• พี่ปี 2 พาทำความรู้จักหลักสูตรสาขาภาษาไทย มศว ล่าสุด อัปเดตปี 65 ไขข้อสงสัย ภาษาไทยในระดับอุดมศึกษา เรียนอะไร มีกิจกรรมอะไร และจบไปทำงานอะไรได้บ้าง
  • ภาษาไทย หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) กับ ภาษาไทย หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ต่างกันอย่างไร
  • รีวิวจากรุ่นพี่ศิษย์เก่า เรียนจบภาษาไทย นำไปปรับใช้ในการทำงานอย่างไร
  • เช็กรายละเอียดในการรับสมัคร TCAS67


ใกล้เข้ามาอีกครั้งสำหรับ Dek67 กับการรับสมัครรอบที่ 3 Admission ซึ่งรอบนี้จะเน้นการยื่นคะแนนเป็นส่วนใหญ่ โดยวันนี้จะพามารู้จักกับอีกสาขาที่น่าใจ คือสาขาวิชาภาษาไทย หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมรีวิวจากทั้งนิสิตปัจจุบัน และรุ่นพี่ศิษย์เก่า เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางเลือกให้กับน้องๆ Dek67 ที่กำลังมองหาสาขาที่ใช่เพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

ความเป็นมาของคณะมนุษยศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2518 มีวิสัยทัศน์ว่า เป็นผู้นำในศาสตร์การพัฒนามนุษย์และการสื่อสาร โดยปัจจุบันในระดับปริญญาตรี ภาคภาษาไทย เปิดสอนทั้งหมด 10 หลักสูตร ได้แก่ 1.ภาษาไทย (กศ.บ.), 2.ภาษาอังกฤษ (กศ.บ.), 3.จิตวิทยา (วท.บ.), 4.สารสนเทศศึกษา (ศศ.บ.), 5.วรรณกรรมสำหรับเด็ก (ศศ.บ.), 6.ปรัชญาและศาสนา (ศศ.บ.), 7.ภาษาไทย (ศศ.บ.), 8.ภาษาอังกฤษ (ศศ.บ.), 9.ภาษาตะวันออก (ศศ.บ.) และ 10.ภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (ศศ.บ.) นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรนานาชาติ 2 หลักสูตร ได้แก่ 1.ภาษาเพื่ออาชีพ (ศศ.บ.) และ 2.ภาษาเพื่อการสื่อสาร (ศศ.บ.)

นางสาวธรัญรัตน์ ธาดาอัครัตน์กุล นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เล่าว่า คณะมนุษยศาสตร์เป็นคณะที่คนรู้จักและมีภาพจำที่หลายคนมองว่า คณะนี้คงเรียนแต่ภาษากับวรรณกรรมกัน ซึ่งในตอนแรกที่ได้เข้าคณะนี้ ก็มีภาพจำเช่นนั้นเหมือนกัน ซึ่งที่บอกว่ามีภาพจำอย่างนั้นในตอนที่เข้าคณะนี้แล้วคือเรื่องจริงค่ะ เพราะจริงๆ แล้วตัวพี่ไม่ได้ทำความรู้จักกับคณะนี้มาก่อนเลย ในตอนที่ให้เลือกอันดับ แค่รู้สึกว่า ต้องการเลือกที่จะเรียนภาษาไทยรวมถึงวรรณคดีไทยด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองอยากเรียน และเป็นสิ่งที่ชอบและรัก เมื่อเห็นว่าที่ มศว มีสาขาวิชานี้ ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ จึงตัดสินใจเลือกเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตนี้

...

แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนที่คณะนี้ สาขานี้ ภาพจำทุกสิ่งเหล่านี้ได้หายไปทันที คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย ให้สิ่งที่มากกว่าการเรียนภาษาไทยและวรรณคดีไทย นั่นคือการเข้าใจถึงความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ของผู้คน เมื่อก่อนเราอาจมองแค่ว่า ภาษาไทยและวรรณคดีไทยเป็นสิ่งที่ต้องเรียนเพื่อไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และเรียนเพื่อให้ลูกหลานในอนาคตได้สืบทอดต่อกันไปเท่านั้น แต่พอได้เรียนแล้ว กลับทำให้ได้รู้สึกถึงสภาพสังคม ค่านิยม ความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิด วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ของผู้คนในอดีต ที่อยู่ในภาษาไทยและวรรณคดีไทยนั่นเอง

ที่สำคัญอยู่คณะนี้ไม่ว่าเราจะเป็นคน introvert มากแค่ไหน แน่นอนว่าเรียนจบไปแล้ว ได้ทักษะการเข้าสังคมเพิ่มมากยิ่งขึ้นแน่นอน เพราะจะได้เรียนรู้ถึงทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟัง พูด อ่าน เขียน วิเคราะห์ ทักษะทั้ง 5 สิ่งเหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแทบทุกอาชีพในอนาคตได้อย่างแน่นอนอีกด้วย

กศ.บ. - ศศ.บ. ภาษาไทย มศว ต่างกันอย่างไร?

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) และ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) ซึ่งน้องๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งต้องบอกเลยว่าจะแตกต่างกันในเนื้อหาที่เรียน และปลายทางในการประกอบอาชีพในอนาคต ดังนี้

  • หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต : รายวิชาจะส่งเสริมให้นิสิตเรียนจบไปแล้วสามารถเป็นครูได้ในอนาคต เช่น วิชาภาษาไทยสำหรับการสอน, การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู
  • หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต : รายวิชาจะเจาะลึกเกี่ยวกับภาษา และด้านวรรณคดี วรรณกรรมไทย เช่น วิธีการสร้างคำ, การวิเคราะห์คำ, การวิเคราะห์อิทธิพลของวรรณคดีที่มีต่อสังคม

ซึ่งหลักสูตรที่จะพูดถึงในวันนี้ คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนั่นเอง

ภาษาไทยในระดับอุดมศึกษา เรียนอะไรบ้าง?

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย เป็นหลักสูตรเรียน 4 ปีจบ โดยในช่วงปี 1 ช่วงเริ่มต้น บอกเลยว่าเนื้อหาทุกอย่างจะเป็นคู่มือให้การเรียนอีก 3 ปีที่เหลือเป็นไปอย่างราบรื่น โดยในเทอมแรกจะเป็นการเรียนหลักภาษาที่ต่อยอดจากมัธยมที่เข้มข้นกว่า เพื่อเป็นพื้นฐานในเนื้อหาปีต่อๆ ไป และจะมีวิชาเรียนที่สอนถึงการวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นวิชาที่ส่วนตัวชื่นชอบเป็นอย่างมาก เพราะวิชานี้จะทำให้ทุกคนได้เข้าใจถึงความหมาย และความเป็นมนุษยศาสตร์

ส่วนในเทอมที่สองของช่วงปีที่ 1 วิชาเรียนของสาขาจะมี 2 วิชาด้วยกัน ซึ่งเป็น 2 วิชาที่สามารถนำไปประยุกต์ได้กับทุกรายวิชา คือ “วิชาการเขียนเชิงวิชาการ” และ “วิชาการนำเสนอบรรยายสรุป” ซึ่งทั้ง 2 รายวิชานี้ทำให้ทุกคนได้รู้ถึงรูปแบบในการเขียนงานวิชาการที่ถูกต้อง ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตรายวิชาต่างๆ จะต้องมีงานให้ได้ลองเขียนลองทำกันอย่างแน่นอน

ยกตัวอย่างสิ่งสำคัญที่ได้จากการเรียน 2 วิชานี้คือ ทักษะการนำเสนอที่ดีและถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นหน้าชั้นเรียน หรือในการประชุมต่างๆ และหลักการการเขียนงานวิชาการ ไม่ว่าจะบทความหรือรายงานวิชาการต่างๆ นั่นเอง

ช่วงปี 2 ในเทอมแรกจะเรียนถึง การวิเคราะห์สิ่งที่ปรากฏในวรรณคดี ที่ไม่ได้มีแค่ความไพเราะ และความงามของภาษา แต่จะเป็นการวิเคราะห์ถึงความเชื่อ สภาพสังคม ค่านิยม วัฒนธรรมของแต่ละสมัยที่ปรากฏผ่านวรรณคดีที่ใช้ทั้งมุมมองของคนปัจจุบัน และมุมมองของคนในสมัยก่อน รายวิชาคติชนและภูมิปัญญา 2 วิชาแห่งความเข้าใจถึงคณะมนุษยศาตร์ มองเห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมของมนุษย์ที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ทั้งในชนบทและในเมือง

และมีชุดวิชาเลือกให้เลือกเรียน 2 ชุดวิชา ได้แก่ “ชุดวิชาวรรณคดีและวรรณกรรมไทย” และ “ชุดวิชาภาษาไทยกับการเปลี่ยนแปลงของภาษา” ใครที่ชื่นชอบเรื่องของ การวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมอย่างตัวพี่ ก็จะเลือกเรียนชุดวิชาวรรณคดีและวรรณกรรมไทย ก็จะได้เรียนถึงการเจาะลึกไปยังวรรณคดีเฉพาะสมัยเฉพาะประเภท และโยงไปถึงเรื่องของการนำวรรณคดีมาผูกกับการท่องเที่ยวนั่นเอง

ส่วนใครที่ถนัดมาทางสายภาษา แนะนำเลือกชุดวิชาภาษาไทยกับการเปลี่ยนแปลงของภาษาเพราะเราจะได้เรียนและเห็นถึงพัฒนาการภาษาไทย ประวัติและความหมายของคำ และที่เป็นไฮไลต์ของชุดวิชานี้เลยคือ “วิชาภาษากับสังคม” ที่ได้เห็นคือความสัมพันธ์ที่ภาษามีต่อสังคมนั่นเองค่ะ

ในช่วงปี 3 จะเป็นรายวิชาว่าด้วยเรื่องของการวิเคราะห์ วิจารณ์วรรณกรรมไทย และชุดวิชาภาษาไทยเพื่อการอาชีพ

ส่วนในช่วงปี 4 ในเทอม 2 จะให้นิสิตเลือกที่จะฝึกงานหรือว่าทำเล่มศึกษาอิสระที่นิสิตสนใจทำ ซึ่งตรงนี้เราสามารถเลือกเส้นทางของตัวเองได้เลย ซึ่งก็มีรุ่นพี่ไปฝึกสหกิจในสายงานต่างๆ มากมาย เช่น นักสื่อสารองค์กร, นักข่าว, ฝ่ายบุคคล, คุณครู, คอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรือจะเลือกทำเล่มศึกษาอิสระ ก็จะมีอาจารย์พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้นิสิตตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจบเล่มเลย

จุดเด่นของการเรียนภาษาไทย ไม่ใช่แค่ท่องกลอน

หลายคนมองว่าเรียนภาษาไทยต้องบทท่องกลอน อ่านทำนองเสนาะต่างๆ เหมือนอย่างตอนที่เรียนมัธยมศึกษาที่คุณครูให้จำบทท่องกลอน แต่งกลอนนานาจิตตัง ที่อาจจะดูเชยหรือไม่ทันสมัยสักเท่าไร แต่จริงๆ แล้วสาขาของเรานั้น มีจุดเด่นและสิ่งที่น่าสนใจคือ การที่เราสามารถนำภาษาไทยไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์แขนงอื่นๆ ได้ ตัวอย่าง เช่น ในวิชาคติชน เราจะได้เห็นขั้นตอนการใช้ความเชื่อ เพื่อสร้างเป็นเนื้อเรื่อง เพื่อก่อให้เกิดเป็นตำนาน และสร้างประเพณีต่างๆ หรือ แม้แต่การทำอาหาร ที่ปรากฏในวรรณคดีไทยหลายๆ เรื่อง เพื่อเพิ่มคุณค่าของมัน ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าจะนำมาผสมกันได้อย่างไร แต่ถ้าได้เข้ามาเรียนในสาขาวิชาภาษาไทยก็จะทราบว่ามันสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง

การเรียนรู้ควบคู่กับกิจกรรม

การเรียนของหลักสูตรไม่เพียงแต่เรียนในห้องเรียนเท่านั้น แต่จะมีการเรียนรู้นอกสถานที่เพื่อให้นิสิตได้เห็นและสัมผัสภาพและบรรยากาศ และศึกษาถึงความเชื่อต่างๆ กับสถานที่นั้นๆ อย่างการเรียนวรรณกรรมหรือวรรณคดี ไม่เพียงแต่เรียนจากตำรา แต่จะเป็นการเข้าถึงสถานที่ ที่ปรากฏผ่านวรรณคดี วรรณกรรม ที่ผสมผสานความเชื่อ และเรื่องเล่า เพื่อประยุกต์ใช้กับการสร้างสรรค์พื้นที่ท่องเที่ยว ผ่านการเรียนรู้นอกสถานที่

เรียนภาษาไทยจบไปทำอะไรได้บ้าง

“เรียนจบแล้วเป็นครูใช่หรือเปล่า” คำถามยอดฮิตที่เด็กเรียนภาษาไทยทุกคนต้องเจอ ต้องบอกก่อนเลยว่า หลักสูตรเราจะแตกต่างจากหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตของเรา แต่จริงๆ แล้ว ก็สามารถเป็นครูได้ในโรงเรียนเอกชน แต่หากเป็นโรงเรียนรัฐบาล จะต้องเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพครูเพิ่มเติม แล้วถึงจะสอบเป็นครูในสังกัดรัฐบาลได้

ส่วนอาชีพอื่นๆ รุ่นพี่หลายคนก็จบไปแล้วก็สามารถเลือกทำได้หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพ หรือตำแหน่งที่สามารถนำภาษาไทยไปประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักข่าว พิธีกร นักสื่อสารองค์กร ครู อาจารย์ หรือนักวิชาการ ซึ่งยังมีอีกหลากหลายอาชีพที่สามารถนำภาษาไทยไปประยุกต์ใช้ได้ เรียกได้ว่าสาขาภาษาไทยของเรามีความยืดหยุ่นในการทำงานมากๆ คือ สามารถเลือกสายงานได้หลากหลายตามแต่ความสนใจของตัวเองเลย

คำแนะนำจากรุ่นพี่

สำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจในสาขาวิชาภาษาไทย หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต เปิดรับ 2 รอบด้วยกัน รอบที่ 1 Portfolio และรอบที่ 3 Admission โดยสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ ทวิตเตอร์ (X) @swuthaimajor หรือ IG: @swuthaimajor และ เฟซบุ๊ก หลักสูตร ศศ.บ. ภาษาไทย มศว

สาขาวิชาภาษาไทยเป็นสาขาวิชาที่อาจารย์เป็นกันเอง และมีรุ่นพี่ที่คอยให้คำปรึกษาอยู่เสมอ และอยากจะขอฝาก คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับน้องๆ ที่มีความสนใจ รักและชื่นชอบในการพูด การเขียน การวิเคราะห์ภาษาไทยและวรรณคดีต่างๆ เพราะสาขาของเรา เป็นสาขาที่พี่เชื่อว่าจะทำให้น้องๆ เรียนอย่างมีความสุข และได้รับความรู้ไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดในอนาคตอย่างได้แน่นอน

นอกจากนี้แล้ว นายวงศกร ภู่วิจิตรสุทิน ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปัจจุบันประกอบอาชีพตำแหน่ง เจ้าหน้าที่นิวส์คอนเทนต์ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางในสายอาชีพของเด็กเอกภาษาไทยด้วย

เรียนภาษาไทย นำไปปรับใช้ในการทำงานอย่างไร

นายวงศกร เล่าว่า ในฐานะงานของพี่ พี่รู้สึกว่า คือ เราจะเด่นด้านภาษา ใช้ภาษาไทยถูกต้อง แน่นอนว่า การทำงานในบริษัทไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กๆ หรือเป็นบริษัทใหญ่ถ้าเกิดว่าคุณใช้ภาษาถูกต้อง อย่างน้อยเครดิตคุณก็จะดีกว่าบริษัทที่ใช้ภาษาไม่ถูก นอกจากการใช้ภาษาแล้ว ทักษะการสื่อสารของเด็กเอกไทยก็โอเค เข้าใจ เคลียร์ ตรงประเด็น และรู้เรื่องกว่าคนที่ไม่ได้จบด้านนี้มาสายตรง เว้นแต่สายสื่อสารมวลชน 

สำหรับเอกภาษาไทย คือการปรับใช้ที่มีประสิทธิภาพและเห็นผลมากที่สุด ต้องแบ่งอย่างนี้ว่าเอกไทยพอจบไปแล้วมันจะแบ่งเป็น 2 สายหลักๆ คือ สายวิชาการ คือ ไม่จำเป็นต้องฝึกสหกิจศึกษา แต่จะไปทำวิทยานิพนธ์จบแล้วก็ศึกษาต่อไปเรื่อยๆ จบโท จบเอก แล้วก็เป็นอาจารย์ คือสายวิชาการจะเห็นแนวทางชัดเจนไปเลย กับอีกสายหนึ่งเลยจะเป็นสายอาชีพ ที่มันยืดหยุ่น คือเราสามารถแตกไปได้หลายอาชีพไม่ว่าจะเป็นนักข่าวอย่างพี่ หรือว่าอยากจะไปเป็นครู แบบพี่รุ่นก่อนก็เป็นครูกันเยอะ แล้วก็มีพี่คนหนึ่งไปทำแอดมินก็มี ซึ่งมันจะแบ่งเป็นสองสายหลักๆ อย่างนี้ ซึ่งสายที่ 2 ก็จะแยกไปทำงานได้หลากหลายมาก

ทักษะที่เป็นจุดแข็งของเด็กเอกไทยในการทำงาน

จุดเด่นของเด็กเอกไทยอย่างแรกเลย คือ การเลือกใช้ภาษาได้อย่างเหมาะสม และการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และนอกจากการใช้ภาษาแล้ว ในเรื่องของการสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์ คือสิ่งที่พี่เห็นจากเด็กเอกไทย ตั้งแต่ที่พี่เข้ามาเลย จะเห็นจากรุ่นหลังๆ แทบทุกรุ่นเลย คือเด็กเอกไทยหัวศิลป์แท้ๆ แล้วมีไอเดียดีๆ เยอะ ซึ่งพี่มองว่านี่แหละเป็นจุดแข็งที่พอๆ กับการใช้ภาษาของเราเลย นอกจากใช้ภาษาได้แล้วเราสามารถ สร้างสรรค์คอนเทนต์ หรือสร้างสรรค์อะไรต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับงานที่เราทำได้ด้วย ส่วนนี้คือพี่คิดว่ามันเป็นจุดเด่นที่เห็นได้ชัดจากเด็กเอกไทย

ส่วนของพี่ พี่คิดว่านอกจากการใช้ภาษาไทยแล้วสื่อในปัจจุบันเนี่ยมันต้องไปได้หลายทางมันต้องไปได้รอบด้าน คือจะมีคำของคนเมื่อก่อนจะบอกว่า สมมติพี่เป็นนักข่าวไอที ก็จะต้องเด่นไอทีไปเลย แต่พอมาในยุคถัดมา จะแบบนั้นไม่ได้แล้ว คือต้องทำได้หลากหลาย อย่างเช่นไปข่าวการเมือง ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬา ซึ่งพี่ก็ทำได้ คือ พี่อยู่ในจุดที่เป็นเป็ด คือทำได้หลายอย่าง

นอกจากนี้ก็คือ การใช้ภาษาคือสิ่งที่สำคัญนอกจากภาษาไทยแล้ว พี่ยังได้ภาษาอังกฤษอีกด้วย ซึ่งมันจะช่วยยกระดับสกิลของเราให้ทำงานได้เร็วขึ้น หลากหลายขึ้น ซึ่งพี่คิดว่านี่คือจุดเด่นของพี่ แต่ว่าถ้าเป็นในอนาคตมันจะมีคำว่า "เป็ดทองคำ" คือนอกจากจะทำได้หลายอย่างแล้ว ต้องทำให้เก่งและดีทุกอย่างด้วย ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ต้องรอดูต่อไป

ในมุมมองของพี่ ถ้าเด็กเอกไทย มีทักษะหลายอย่าง สามารถทำได้หลายอย่าง มีความสามารถรอบด้านมากกว่าการใช้ภาษาหรือว่ามีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเดิม คือบรรเจิดไปเลย และใช้ภาษาได้มากกว่าสองภาษา อย่างภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาเกาหลี พี่ว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมจุดเด่นเด็กเอกไทยให้มีความครบเครื่องขึ้นกว่าเดิม

การเปิดรับสมัคร รอบ 3 Admission

สำหรับน้องๆ ที่สนใจคณะมนุษยศาสตร์ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในรอบที่ 3 Admission จะเปิดรับจำนวน 35 คน ตั้งแต่วันที่ 6-12 พฤษภาคม 2567 โดยมีรายระเอียดการรับสมัคร ดังนี้

  • GPAX ไม่ต่ำกว่า 2.50
  • TGAT ค่าน้ำหนัก 20% คะแนนขั้นต่ำ 10 คะแนน
  • สังคมศึกษา (A-Level) ค่าน้ำหนัก 10% คะแนนขั้นต่ำ 10 คะแนน
  • ภาษาไทย (A-Level) ค่าน้ำหนัก 60% คะแนนขั้นต่ำ 40 คะแนน
  • ภาษาอังกฤษ (A-Level) ค่าน้ำหนัก 10% คะแนนขั้นต่ำ 10 คะแนน

อ้างอิงจาก : admission.swu.ac.th 

ในส่วนของรอบที่ 4 ยังไม่มีประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการ (ข้อมูลวันที่ 21 เมษายน 2567)

น้องๆ ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SWU Admission หรือ mytcas.com 

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ hu.swu.ac.th, mytcas.com, ทวิตเตอร์ (X) @swuthaimajor