กรมการแพทย์เตือน "ฮีตสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" ภัยร้ายในหน้าร้อน ที่คนทำงานกลางแจ้งเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิต พร้อมแนะวิธีป้องกันที่ถูกต้อง

จากกรณีที่ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ นักธุรกิจ และนักแข่งรถชื่อดัง เสียชีวิตแล้ว ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ หลังถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการฮีตสโตรก ดังที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ ("เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม" เสียชีวิตแล้ว หลังเข้า รพ. ด้วยภาวะฮีตสโตรก)

สำหรับภาวะฮีตสโตรก หรือ โรคลมแดด นั้นนายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลว่า เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน

ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ หน้ามืด ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ซึม สับสน ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการ อาจส่งผลกระทบ ที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้เมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

...

ด้านนายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดดได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงประชาชนทั่วไป สำหรับการป้องกันสามารถทำได้ โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรมในช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน

ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม ที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์

หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง ควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม อุปกรณ์ ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด นอกจากนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทจึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน

ด้าน นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อน และมีอากาศร้อนจัด บางพื้นที่อุณหภูมิสูงสุดอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประชาชนอาจเป็นโรคลมแดด หรือฮีตสโตรก (Heat Stroke) ได้ คนทำงานกลางแจ้งที่เสี่ยงต่อโรคลมแดด เช่น กรรมกรก่อสร้าง เกษตรกร ทหาร นักกีฬา เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ซึ่งโรคจากความร้อนมีอาการหลายอย่างตามลำดับขั้นของอุณหภูมิที่สูงขึ้น เช่น การมีผื่นขึ้นตามตัว ตัวบวม อาการอ่อนเพลีย หรือที่เรียกว่าเพลียแดด เป็นตะคริว คลื่นไส้อาเจียน ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ชัก มึนงง หน้ามืด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ 

ทั้งนี้ นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี  กล่าวเพิ่มเติมถึงการป้องกันโรคลมแดดว่า ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน และพยายามดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดรูป สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่นกันแดด เลือกออกกำลังกายการช่วงเช้าหรือเย็น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

หากพบเห็นผู้เป็นลมแดดให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นน้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อน และลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด

ถ้าไม่หมดสติ ให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ในเรื่องลมแดดนี้ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้เน้นย้ำการให้ความรู้แก่คนงาน ที่มาทำการตรวจสุขภาพทางอาชีวอนามัย ที่โรงพยาบาล รวมทั้งทีมอาชีวอนามัยที่ออกไปเชิงรุกสถานประกอบการ ได้เตือนคนงานและแนะวิธีการทำงานที่ถูกต้องเพื่อป้องกันโรคจากความร้อน นอกจากนี้ยังมีโครงการงานวิจัยเรื่องสัญญาณเตือนทางโรคต่างๆ ที่บ่งถึงว่าเริ่มมีประชาชนป่วยจากโลกร้อนเพิ่มขึ้น.