ศปช. แจ้งเตือนภาคใต้ 9 จังหวัด เฝ้าระวังดินถล่ม ส่วนภาคกลาง เขื่อนเจ้าพระยาลดการระบายน้ำ ด้าน ก.กลาโหม เข้าช่วยประชาชน พร้อมทำแนวกั้นน้ำนนทบุรี-ปทุมธานี เฝ้าระวัง 24 ชม.
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 ตุลาคม 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนยังตกหนักถึงหนักมากภาคใต้ อาจส่งผลให้เกิดเหตุดินถล่มในพื้นที่ 9 จังหวัด ขอประชาชนเฝ้าระวัง ได้แก่
- จ.ภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต อ.กะทู้ อ.ถลาง
- จ.กระบี่ อ.เมืองกระบี่ อ.เขาพนม อ.เกาะลันตา
- จ.ตรัง อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน อ.ห้วยยอด อ.นาโยง
- จ.สตูล อ.ควนโดน อ.ควนกาหลง อ.ละงู อ.ทุ่งหว้า อ.มะนัง
- จ.พัทลุง อ.กงหรา อ.ศรีบรรพต อ.ศรีนครินทร์ อ.เขาชัยสน อ.ตะโหมด อ.ควนขนุน
- จ.สงขลา อ.หาดใหญ่ อ.สะบ้าย้อย อ.จะนะ อ.นาทวี อ.รัตภูมิ อ.สะเดา
- จ.ปัตตานี อ.โคกโพธิ์ อ.หนองจิก อ.ปะนาเระ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง อ.สายบุรี อ.ยะรัง
- จ.นราธิวาส อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.สุไหงปาดี อ.จะแนะ อ.เจาะไอร้อง
- จ.ยะลา อ.เบตง อ.ธารโต อ.กาบัง อ.บันนังสตา อ.ยะหา อ.รามัน อ.กรงปินัง
สำหรับเหตุการณ์น้ำหลากดินถล่มในพื้นที่ อ.เบตง และ อ.ธารโต จ.ยะลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา มอบเงินเยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัยแล้ว ส่วนถนนที่ได้รับความเสียหาย เบื้องต้นแขวงทางหลวงได้นำรถแบ็กโฮและเครื่องจักรเปิดเส้นให้รถได้สัญจรได้แล้ว พร้อมประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเร่งให้ความช่วยเหลือ
...
ส่วนสถานการณ์น้ำภาคกลาง ศปช. ให้ทยอยปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำหนุนในช่วงวันที่ 13-24 ตุลาคม 2567 หาก 2-3 วันข้างหน้า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่อง จะปรับลดการระบายน้ำได้อีก เป็นแนวโน้มที่ดีต่อประชาชนท้ายเขื่อน
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช. จึงได้กำชับเหล่าทัพเร่งระดมกำลังพลเตรียมการช่วยเหลือประชาชนทันทีเมื่อเกิดภัยในพื้นที่ ต.ชนแดน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ รวมถึงฟื้นฟูขุดตักดินโคลนที่ทับถมบ้านพักอาศัย รวมทั้งพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย พร้อมกันนี้ ให้ร่วมกับส่วนราชการใน จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี มอบถุงยังชีพให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบและขนย้ายกระสอบทรายเร่งทำแนวกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชน พื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมจัดกำลังพลเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง
ส่วนภาพรวมการจ่ายเงินเยียวยาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2567 ความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 มีการยื่นคำร้องในระบบทั้งสิ้น 56 จังหวัด 195,851 ครัวเรือน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้ว 7 ครั้ง ได้จ่ายเงินผ่านพร้อมเพย์ไปแล้ว 6 ครั้ง โอนเงินสำเร็จกว่า 17,352 ครัวเรือน จำนวนเงินทั้งสิ้น 86,888,000 บาท
สำหรับการฟื้นฟูในพื้นที่ จ.เชียงราย การจัดการขยะในพื้นที่ ประมาณการขยะทั้งสิ้น 70,000 ตัน ดำเนินการทิ้งแล้วทั้งสิ้น 67,617 ตัน คิดเป็น 96.59% ทางด้าน จ.เชียงใหม่ ขณะนี้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ทั้งตัวเมืองและอำเภอในพื้นที่ท้ายน้ำ โดยระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่จุด P.1 สะพานนวรัฐ ปัจจุบันลดต่ำลงเหลือ 2.29 เมตร ขณะที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวก็ลดเหลือเพียง 13 แห่ง ที่ยังมีผู้พักพิงอาศัยอยู่ รวมทั้งสิ้น 38 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงที่ยังอยู่ในระหว่างรอลูกหลานฟื้นฟูสภาพบ้านเรือนให้พร้อมเข้าอยู่อาศัยก่อน ขณะที่การดำเนินการหลังจากนี้ไปจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูล้างทำความสะอาดบ้านเมืองอย่างเต็มกำลังในทั่วทุกพื้นที่ และวันนี้ได้ระดมกำลังจากส่วนต่างๆ ทำความสะอาดถนน ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจและบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน
พร้อมกันนี้ นายจิรายุ ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยที่ จ.ลำพูน พื้นที่เขต อ.เมือง ล่าสุด (13 ตุลาคม 2567) มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 81 ตัว เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ทั้ง 7 ตำบล ส่งผลให้ระดับน้ำลดลงในหลายพื้นที่.