หลังจากหอบหิ้วมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อไปเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ หรือสปอร์ต แอคคอร์ด คอนเวนชั่น (Sport Accord Convention) ในการประชุมงานเดียวกัน ประจำปี 2017 เมื่อวันที่ 2-7 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่เมืองออฮูส ประเทศเดนมาร์ก

ในที่สุดฝ่ายไทย นำโดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ก็ได้รับข่าวดี เมื่อที่ประชุมสปอร์ต แอคคอร์ด ประกาศอย่างเป็นทางการให้ไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว ในปี 2018 โดยเอาชนะชาติชั้นนำอย่างอิตาลี และจีน ไปได้

เพื่อให้เห็นภาพของงานสปอร์ต แอคคอร์ด มากขึ้น “บิ๊กเสือ” นายสกลเล่าให้ฮอตสปอร์ต ฟังว่า สปอร์ต แอคคอร์ด เป็นองค์กรกีฬาที่รวบรวมกลุ่มสหพันธ์กีฬาที่อยู่นอกมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน และฤดูหนาวเอาไว้ โดยกลุ่มเกมกีฬาของสปอร์ต แอคคอร์ด มีเวิลด์เกมส์ เวิลด์บีชเกมส์ เวิลด์มาเชียลอาร์ตเกมส์ เป็นต้น

การประชุมของสปอร์ต แอคคอร์ด จะมีขึ้นทุกๆปี ยังจะมีบรรดาสหพันธ์กีฬาที่บรรจุในโอลิมปิกเกมส์ และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มาร่วมงานด้วย

เรียกว่าเป็นการรวมพลคนกีฬาโลกเอาไว้ก็คงไม่ผิดนัก

ผู้ว่าการ กกท. เล่าต่อว่า นอกจากการประชุม ซึ่งจะมีวาระสำคัญๆ ในการเตรียมการจัดงานกีฬารายการต่างๆ แล้ว พื้นที่โดยรอบ ก็จะมีการออกบูธประชาสัมพันธ์งานกีฬาของชาติต่างๆ ทั่วโลกควบคู่กันไปว่าจากนี้จะมีเกมใหญ่ๆ อะไรเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังจะมีคนจัดงาน มีบริษัทเอกชนต่างๆมาประชาสัมพันธ์ตนเองให้สังคมโลกได้รับรู้ เพื่อต่อยอดไปสู่ธุรกิจกีฬา การจัดงานอื่นๆต่อไป

สำหรับการเตรียมเป็นเจ้าภาพของไทย นายสกลกล่าวว่า เช่นกัน งานสปอร์ต แอคคอร์ด คอนเวนชั่น ในไทย ซึ่งจะจัดวันที่ 15-20 เม.ย. 2018 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ราชประสงค์ ก็จะมีประธานสหพันธ์กีฬาทั้งที่อยู่นอก และในโอลิมปิกเกมส์มาประชุมกันคึกคัก ร่วมด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้อง ผู้ติดตาม ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน

...

“สปอร์ต แอคคอร์ด ต้องการให้ไทยจัดประชุมในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะนอกจากการประชุม การออกบูธงานต่างๆ จากคนทั่วโลก เกิดธุรกิจ อุตสาหกรรมกีฬา เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกีฬา เราก็ยังจะได้โชว์ประเพณีของไทยไปในคราวเดียวกันด้วย”

นายสกลยังกล่าวอีกว่า หลังจากนี้ภายใน 45 วัน เมื่อสรุปรายละเอียดที่ยอมรับได้ของทั้ง 2 ฝ่าย เช่น เรื่องโรงแรมที่พักของผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งให้เราเตรียมไว้ 1,100 ห้อง แยกเป็น 148 ห้องของประธานสหพันธ์ฯ ซึ่งเจ้าภาพรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ที่เหลือเราสามารถจองให้ได้ แต่หากมาไม่ครบ เราไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ โดยจะให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจอีกครั้ง และมีการลงนามในสัญญาร่วมกัน โดยฝ่ายไทยจะเป็น ตัวแทนลงนาม

จากนั้นอีกไม่เกิน 10 วัน ไทยเราก็จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์การจัดงาน 1,000,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 35 ล้านบาท ให้สปอร์ต แอคคอร์ด โดยที่งบของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการจัดงานนี้รวม 200 ล้านบาท เราจะใช้ให้คุ้มค่าที่สุด จะประชาสัมพันธ์ให้คนกีฬาทั่วโลกมาร่วมงาน ให้ไทยเป็นสปอร์ต ฮับ ของอาเซียนและเอเชีย อย่างแท้จริง

“จะมีผู้ติดตามของผู้เข้าประชุมเดินทางมาไทย เกิดการท่องเที่ยว ใช้จ่าย การประชุมยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสหพันธ์กีฬากับสมาคมกีฬาไทย สามารถต่อยอดไปถึงการจัดการแข่งขันในระดับนานาชาติต่างๆ ในวันข้างหน้า อีกทั้งยังสร้างศักยภาพให้บริษัทเอกชนด้านกีฬาของเราแข็งแกร่งจากงานนี้ด้วย” ผู้ว่าการ กกท. กล่าว

ต้องบอกว่างบประมาณ 200 ล้านบาท ที่จะใช้จัดงาน ใครหลายคนอาจดูว่ามาก แต่ถ้าเทียบกับสิ่งที่จะได้กลับคืนมาดังที่กล่าวไป ดูแล้วค่อนข้างสมน้ำสมเนื้อ และคุ้มค่า

บางครั้งราคาที่ต้องจ่าย ก็นำมาซึ่งคุณภาพ ประโยชน์ ความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ของประเทศ

ที่ต้องแลกเปลี่ยนกัน...

กัญจน์ ศิริวุฒิ