สิ่งที่น่ากลัวที่สุด ต่างฝ่ายต่างบล็อก ไม่พยายามขับเคลื่อน สมมตินำไปสู่ทางตัน ไปสู่เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ วงจรเดิม

นักวิชาการสายปรองดองสมานฉันท์ระดับแถวหน้าอีกคนของไทย รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) พยายามชี้ให้เห็นอีกฉากทัศน์หนึ่ง ระหว่างสมรภูมินิติสงครามกำลังเข้มข้น ทำให้บรรยากาศการเมืองไทยอึมครึม

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

โดยเฉพาะคดียุบพรรคก้าวไกล คดีถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่คอพาดเขียงอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ และล่าสุดคดี 112 อัยการสูงสุดฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

ฉะนั้น รศ.ดร.ภูมิ นำเสนอว่า ถึงทุกฝ่ายต้องไม่เอาตัวเองไปอยู่ในภาวะเดดล็อกหรือทางตัน ถ้าไม่ยอมเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง ทั้งการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีความกล้าหาญทางการเมือง สุดท้ายล็อกกันไว้ ก็เป็นการสร้างเงื่อนไขให้คนออกมาชุมนุมประท้วง คงวนไปสู่วงจรเดิม

...

เพราะคดีเหล่านี้เป็นระเบิดเวลาทางการเมืองได้ทั้งสิ้น

นิติสงครามเป็นทางออกหรือก่อวิกฤติภายใต้บริบทการเมืองแบบนี้ รศ.ดร.ภูมิ บอกว่า นิติสงคราม ตามถ้อยคำฝั่งอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ระบุถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการประหัตประหารศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านผู้มีอำนาจรัฐ หรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามอ่อนแรง ไม่สามารถต่อสู้ฝ่ายอำนาจรัฐได้

โดยใช้กฎหมาย-กระบวนการยุติธรรม ทำให้เป็นประเด็นทางการเมือง กลายเป็นคดีความ แล้วทำให้คดีเหล่านั้นไปอยู่ที่ศาล และยังใช้สื่อเป็นเครื่องมือ ทำให้คนอาจมาเป็นแนวร่วมส่วนหนึ่ง

ส่วนผมมองว่า อาจมีการทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองตามไทม์ไลน์ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง และมันเป็นความผิดที่นักการเมืองอาจไม่ละเอียดรอบคอบในประเด็นทางกฎหมาย คนที่มีอาจเลือกไทม์ไลน์ที่เหมาะสมหยิบขึ้นมาดำเนินการ

อาทิ ถือหุ้นสื่อ มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ อาจมีความผิดพลาด อาจตีความเข้าข้างตัวเอง สุดท้ายย้อนเป็นคดีของตัวเองได้

รวมถึงอาจอาศัยกลไกที่ซ่อนอยู่ในกฎหมายบางประการที่ยากต่อการทำความเข้าใจ ต้องอาศัยการตีความเอามาใช้ เห็นได้จากหลายครั้งที่ทอดระยะเวลา ที่ทำให้ฝ่ายกุมอำนาจใช้กฎหมายได้ประโยชน์ทางการเมือง ทั้งการเสนอชื่อนายกฯ การฟ้องร้องคดีผู้ที่ต้องคดีล่าสุด คือนายทักษิณ

เห็นร่องรอยใช้กฎหมายทำให้เป็นประเด็นการเมือง

“ภาพในอนาคตคดีที่ค้างอยู่ในศาล อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนคงดำเนินการต่อไป โดยถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะหยิบมาเป็นประเด็นทางการเมืองเมื่อไหร่

ต้องดูปฏิทินตามไทม์ไลน์เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น เช่น ขณะนี้สังคมพูดถึงนิรโทษกรรม ที่มีผู้ได้รับผลกระทบหลากหลาย ถึงเวลาตกผลึกอย่างไร

โดยคดี 112 มีการถกกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งย้ำสนับสนุน อีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านไม่ควรได้ประโยชน์จากนิรโทษกรรม โจทย์นี้ยากขึ้นไปอีก เพราะตามข่าวนายทักษิณมีแนวโน้มโดนคดี 112”

ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร มีมุมคิดส่วนตัว ถ้าดูแบบเหมารวมให้หรือไม่ให้ เป็นการดูแบบกว้างเกินไป หากเจาะในรายประเด็น-รายคดี พบความแตกต่างกันอยู่

แน่นอนคนที่กระทำผิด อาจเข้าข่ายองค์ประกอบชัดเจน อันนี้ฝ่ายหนึ่งต้องยอมรับ ส่วนจะมองว่าเป็นแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ อันนี้เป็นอีกส่วนหนึ่ง

