แม้ว่า “ประเทศไทย” เข้มงวดกวดขันในการลักลอบค้าสัตว์ป่า แต่ก็ยังเป็นเส้นทางของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ และซากสัตว์ป่า ที่หมุนเวียนเข้าออกไม่ขาดสายเช่นเดิม เพื่อใช้เป็นทางผ่านตั้งฐาน “ฟอกแปรสภาพ” ก่อนมีการส่งขายให้ประเทศที่สาม

กระทั่งกลายเป็น “ตลาดกลางค้าสัตว์ป่า” ข้ามแดนอันดับต้นของโลก เพราะความพร้อมด้านคมนาคม โดยมี “คนไทย” ทำหน้าที่เป็นธุระจัดหาเชื่อมโยงเครือข่ายค้าสัตว์ป่า ตั้งแต่ต้นทางจนถึงประเทศปลายทาง

เพราะ “ประเทศไทย” มีพรมแดนเป็นป่า และสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์หลากหลาย ทั้งยังมีภูมิประเทศตั้งอยู่ใกล้ประเทศที่นิยมบริโภคสัตว์ป่า ทั้งประเทศเวียดนาม และประเทศจีน ซึ่งมีการลักลอบขนสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เสือโคร่ง หมี ลิง นับรวมไปถึงสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ นก เหี้ย ลิ่น ตะกวด ส่วนอื่น เช่น งาช้าง นอแรด

เพื่อการบริโภคเนื้อเปิบพิสดาร ประกอบยารักษาโรค และการสะสมประดับบารมี...

...

อีกทั้งยังมี “กฎหมาย” อนุญาตให้เอกชนเพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าได้ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์กำหนดไว้ เสมือนเปิดช่องให้ “ธุรกิจสัตว์ป่า” เป็นหนึ่งในนโยบายสนับสนุนการค้าสัตว์ป่าแบบถูกกฎหมายง่ายยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า “ขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ” ยังได้คืบคลานเจาะเข้าระบบ “สถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่า” ที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้มี “สัตว์ป่าหายากและซากสัตว์” มักสูญหายปริศนา ที่มีทั้งตกเป็นข่าวตามสื่อมวลชน และที่ยังถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรมอยู่อีกมากมาย

จนเกิดเหตุสะเทือนใจ “ยิงกันเสียชีวิต” ในที่ทำการสวนสัตว์สงขลา ที่กล่าวอ้างโยงกรณี “สัตว์หาย” ในบางเรื่องเกี่ยวโยง “ขบวนการค้าสัตว์ป่า” ร่วมมือกับสวนสัตว์เอกชนในการซื้อขายสัตว์จากสวนสัตว์แห่งหนึ่งด้วยซ้ำ

เช่นนี้ทำให้เมืองไทยถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางค้าสัตว์ป่า ในเรื่องนี้ เจษฎา ทวีกาญจน์ ผจก.โครงการ ต่อต้านการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ให้ข้อมูลว่า ต้นทางการลักลอบค้าสัตว์ป่านี้เริ่มมาจาก “แอฟริกา” ลักลอบค้าสัตว์ป่าส่งเข้า “ประเทศไทย” เป็นทางผ่านไปยังประเทศจีน หรือเวียดนาม

เมื่อราว 10 ปีก่อนนี้ยิ่งลักลอบค้าสัตว์ป่า งาช้าง และสัตว์ป่าแปลกๆทวีความรุนแรงมาก จนถูกยกระดับเป็น “อาชญากรรมข้ามชาติ” สาเหตุจาก “ประเทศต้นทาง” ต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าเพื่ออุปโภคสูง

และมีความต้องการนำไป “ปรุงเป็นยารักษาโรค” ตามข้อมูล “อุตสาหกรรมยาจีน” ใช้ชิ้นส่วนสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์มากกว่า 3 ใน 4 ของทั้งหมด ทำให้ธุรกิจยาจีนเชิงพาณิชย์กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง

