ศปช. เตือนใต้ตอนบนตั้งแต่เพชรบุรี เตรียมรับมือฝนหนัก 9-11 ต.ค. 67 เผย แนวโน้มน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลง เทียบตัวเลขยังห่างปี 54 มาก “อนุทิน” กำชับอำนวยความสะดวกผู้ประสบภัยขอรับเงินค่าล้างดินโคลนหลังละ 10,000 เร็วที่สุด

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 9 ตุลาคม 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ การระบายน้ำขณะนี้เมื่อนำไปเปรียบเทียบปี 2554 ยังไม่มีความน่ากังวลใจ อีกทั้งในสัปดาห์นี้ภาคเหนือและภาคกลางมีปริมาณฝนเริ่มลดลงแล้ว ศปช. ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน โดยปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการน้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 13-24 ตุลาคม 2567 พื้นที่กรุงเทพมหานครและ จ.นนทบุรี

ทางด้านสถานการณ์ภาคใต้ตอนบน ใน 1-2 วันนี้มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หากมีการตกต่อเนื่องปริมาณฝนเกิน 200 มิลลิเมตร สะสมในพื้นที่ จะมีความเสี่ยงน้ำหลากได้ ขณะที่กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับมือระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 เตรียมเครื่องสูบน้ำ 552 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 227 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 44 คัน และเครื่องจักรกลอื่นๆ บริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ

...

สำหรับเหตุดินถล่ม 5 จุด บริเวณเส้นทางเข้าสวนดอกไม้เมืองหนาว บ้านปิยะมิตร หมู่ที่ 2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ส่งผลให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ทางแขวงทางหลวงชนบทยะลา ได้นำเครื่องจักรกลเข้าเปิดเส้นทางได้ทุกจุดแล้ว รถทุกชนิดสามารถสัญจรได้ โดยกรมทรัพยากรธรณีได้มีการประกาศเฝ้าระวังและมีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังน้ำป่า ดินถล่ม ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี, อ.หนองหญ้าปล้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี, อ.หัวหิน อ.ปราณบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.เบตง อ.ธารโต อ.ยะหา จ.ยะลา

ในส่วนของการฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีความคืบหน้ามาก โดยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ดำเนินการแล้ว 63% บ้านเรือนประชาชน 753 หลัง ฟื้นฟูแล้ว 478 หลัง คาดว่าเสร็จสิ้นก่อนปลายเดือนตุลาคม

ทางด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หลังจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ทราบถึงกรณีที่กรมบัญชีกลางอนุมัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ซึ่งประกาศเขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สามารถใช้เงินทดรองราชการจ่ายเป็นค่าช่วยล้างดินโคลน รวมทั้งซากวัสดุต่างๆ ในที่อยู่อาศัยประชาชนซึ่งประสบอุทกภัยในอัตรา 10,000 บาทต่อหลังแล้ว เพื่อให้การช่วยเหลือไปถึงมือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างรวดเร็ว นายอนุทิน กำชับจังหวัดซึ่งเกิดอุทกภัยและมีดินโคลนทับถมบ้านเรือนประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดนั้นๆ ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสิทธิของตนเอง การยื่นคำขอ การลงพื้นที่สำรวจ ประชุมพิจารณาอนุมัติให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว

“เนื่องจากการใช้จ่ายเงินทดรองราชการซึ่งอยู่ในอำนาจการอนุมัติของผู้ว่าราชการจังหวัด มีขั้นตอนที่ประชาชนต้องไปยื่นขอรับการช่วยเหลือจาก อปท. ต้องมีการลงพื้นที่สำรวจ รวบรวมข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอและจังหวัด ท่านอนุทิน จึงกำชับขอให้เจ้าหน้าที่ในทุกขั้นตอนให้ความสำคัญ ให้ถือว่าเรื่องการช่วยเหลือประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน ช่วยดูแลให้การช่วยเหลือถึงมือประชาชนเร็วที่สุด”

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อไปว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือค่าล้างดินโคลนทับถมที่อยู่อาศัยประชาชนอัตรา 10,000 บาทต่อหลัง เป็นคนละส่วนกับเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในฤดูฝน ปี 2567 ครัวเรือนละ 9,000 บาท ซึ่ง นายอนุทิน ให้นโยบายกับหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาหาช่องทางช่วยผู้ประสบภัยให้ได้มากที่สุด เพราะจากการลงพื้นที่หลายครั้งและต่อเนื่องของคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย เห็นความยากลำบากของผู้ประสบภัยบางพื้นที่ เช่น จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ มีดินโคลนรวมทั้งซากวัสดุต่างๆ ไหลเข้าสู่บ้านเรือนประชาชนจนไม่สามารถอยู่อาศัยปกติได้ จำเป็นต้องทำความสะอาดด้วยกำลังแรงงานและเครื่องมือจำนวนมาก การได้รับสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากภาครัฐบางส่วนผ่านเงินทดรองราชการที่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นอีกแรงที่ช่วยแบ่งเบาภาระ บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยให้กลับมาดำรงชีวิตปกติได้เร็วขึ้น

สำหรับหลักเกณฑ์เบื้องต้น จะจ่ายเงินช่วยค่าใช้จ่ายในการล้างทำความสะอาดดินโคลน ซากวัสดุต่างๆ บริเวณที่อยู่อาศัยซึ่งผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเจ้าของ หลังละ 10,000 บาท ตามความจำเป็นและเหมาะสม แต่จะไม่รวมถึงที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลัง หรือที่ส่วนราชการหรือส่วนอื่นๆ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในการทำความสะอาดเรียบร้อยจนผู้ประสบภัยสามารถเข้าไปดำรงชีวิตได้ตามปกติแล้ว ส่วนกรณีที่มีหน่วยงานเข้าช่วยเหลือทำความสะอาดบางส่วน แต่เจ้าของที่อยู่อาศัยยังต้องจ้างแรงงาน ซื้อเครื่องมือเข้าทำความสะอาดเพิ่มเติมก่อนเข้าพักอาศัยได้ตามปกติ คณะกรรมการซึ่งลงสำรวจพื้นที่จริงจะพิจารณาเป็นรายกรณี.