คตง. มีมติ ดำเนินคดีอาญา "หมอเลี้ยบ-ประเสริฐ" พวกอีก 4 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ส่งคืนท่อก๊าซขาดไป 3.2 หมื่นล้าน ส่ง ป.ป.ช.-ปปง.ดำเนินคดีอาญาต่อ
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) แถลงผลการพิจารณา กรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ได้ร้องให้ตรวจสอบว่า มีการฝ่าฝืนมติ ครม. ที่ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ให้กระทรวงการพลังงาน และบริษัท ปตท. คืนท่อก๊าซให้กับกระทรวงการคลัง และให้ สตง. เป็นผู้รับรองในการคืน แต่การส่งมอบกลับไม่ครบถ้วน ขาดไป 32,000 ล้านบาทเศษ ว่า รมว.คลัง ในขณะนั้นได้รับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน ทั้งที่ สตง. ยังไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ ดังนั้น คตง. จึงเห็นว่า นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.การคลัง นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. นายธนพร พรหมพันธุ์ นิติกร 7 กรมธนารักษ์ นายนิพิฐ อริยวงศ์ ผอ.สำนักบริหารจัดการฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมธนารักษ์ นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้จัดการสำนักงานกฎหมายบริษัท ปตท. มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยส่งมอบท่อก๊าซไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขาดไปเป็นเงิน 32,000 ล้านบาทเศษ และทำให้รัฐขาดประโยชน์จากค่าเช่าที่ควรได้ และยังยื่นคำร้องต่อศาลปกครองอันเป็นเท็จว่า มีการส่งมอบครบถ้วน จึงมีมติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องข้างต้น รวมทั้งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย และความรับผิดทางละเมิด
นายชัยสิทธิ์ กล่าวต่อว่า คตง.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ,46 และ 15 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ขอให้นายกรัฐมนตรี รมว.คลัง รมว.พลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับผู้เกี่ยวข้อง ดำเนินการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติที่ขาดไปเป็นเงิน 32,000 ล้านบาทเศษ แก่กระทรวงการคลัง และให้ครม.ยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้บังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนต่อไป ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจาก สตง.มิฉะนั้น คตง.จะดำเนินการตามมาตรา 17, 63, 64 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ต่อไป
...
"กระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน ท่อก๊าซธรรมชาติเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน รมว.คลัง จะเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซให้ครบถ้วนไม่ได้ ถ้ามีการส่งมอบแล้วกระทรวงการคลังจะให้ ปตท.หรือผู้ใดเช่า ก็สามารถทำได้" นายชัยสิทธิ์ กล่าว
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวว่า คตง. มีมติให้ สตง.ดำเนินการแจ้ง ครม.ให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่า การบังคับคดีที่ผ่านมายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้มีการส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป และให้แจ้งต่อนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แจ้ง รมว.คลัง รมว.พลังงาน ป.ป.ช. ดำเนินคดีทางอาญาและวินัยแก่เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แก่บุคคลที่กระทำความผิดต่อไป
เมื่อถามว่า เหตุใด อดีต รมว.พลังงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากในหลายรัฐบาลจึงไม่ถูกตรวจสอบและมีความผิดด้วย นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า เราพิจารณาตามหลักฐานซึ่งกระทรวงพลังงานไม่ได้มีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการแยกทรัพย์สินและรับรองความถูกต้อง เราดูที่ปลายทางว่าได้ปฏิบัติตามมติ ครม.หรือไม่ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นรัฐบาลจะต้องรีบบรรเทา เยียวยา แต่หากมีประเด็นเพิ่มเติมอาจจะตรวจสอบต่อไป
ด้าน น.ส.รสนา อดีต ส.ว. กทม. และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งเดินทางมาร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วย ได้กล่าวภายหลังว่า กระบวนการเรียกคืนท่อก๊าซมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหลายชุด มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่มีการดำเนินคดีกับรัฐมนตรีเพียง 1 คน และทรัพย์สินที่จะเรียกคืนนั้น ขณะนี้มีมูลค่ากว่า 2 แสนกว่าล้านบาท และยังมีหุ้นในบริษัทร่วมทุน ไทย-มาเลเซีย ที่ยังไม่มีการพูดถึงยังต้องเรียกคืนให้กับรัฐ ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะมีการยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อให้ปฏิบัติตามมติของ คตง. ทั้งนี้เห็นว่า การที่รัฐบาลต้องการปฏิรูปปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน จะต้องตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้ครบถ้วนเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินของประเทศ และดำเนินการให้จบในรัฐบาลนี้
ขณะที่ นายชวลิต พันธ์ทอง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีความเห็นถึงกรณีการแบ่งแยกทรัพย์สินไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และมีการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีนั้น ปตท. ขอยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและมติคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอน พร้อมทั้งได้นำเสนอข้อมูลทรัพย์สินทของ ปตท. ทั้งก่อนและหลังการแปรรูป ต่อศาลฯ เพื่อประกอบการพิจารณา โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งหลายครั้งว่า ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ศาลฯ ได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 อนึ่ง ปตท. ไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้รัฐเกินกว่าคำพิพากษาของศาลฯ ได้
ส่วนในกรณีที่ว่า ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 นั้น ใคร่ขอชี้แจงว่า ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามมติ ครม. แล้ว โดย ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยไม่ต้องรายงาน ครม. ก่อนดำเนินการแต่อย่างใด จนเมื่อดำเนินการเรียบร้อย กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานจึงได้รายงาน ครม. เพื่อทราบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 โดย ครม. ไม่มีความเห็นแย้งแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในส่วนที่ สตง./ คตง. มีความเห็นว่า ปตท. มิได้รอความเห็นของ สตง. ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 นั้น ขอชี้แจงว่า ปตท. ได้นำส่งข้อมูลบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดให้ สตง. พิจารณาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2551 ซึ่ง สตง. ไม่มีความเห็นกลับมายัง ปตท. แต่อย่างใด และตามที่ สตง. อ้างว่าได้ส่งรายงานฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ให้แก่ ปตท. แล้วนั้น ปรากฏว่า รายงานดังกล่าว เป็นเพียงเอกสารแนบท้ายหนังสือของ สตง. ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 เท่านั้น ซึ่ง สตง. นำส่งให้แก่ ปตท. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 และนำส่งศาลฯ ด้วย ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ศาลฯ มีคำสั่งแล้ว
ทั้งนี้ สตง. ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง ปตท. และศาลฯ อีกครั้งหนึ่ง ระบุว่า “การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ ปตท. ให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่จะพิจารณา ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นยุติ” ซึ่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 สำนักงานศาลปกครองสูงสุด ได้มีหนังสือแจ้งถึง สตง. ว่า "ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามคำพิพากษาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และรายงานให้ศาลฯทราบ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"
"ปตท. ขอยืนยันอีกครั้งว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินเป็นไปตามคำพิพากษาและหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มิได้มีการลัดขั้นตอนตามความเห็นของคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินแต่ประการใด คำพิพากษา คำวินิจฉัย และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดย่อมถือเป็นยุติ และไม่อาจมีบุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดจะมีอำนาจกลับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้ อีกทั้ง ข้าราชการ และ/หรือ พนักงานได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยสุจริต มิได้มีการแสวงหาประโยชน์หรือกระทำการประพฤติมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐแต่ประการใด” นายชวลิต กล่าวทิ้งท้าย...