ในส่วน “มูลค่าสัตว์ป่า” เช่น “นอแรด” ราคา 6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อ กก. “งาช้าง” 2 พันดอลลาร์ฯต่อ กก. “เสือโคร่ง” ตัวละไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นดอลลาร์ฯ หรือเนื้อก็ขายเป็นกิโล “ลิ่น” ตัวละ 1 พันดอลลาร์ฯ ที่สามารถทำกำไรได้อย่างงาม มีมูลค่าเท่าค้าอาวุธ และยาเสพติด ที่เป็นสิ่งจูงใจให้ขบวนการค้าสัตว์ป่าไม่หยุดลักลอบกันสักที

ทำให้ “ประเทศไทย” เป็นตลาดซื้อขายสัตว์ป่าเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนไม่กี่ปีมานี้ “ภาครัฐ” บังคับใช้กฎหมายจริงจัง ทั้งการป้องกันปราบปรามจับกุมกระบวนการนำเข้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเข้มงวด

ผลลัพธ์คือ...“การลักลอบค้าสัตว์ป่าและซากสัตว์” มีการหลีกเลี่ยงชะลอใช้ “ประเทศไทย” เป็นทางผ่านให้น้อยที่สุด แต่ในภาพรวมยังคงมีการลักลอบค้าสัตว์เท่าเดิม หรืออาจจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางมุ่งผ่านเข้าประเทศกัมพูชา ลาว และมาเลเซีย เพื่อส่งเข้าประเทศปลายทางแทน

ประเด็นนี้...“ประเทศไทย” แม้เป็นทางผ่านก็จริง แต่ในประเทศบางส่วนก็ยังพบ “มีผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่า” อยู่มากมาย โดยหลักๆก็เกี่ยวกับ “ผลิตภัณฑ์เสือ” สาเหตุเพราะมีปริมาณค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น “เสือป่าธรรมชาติ” มีอยู่ราว 221 ตัวทั่วประเทศ อีกส่วน “ฟาร์มสวนเสือ” มีอยู่ราว 1,450-2,500 ตัว ใน 44 ฟาร์มทั่วประเทศ

พบว่าจำนวนประชากรเสือที่อยู่ในสวนเสือเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2550 จำนวน 662 ตัว ปี 2552 เพิ่ม 786 ตัว ในปี 2554 มี 952 ตัว จนถูกจัดให้เป็นพื้นที่อาศัยแหล่งสุดท้ายเสือโคร่ง ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้เป็นต้นทาง “ลักลอบค้าเสือ” ในตลาดมืด เพื่อเอาหนัง เขี้ยว กรงเล็บ เนื้อ ที่เชื่อผิดๆว่า ชิ้นส่วนมีสรรพคุณทางยาแผนโบราณ

ข้อมูลองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกในปี 2562 “ประเทศไทย” มีเสือที่อยู่ในกรงเลี้ยงทั้งหมด 1,570 ตัว ในกิจการสวนสัตว์สาธารณะ 1,419 ตัว และในกรงเลี้ยงส่วนบุคคล 151 ตัว ส่วนใหญ่เป็นเสือโคร่งเบงกอลหรือเสือโคร่งไซบีเรีย ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่น มีการผสมพันธุ์เสือในกรงทําให้จำนวนเสือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบสิบปี

บ่งชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่เพื่อการอนุรักษ์ แต่เป็นการเร่งเพิ่มจำนวนเสือ นำเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้สัตว์ป่า เพื่อความบันเทิงในการหารายได้ เพราะมีอายุ 20 ปี มีค่าใช้จ่ายราวปีละ 3.3 หมื่นดอลลาร์ฯต่อตัว

ตามปกติ...“เสือ” นำออกมาถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวได้ ต้องมีอายุไม่เกิน 3 ขวบ ถ้าเกินกว่านี้มักมีความดุร้าย เมื่อ “สวนเสือ” ต้องการจ่ายเงินตลอดเวลา ทำให้จำเป็นต้องหารายได้เข้ามาให้เพียงพอ แม้ว่า “ธุรกิจสวนสัตว์ หรือสวนเสือในไทย” ดูเหมือนไม่ค่อยมีกำไรมากมาย แต่กลับขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก

ดังนั้น “ฟาร์มเสือ หรือสวนเสือ” อาจเป็นแหล่งที่มาของชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์จากเสือในกรงที่นำมาขายในตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายก็ได้ ตามข้อมูลตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน มีสวนเสือที่มีการเกี่ยวข้องกับการค้าเสือมีอย่างน้อย 6 แห่ง สามารถยึดชิ้นส่วนเกี่ยวกับเสืออย่างน้อย 338 ชนิด ในจำนวนนี้มีเสือมีชีวิตอยู่ 211 ตัว

“สถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับเสือไม่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์ และเป็นแหล่งที่มาสำคัญของผลิตภัณฑ์เสือที่ผิดกฎหมาย เพื่อที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานสวนสัตว์ระดับนานาชาติ ในการเพาะพันธุ์เสือในสถานที่ดังกล่าวไม่ควรได้รับการอนุญาต เพราะไม่ช่วยเพิ่มจำนวนเสือในป่าได้ และไม่มีเป้าหมายเพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์” เจษฎาว่า

ในช่วงนี้ “โควิด–19” ก็มีผลกระทบต่อการค้าสัตว์ และการลักลอบค้าสัตว์เช่นกัน ทำให้มีการหยุดชะงักในระบบขนส่งท้องถิ่น หรือภายในประเทศชั่วคราว ทำให้ขบวนการค้าสัตว์ป่าหยุดค้าขายชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้ลดการจัดหาสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และมีโอกาสใช้ในช่วงเวลา Lock down ลักลอบล่าสัตว์เตรียมไว้เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ...

เพราะเครือข่ายอาชญากร ใช้โอกาสในการปิดอุทยานลดการลาดตระเวนในพื้นที่คุ้มครอง หรือการเบี่ยงเบนทรัพยากรการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจัดการกับปัญหาโรคระบาด ข้อบ่งชี้ทั้งหมดในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าเครือข่ายการค้าสัตว์ป่าระดับสูงจะกลับมาดำเนินการทันทีที่สามารถปรับตัวได้

คำถามสำคัญมีว่า “สวนสัตว์ภายใต้การดูแลของรัฐและเอกชน” มีการลักลอบค้าสัตว์อยู่หรือไม่นั้น เพราะ “ประเทศไทย” ไม่มีตัวเลขจำนวนสัตว์ป่าในการดูแลครอบครองชัดเจน ขณะที่ในสวนสัตว์กลับมีสัตว์เกิดใหม่ และตายลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่มีการติดตามตัวเลขสัตว์ ก็ย่อมจะไม่ทราบว่า มีการลักลอบค้าสัตว์หรือไม่

กรณี...“สวนสัตว์ใน จ.สงขลา” ก็มีข้อสงสัยอยู่ว่า เหตุการณ์เก้งเผือกหายไปนี้เป็นครั้งแรกจริงหรือไม่ แต่มองว่า ถ้ามีการทำรายงานการบันทึกสัตว์ไว้ทุกชนิด ก็จะไม่มีข้อกังขาเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นแน่นอน แต่ด้วยเพราะ “ตัวเลขสัตว์” กลับต้องขึ้นอยู่กับสวนสัตว์นั้นเป็นผู้กำกับดูแลการเก็บข้อมูลทั้งหมดอยู่ฝ่ายเดียวแล้ว...

ตอกย้ำข้อสงสัยที่ว่า...“มีโอกาสเกิดการค้าสัตว์ป่าได้” ทั้งใน “สวนเสือ หรือสวนสัตว์” เพราะมักมีจำนวนสัตว์มากจากการเกิดใหม่ ทำให้เป็นช่องในการจัดการให้เกิดผลประโยชน์กำไรขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ ที่เกิดขึ้นในสวนสัตว์เอกชน และหน่วยงานของรัฐได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญ...ในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ ยังคงมีจำกัดอยู่มาก เมื่อคดีต่างๆมักจะถูกลงโทษสถานเบา อีกทั้งยังมีความคิด และทัศนคติ ที่ไม่ถูกต้องต่อความร้ายแรงของการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการทํางาน เพื่อต่อต้านอาชญากรรมสัตว์ป่าอีกด้วย

ย้ำว่า...“ค้าสัตว์ป่า” เป็นภัยร้ายแรงเท่ากับ “การค้าอาวุธและยาเสพติด” ทำให้ประเทศไทย “ถูกโจมตี” เป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ในโลกมานาน ดังนั้น จำเป็นต้องหยุดขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ไม่ให้เข้ามา หรือมีในบ้านเราอีกต่อไป.