เมื่อได้กำหนดนัดหมายที่จะ “ขึ้นเขียง” เป็นที่แน่นอนแล้ว ผมก็หอบเอกสารสำคัญหลายๆชิ้น ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีสรุปไว้ สำหรับการเตรียมตัวผ่าตัดหัวใจติดมือกลับไปด้วย
ส่วนใหญ่จะเป็นการสอนวิธีบริหารปอดให้แข็งแรง รวมทั้งวิธีไออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
คุณหมอท่านให้เครื่องมือบริหารปอดมาด้วยชิ้นหนึ่ง คล้ายๆของเด็กเล่นที่เป็นกล่องพลาสติก มีลูกบอลเล็ก 3 ลูกอยู่ข้างใน และมีท่อลมเล็กๆ ต่อเอาไว้ 1 สาย
ผมจะต้องฝึกสูดลมเข้าปอดผ่านเจ้าท่อลมที่ว่าอย่างน้อยชั่วโมงละ 20 ครั้ง ถ้าเป็นไปได้ ควรจะสูดทุกชั่วโมง
พอกลับไปถึงบ้านเรียบร้อย ผมก็เริ่มฝึกตามคำแนะนำทุกข้อในทันที เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ตัวเองว่างั้นเถอะ
ถือเป็นปฏิบัติการเชิงจิตวิทยา ว่าเราพร้อมแล้วที่จะขึ้นเวทีเพื่อต่อสู้กับศึกใหญ่ของตัวเราในครั้งนี้
วิธีสร้างขวัญและปลุกปลอบกำลังใจที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง ก็คือการหาความรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดบายพาสหัวใจทั้งในบ้านเราและทั่วโลก
โดยเฉพาะวิธีการทำผ่าตัด และอัตรารอดหลังผ่าตัด ว่าโดยเฉลี่ยแล้วสูงหรือต่ำอย่างไรบ้าง
ในเรื่องวิธีการทำผ่าตัด ผมเองก็เพิ่งรู้นี่แหละว่าการผ่าตัดทำบายพาสมี 2 วิธี เพราะไปนึกถึงแต่วิธีเก่า ที่เขาจะทำให้หัวใจหยุดเต้นเสียก่อน พร้อมกับใช้เครื่องปอดเทียมและหัวใจเทียมเข้าช่วย
จนกระทั่งเมื่อต่อท่อเลือดให้ใหม่จนเสร็จเรียบร้อย แล้วค่อยปลุกหัวใจให้กลับมาเต้นตามเดิม
แม้จะเป็นวิธีการที่ได้ผลมาก และได้ช่วยชีวิตคนป่วยด้วยโรคหัวใจทั่วโลกมามาก แต่ฟังๆแล้วก็อดสะดุ้งไม่ได้อยู่ดี เพราะจะต้องไปทำให้หัวใจของเราหยุดเต้นซะก่อนนี่แหละ
วิธีที่สอง เป็นการผ่าตัดในขณะที่หัวใจยังเต้นตุบๆเหมือนเดิม เรียกว่าวิธีบายพาสแบบ “ออฟปัมพ์”
...
ผลการศึกษาเปรียบเทียบ พบว่าทั้ง 2 วิธีได้ผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกัน คือ สามารถช่วยชีวิตคนป่วยได้พอๆกัน
แต่ในแบบหลังจะใช้เลือดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และอัตราของอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดจะน้อยกว่าเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม เอกสารที่ผมอ่าน (เพื่อหาความรู้และปลอบใจตนเอง) สรุปว่าขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์มากกว่า ว่าเรียนมาในแบบไหน...ใครถนัดวิธีใด ก็ใช้วิธีนั้น และทุกวันนี้ การผ่าตัดบายพาสหัวใจทั่วโลก ก็ยังคงใช้ 2 วิธีคู่กัน
สำหรับที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยเฉพาะที่ผมจะเข้าผ่าตัดนั้น คุณหมอท่านใช้วิธี “ออฟปัมพ์” ครับ คือไม่ต้องทำให้หัวใจหยุดเต้นก่อน
แม้ผลทางการแพทย์จะไม่มีอะไรแตกต่างกันมาก...แต่ผลในแง่จิตวิทยาของคนป่วย (โดยเฉพาะผม) เรียนตรงๆว่า รู้สึกใจชื้นขึ้นมาเยอะ ที่หัวใจของเราจะไม่หยุดเต้นเลยขณะคุณหมอลงมือ
อย่าหาว่าผมคิดมากเลยครับ เพราะเป็นคนขี้เซา ตื่นเช้าๆ จะต้องงัวเงียสะลึมสะลืออยู่พักใหญ่เสมอๆ
เกิดหัวใจของผมพลอยขี้เซาไปด้วย ปลุกแล้วสะลึมสะลือ หรือไม่ตื่นขึ้นมาเลยก็จบกัน
ทีนี้ก็มาถึงตัวเลขผลความสำเร็จของการผ่าตัดบายพาสหัวใจในทั้ง 2 แบบ เอกสารส่วนใหญ่ระบุว่าประสบความสำเร็จถึง 97 หรือ 98 เปอร์เซ็นต์
แปลว่าไม่สำเร็จเพียง 2 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
แน่นอนจะให้ได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ คือทุกคนที่ทำผ่าตัดแล้วรอดหมดนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว...ความเสี่ยงแค่ 2 หรือ 3 เปอร์เซ็นต์แบบนี้ถือว่าดีมาก
ถ้าจะไปลงทุนทำอะไรสักอย่างทุ่มได้หมดตัวเลยครับ
ครับ ในระหว่างการเตรียมตัวเข้าผ่าตัด ผมก็จะนึกถึงสถิติอัตราเสี่ยง 2-3 เปอร์เซ็นต์อยู่ตลอด
จากนั้นก็ปลุกพระส่งท้ายในเช้าตรู่วันที่ 2 เมษายน พร้อมกับเดินทางไปขึ้นเขียง และลงจากเขียงกลับมาเขียนหนังสือได้อีกครั้ง ดังที่เล่าไว้แล้วในวันแรกของข้อเขียนรายงานตัว.
“ซูม”