“นายกฯ อิ๊งค์” ประชุม คอส. ร้อนใจรีบแก้ปัญหาก่อนน้ำรอบหน้า จ่อประชุม ครม.สัญจร พื้นที่ภัยพิบัติ คุยเพื่อนบ้านเรื่องการเตือนภัย ด้าน ศปช. เผย เขื่อนเจ้าพระยาลดการระบายน้ำ ส่วนภาคใต้ 9 จังหวัด ยังต้องเฝ้าระวังดินสไลด์-น้ำป่าไหลหลาก
วันที่ 15 ตุลาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 2/2567 (คอส.) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ คอส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนเปิดประชุมตอนหนึ่งว่า ปัญหาน้ำท่วม หรือปัญหาดินโคลนถล่มที่เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ปีหน้าหรือปีต่อๆ ไปดูเหมือนว่ายังมีปัญหาเหล่านี้อยู่ เป็นสิ่งที่รู้สึกร้อนใจที่สุดว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง เราอาจจะไม่สามารถหยุดมันได้เลย 100% แต่วิธีรับมือที่ดีขึ้นเราจะทำอย่างไรได้บ้าง หรือจะทำให้ปัญหาจบเร็วขึ้น อยากให้มาร่วมมือกันในการศึกษาตรงนี้อย่างจริงจัง และชัดเจนว่าเรามีเวลา 1 ปีที่ปัญหาแบบเดิมจะมาถึงในปีหน้า วันนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนทางราชการ จิตอาสา มูลนิธิต่างๆ ที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายไปมากแล้ว โดยเมื่อเช้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะพยายามทำให้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เสร็จภายในก่อนพฤศจิกายน 2567 หรือปลายเดือนตุลาคมนี้ก็น่าจะจบ วันนี้จึงอยากนัดประชุมเพื่อรับทราบสถานการณ์และรับทราบการช่วยเหลือเยียวยาในการป้องกันปัญหาและแก้ไขปัญหาที่ต้องรอรับในปีหน้าต่อไป
...
ต่อมา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อดำริว่าให้วางแผนอย่างเป็นระบบ หากเจอสถานการณ์อย่างที่จังหวัดเชียงราย จะแก้ไขปัญหาแบบไหนอย่างไร โดยให้เขียนเป็นแผนแม่บท รวมถึงมีดำริว่าช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน จะไปประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือจังหวัดเชียงราย อาจจัดกิจกรรมในช่วงประเพณีลอยกระทง เพราะในพื้นที่จะมีกิจกรรมพื้นเมืองต่อเนื่อง โดยการประชุม ครม.ดังกล่าว จะไปรับฟังปัญหาและแนวทางในการแก้ไข ซึ่งกำลังดูรายละเอียดอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ หลังรับฟังปัญหาจะนำไปสู่แผนแม่บทในการป้องกันอุบัติภัยลักษณะเช่นนี้ในอนาคตได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังเร่งรัดเรื่องกฎระเบียบการเยียวยาล้างโคลนในบ้านให้มีความชัดเจน
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมยังได้มีการรายงานถึงการพูดคุยระหว่างประเทศ โดยคณะทำงานระบุว่า ควรเป็นการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว หรือเมียนมา ที่ทั้ง 2 ประเทศเขาก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยจะมีการพูดคุยเร็ววันนี้เพื่อกำหนดกรอบในการเตือนภัยให้กับพี่น้องในต่างประเทศก่อนเกิดภัยพิบัติ สำหรับโครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” ขณะนี้มี 2 แนวทาง คือ รัฐครึ่งหนึ่ง ประชาชนครึ่งหนึ่ง กับหนึ่งแถมหนึ่ง ที่เมื่อประชาชนไปพักแล้วจะมีห้องพักแถมให้อีก 1 ห้อง โดยในสัปดาห์หน้าคงจะได้ข้อสรุปเสนอที่ประชุม ครม.
นอกจากนี้ นายจิรายุ ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยด้วยว่า จากการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทำให้กรมชลประทานสามารถปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุม ศปช. เชิญตัวแทน 9 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กทม. มาร่วมหารือสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมรับฟังแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ ซึ่งภาพรวมทุกจังหวัดระบุตรงกันว่าการบริหารจัดการน้ำปีนี้ทำได้ดี ทำให้พื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาด ประเมินว่าภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ทุกพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม จะเข้าสู่ภาวะปกติ ยกเว้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนพฤศจิกายน
ทางด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แจ้งที่ประชุมว่าสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง คาดว่าจะปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เหลือ 700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาทีได้ ภายในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ที่ต่ำที่สุดของลุ่มเจ้าพระยา เช่น คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อย ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลตลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบแรกๆ จะคลี่คลายในไม่ช้า
สำหรับฝนที่ตกต่อเนื่องในภาคใต้ ทำให้มีพื้นที่เสี่ยงดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 15-16 ตุลาคม 2567 ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่
- จังหวัดภูเก็ต - อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ อำเภอถลาง
- จังหวัดกระบี่ - อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเขาพนม อำเภอเกาะลันตา
- จังหวัดตรัง - อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน อำเภอห้วยยอด อำเภอนาโยง
- จังหวัดสตูล - อำเภอควนโดน อำเภอควนกาหลง อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง
- จังหวัดพัทลุง - อำเภอกงหรา อำเภอศรีบรรพต อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอเขาชัยสน อำเภอตะโหมด อำเภอควนขนุน
- จังหวัดสงขลา - อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอรัตภูมิ อำเภอสะเดา
- จังหวัดปัตตานี - อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอหนองจิก อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอสายบุรี อำเภอยะรัง
- จังหวัดนราธิวาส - อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอศรีสาคร อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน อำเภอสุไหงปาดี อำเภอจะแนะ อำเภอเจาะไอร้อง
- จังหวัดยะลา - อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอกาบัง อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกรงปินัง
ทั้งนี้ พื้นที่เสี่ยงทั้ง 9 จังหวัด กรมทรัพยากรธรณี ได้ประสานอาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงทุกช่องทาง ทั้งทางโทรศัพท์ กลุ่มไลน์เครือข่าย และช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมสำหรับให้ความช่วยเหลือทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการช่วยเหลือฟื้นฟูที่จังหวัดเชียงราย นายจิรายุ กล่าวว่า การฟื้นฟูคืบหน้ากว่า 90% คงเหลือชุมชนที่ยังไม่สามารถนำดินโคลนออกได้ จึงมีขยะตกค้างอีกจำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเกาะทราย ชุมชนสายลมจอย ชุมชนไม้ลุงขน และชุมชนถ้ำผาจม ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผนที่กำหนดไว้ตามเดิม ในวันที่ 21 ตุลาคม 2567