาะห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน และห้องผู้ป่วยวิกฤต เนื่องจากไร้แพทย์ฝึกหัดเข้าเวรเพื่อคอยทำหน้าที่ดูแลคนไข้ อีกทั้งคิวผ่าตัดรวมถึงการนัดหมายสำหรับขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยหนักต่างๆ ต้องถูกเลื่อนออกไปทั้งหมด หมายเหตุ จากรายงานของสื่อเกาหลีใต้ สัดส่วนของแพทย์ฝึกหัดใน 5 โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ที่มีผู้ใช้บริการสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 39% ของจำนวนแพทย์ที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน กราฟฟิก : Anon Chantanantติดตามอ่าน storytelling อื่นๆที่น่าสนใจซอน เฮือง มิน การให้อภัยเพื่อโอกาสและอนาคตของเกาหลีใต้ ฟุตบอลเกาหลีใต้ ล้วงเบื้องลึกความขัดแย้งและล้มเหลวVision Pro กลยุทธ์เกมยาวธุรกิจ สู่อนาคตของ Appleพนันออนไลน์ รูปแบบการเติบโตและความเสี่ยงในอนาคตรุ่งอรุณใหม่ที่มีนัยสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน