มองอนาคต 15 ปีข้างหน้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 5.0 คาด “สัมผัสมนุษย์” จะกลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้งหลังหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน ประเมินโรงงานในยุค 5.0 จะใช้หุ่นยนต์ทำงานซ้ำซาก ขณะที่มนุษย์ทำหน้าที่ “สถาปนิกสร้างสรรค์” ผนวกกำลังกันเป็นพลังชี้ขาด
ดาร์เรลล์ อดัมส์ หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท เขียนบทความเรื่อง Industry 5.0: The Future of Manufacturing in 2035 (หุ่นยนต์ในยุคอุตสาหกรรม 5.0 อนาคตของการผลิตในปี พ.ศ.2578) ระบุ โรงงานในปี 2035 (พ.ศ. 2578) หรือในอีก 15 ปีข้างหน้าจะแตกต่างจากโรงงานในปัจจุบัน
ความแตกต่างอยู่ที่เครื่องจักรเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และหุ่นยนต์ ซึ่งเข้ามามีบทบาทในวงการอุตสาหกรรม ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกจนถึงยุคปัจจุบัน แต่เทรนด์ของการใช้ “สัมผัสมนุษย์” (Human Touch) จะเข้ามาอยู่ในระบบโรงงานแห่งอนาคตในอีก 15 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ความหวาดกลัวว่าหุ่นยนต์จะถูกนำมาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 (ยุคปัจจุบัน) เป็นความเข้าใจผิด ทำให้หุ่นยนต์ต้องแบกรับปัญหาจากความเชื่อที่ว่า “หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์” ทั้งที่จริงๆแล้ว หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ ไม่ได้เข้ามาแทนที่ แต่ช่วยสร้างงานใหม่ๆ
จากการศึกษาของฮาร์วาร์ด บิซิเนส รีวิว (Harvard Business Review) พบว่า 20-80% ของงานที่ได้รับมอบหมายมีระบบอัตโนมัติเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ไม่มีงานใดที่ทำด้วยระบบอัตโนมัติได้ 100% นั่นหมายความว่าแม้จะก้าวล้ำสักเพียงใด หุ่นยนต์ยังไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้อย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคล่าสุด“อุตสาหกรรม 4.0” นำไปสู่ยุคที่โรงงานทำงานด้วยระบบอัตโนมัติสมบูรณ์แบบ ยกระดับสู่การเป็นโรงงาน light out factory ที่สามารถผลิตสินค้าตามความต้องการได้อย่างรวดเร็ว คุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแส light out factory เริ่มสะดุดในการติดตั้งกระบวนการผลิต ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เชื่อว่าแรงงานมนุษย์จะกลับมาเป็นกลไกสำคัญในระบบอุตสาหกรรมอีกครั้งในยุค 5.0
...
ดาร์เรลล์ อดัมส์ อธิบายว่า ผู้บริโภคจะกลับมาต้องการสินค้าที่ผ่านสัมผัสมนุษย์ (Human Touch) ซึ่งไม่สามารถพบได้ในภาคการผลิตแบบ light out ขนาดใหญ่ โรงงานในยุค 5.0 ยังต้องการผลิตสินค้าในราคาต่ำปริมาณสูงเช่นเดิม แต่จะไม่ใช่เทคโนโลยีที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของมนุษย์เหมือนในยุค 4.0 โดยในยุค 5.0 มนุษย์จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
แรงงานที่เป็นที่ต้องการในยุคต่อไป คือคนที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ เช่น อาจผ่านการฝึกปรือฝีมือหรือใช้สายตาที่มีวิสัยทัศน์ ตลอดจนประสาทสัมผัสอื่นๆเพื่อประเมินและดำเนินการปรับเปลี่ยนงานที่ผลิตขึ้นมาให้มีความเหมาะสม อาจมีความเข้าใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับวัสดุและกระบวนการผลิต ทั้งยังอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่คนงานที่ใช้เวลาทั้งวันไปกับงานซ้ำซากที่น่าเบื่อหน่าย หรืองานที่เป็นอันตรายซึ่งสามารถใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรทำงานแทนได้และทำได้ดีกว่า จึงน่าจะถึงบทอวสานของคนทำงานในสายการผลิตแบบดั้งเดิมเสียที
โรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม 5.0 ในปี 2035 จะว่าจ้างแรงงานที่มีทักษะมนุษย์ในรูปแบบเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในทางศิลปะ ความรู้ด้านวัสดุต่างๆ ความเข้าใจกระบวนการ รสนิยมที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ ความเข้าใจในประเพณีต่างๆ และการตัดสินใจที่ซับซ้อน
งานเหล่านี้จะไม่เหมือนงานในโรงงานแบบเดิมๆ ที่ “ต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบทำ” (doing things I don’t like to do)” เทรนด์ใหม่จะทำให้แรงงานมนุษย์รักงานของตัวเองและทำให้โลกเป็นสถานที่ทำงานที่ดียิ่งขึ้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร โดยหุ่นยนต์ทำงานที่ต้องใช้กำลังมากและเป็นงานซ้ำซาก ในขณะที่มนุษย์ทำหน้าที่เป็น “สถาปนิกสร้างสรรค์” โดยความคิดสร้างสรรค์กับเทคโนโลยีที่ชาญฉลาด จะกลายเป็นพลังชี้ขาดในปี 2035.