“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” จ่อยื่นหลักฐานเพิ่ม หลัง กกต.สั่งสอบ “ทักษิณ” อาจครอบงำ “6 พรรคร่วมรัฐบาล” ยกคดียุบพรรค ปี 51 เป็นตัวอย่าง อาจมีหลายพรรคโดนยุบ ขอ “ประเสริฐ” ใจเย็น รอชี้แจงเมื่อถึงเวลา หลังประกาศมั่นใจชี้แจงได้ โต้ “พรรคฝ่ายค้าน” หากไม่เห็นด้วยก็ให้แก้กฎหมาย ถามกลับเป็นฝ่ายตรวจสอบทำไมไม่ยื่นเรื่องร้องบ้าง

วันที่ 19 ตุลาคม 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยังกล่าวภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวน 6 คำร้องพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำการครอบงำพรรค โดยระบุว่า ขณะนี้มี 14 คำร้อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องจริยธรรม ในส่วนพรรคเพื่อไทย ขณะนี้ยื่นไปในเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี ที่นายทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่าครอบครอง ไม่ได้ครอบงำ ตนจึงเห็นว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่สามารถมีใครมาครอบครองได้ แต่เมื่อ กกต.ดูคำร้องแล้วพิจารณาในฐานควบคุม ชี้นำ ครอบงำพรรคการเมือง ตาม ม.28 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ตนก็จะเตรียมยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้กับ กกต.ในเร็ว ๆ นี้ โดยมีจุดกลางคือวันที่ 14 สิงหาคม ที่มีการนัดพบกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า หลังนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นหน้าที่ โดยจะรวบรวมหลักฐานตั้งแต่ก่อนวันที่ 14 สิงหาคม และเหตุการณ์ต่อจากนั้นถึงปัจจุบันว่ามีการกระทำลักษณะเดียวกันหรือไม่

ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น มี 6 พรรคเดิม รวมถึงพรรคพลังประชารัฐด้วย ก่อนที่จะสลัดพลังประชารัฐออก แล้วมาจับกับประชาธิปัตย์แทน ผู้สื่อข่าวจึงถามว่าหากศาลตัดสินว่าผิดจริง พรรคใดที่จะถูกตัดสินไปด้วย นายเรืองไกร ระบุว่า อ้างอิงจากสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญก็ยุบ 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ส่วนครั้งนี้อาจจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสำนวนของ กกต.

...

อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ก็กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า สามารถชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ โดยมีทีมกฎหมายนำโดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล นั้น นายเรืองไกร แย้งว่า ขอให้ใจเย็น อย่าพึ่งตกใจขนาดนั้น ขอให้เห็นสำนวนของ กกต.ก่อน

นอกจากนี้ พรรคประชาชน ในฐานะพรรคฝ่ายค้านก็เห็นต่างมาตลอดว่าพรรคการเมืองควรเกิดง่ายตายยาก ไม่ควรส่งเรื่องยุบแบบนี้ นายเรืองไกร กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเห็นเช่นนั้น สำหรับคนที่อยู่ฝ่ายนิติบัญญัติหากไม่เห็นด้วยก็ให้เสนอแก้กฎหมาย พร้อมย้อนถามว่า ตอนนี้กฎหมายยังบังคับใช้อยู่ ผู้แทนราษฎรมีสิทธิ์เข้าชื่อร้องศาลโดยตรง แต่ทำไมจึงไม่ใช้สิทธิ์ในการร้องเรียน ตรวจสอบ จึงได้เห็นตนต้องออกมาร้องเรียนแบบนี้อยู่เสมอ