“ทวี สอดส่อง” หนุนญัตติ พิจารณาหาทางออกสถานการณ์ชายแดนใต้ - ผลกระทบคดีตากใบหมดอายุความ ชี้ 20 ปีที่ผ่านมา พบทางออกไฟใต้แล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติปัญหา เสนอการส่งเสริมเปลี่ยนผ่านมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาดำเนินการต่อ

วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ขึ้นอภิปรายสนับสนุนญัตติของนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ที่ขอให้สภาฯ ได้ร่วมพิจารณาหาทางออกกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีคดีสลายการชุมนุมตากใบที่กำลังจะขาดอายุความ และนายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่ขอให้สภาฯ พิจารณาผลกระทบกรณีขาดอายุความของคดีตากใบ และเสนอแนะการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐ และการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรื่องความยุติธรรม เป็นการอยู่ร่วมกัน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และองค์ประกอบสำคัญในการรวมตัวเป็นประเทศชาติ และสังคม ความยุติธรรมแม้อาจจะมีนามธรรมสูง แต่หากสังคมใดขาดความยุติธรรม สังคมนั้นจะมีความแตกแยก ไม่ใช่เฉพาะคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมที่จะอยู่ไม่ได้ แต่ผู้มีอำนาจก็อาจจะอยู่ไม่ได้

เหตุการณ์ตากใบ และความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพลวัตในการแก้ปัญหา ถ้าเรานับตั้งแต่ปี 2547 โดยตลอด 20 ปี ทุกภาคส่วนก็โหยหาที่จะออกจากไฟใต้ ซึ่งวันนี้เราเชื่อว่า เราพบทางออกแล้ว เพียงแต่ยังไม่พบข้อยุติปัญหา หากสรุปข้อยุติได้สักหนึ่งประโยค คือ การส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความรู้สึกของคนจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น แต่วันนี้เหตุการณ์ตากใบเป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ และที่สำคัญเป็นความรู้สึกของรัฐบาล ซึ่งนายกฯ ได้ขอโทษ ตนในฐานะที่เป็นรัฐบาล เราไม่เคยพูดที่จะมีการช่วยเหลือผู้ที่ถูกออกหมายจับเลย พูดเพียงแต่ว่า จะส่งเสริมตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงติดตามจับกุม เพื่อให้เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมให้ทันเวลาก่อนหมดอายุความ และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่

...

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดต่อเหตุการณ์ภาคใต้ คือ จะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมให้สังคมเกิดความยุติธรรมให้ได้ การส่งเสริมคงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนผ่าน ที่ให้ประชาชนมาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเราสามารถเอาประชาชนมาเป็นศูนย์กลางได้ จึงเอา สส. มาเป็นตัวแทน ฉะนั้น การตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาผลกระทบต่อการขาดอายุความคดีตากใบ ที่เป็นความไม่เป็นธรรมกับประชาชน และเห็นว่าเป็นหนทางหนึ่งที่เราจะร่วมกันพยายามจะทำให้เกิดขึ้น

พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลรู้ว่าการเปลี่ยนผ่านจากความไม่เป็นธรรม ซึ่งรัฐจะบอกว่ายุติธรรมในกระบวนการแล้ว แต่ประชาชนมองว่าไม่เป็นธรรม เราก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเยียวยา ประมาณ 8 ชุด ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตากใบคือ เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ วันที่ 28 เม.ย. 2547 มีผู้เสียชีวิต 109 คนรวมทหารด้วย และเหตุการณ์ตากใบ ที่มีผู้รับผลกระทบ 978 คน ซึ่งการเปิดพื้นที่ให้มีการตั้งคณะกรรมการนั้นที่มี ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ตำรวจ และกองทัพ ซึ่งผลของการตั้งคณะกรรมการครั้งนั้นก็มีการเยียวยาทางจิตใจ และจิตวิญญาณ

แต่สำหรับวันนี้ คือเรื่องใหญ่คือเรื่องของการขาดอายุความ และเรามีกฎหมายอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ที่ไม่มีอายุความ และเราควรจะเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมที่เป็นการเยียวยาจิตใจ และจิตวิญญาณของคนที่โหยหาความยุติธรรม