บางคดี เช่น กดไลค์ กดแชร์ หากมองให้เกิดกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ ประเด็นนี้ดูเป็นรายคดีได้ยังไม่นับรวมเยาวชนบางส่วนเข้าข่ายมีสภาพทางจิตตามคำรับรองของแพทย์ พิจารณาประเด็นรายกรณี อาจได้รับประโยชน์จากนิรโทษกรรม ยอมรับในหลักการนี้ก่อน

ทักษิณ ชินวัตร
ทักษิณ ชินวัตร

คดี 112 ก็ยกพิจารณาเป็นรายคดี-รายประเด็น

แล้วปลดล็อกโดยตั้งคณะกรรมการพิจารณารายคดี ตามเกณฑ์และเงื่อนไข รูปแบบตั้งกรรมการมีทั้งให้คู่ขัดแย้งเลือก ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้หรือตั้งขึ้นจากตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ฝ่ายศาล ฝ่ายอัยการ รมว.ยุติธรรม

สมรภูมินิติสงครามเป็นระเบิดเวลาหรือทางออกประเทศกันแน่ เพราะ กมธ.ติดเงี่ยงคดี 112 แถมเป็นโจทย์ยากขึ้นเมื่อนายทักษิณเข้ามาอยู่ใน “คิลลิ่งโซน” รศ.ดร.ภูมิ บอกย้ำถึงเงื่อนไขนายทักษิณ กมธ.ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธาน กมธ. และ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ทำงานยากขึ้น

ขณะที่พรรคก้าวไกลเรียกร้องคดี 112 ให้กลุ่มเยาวชนเป็นหลัก คราวนี้นายทักษิณอาจเข้าข่ายได้ด้วย ทำให้ 2 ฝ่ายหยุดนิ่ง หันทบทวนอีกทีหนึ่งว่าเคลื่อนแบบนี้ สุดท้ายเป็นประเด็นถูกนำมาใช้ทางการเมืองต่อหรือไม่

ล็อกถัดไปแก้ รธน.เป็นกลไกที่ต้องจับตามอง สุดท้ายเอื้อต่อกลุ่มการเมืองใดหรือไม่ อาจซ่อนกลไกเอาไว้จัดการฝ่ายตรงข้ามเหมือน รธน.60

ต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมแก้ รธน.

ช่วยดีไซน์ดุลอำนาจอธิปไตย และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ ตอบโจทย์ไม่ใช่เป็นคนของกลุ่มอำนาจใดกลุ่มอำนาจหนึ่ง ที่พยายามแฝงกลไกบางอย่างไว้หรือวางกำกับ เทน้ำหนักไปที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำลายล้างศัตรูทางการเมือง

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ชูศักดิ์ ศิรินิล

ประเทศไทยการเมืองตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด อยู่ในสภาพสามก๊ก อนุรักษ์นิยม-เพื่อไทย-ก้าวไกล ออกแบบ รธน.อย่างไรให้ราบรื่น ไม่สร้างกับดัก สร้างสมรภูมินิติสงครามอีก รศ.ดร.ภูมิ บอกว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น จริงๆ รธน.มีโครงสร้าง หลักการสำคัญอยู่ และมีคู่มือสำหรับสมาชิกสภาร่าง รธน. (ส.ส.ร.) ของสถาบันพระปกเกล้า

เพียงแต่นิติสงครามที่อาจารย์ปิยบุตร ระบุถึงการใช้สื่อเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อจูงใจสังคม โดยเฉพาะยุคโซเชียลมีเดีย ในต่างประเทศมีกฎหมายควบคุมโซเชียลมีเดียในทางการเมือง ห้ามไม่ให้ตัวที่จ่ายเงินเข้าถึงคนจำนวนมาก

ฉะนั้นในสภาพที่อึดอัดและมีกี่ขั้วทางการเมืองก็ตาม ในฐานะเป็นประชาชน แม้มีความต่างด้านอุดมการณ์บ้าง แต่ประชาชนเป็นเสียงที่สำคัญ วันใดที่ประชามติเห็นพ้องควรแก้ รธน.-จะยกเลิก หรืออะไรก็แล้วแต่ เอาเรื่องใหญ่หลักสำคัญก่อน เดินหน้าไปด้วยกัน

สุดท้ายมีความหวังนำไปสู่ รธน.ฉบับใหม่

จังหวะรอแก้ รธน. ออกกฎหมายนิรโทษกรรม คดีการเมืองเข้าคิวขึ้นเขียง มีโอกาสกระทบต่อการแก้ รธน. ออกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย สังคมพอได้เห็นประตูแห่งความหวังอย่างไร รศ.ดร.ภูมิ บอกว่า มันเป็นประเด็นทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ที่ดำเนินคดีตามไทม์ไลน์

ฉะนั้นแก้ รธน.ในระยะสั้นคงอึมครึม แต่ควรเปิดแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ โดยนิรโทษกรรมบางคดี ทำให้คนกลับคืนสู่สังคม และกติกาแก้ รธน.อย่างน้อยทุกฝ่ายยอมรับได้

เช่น ผู้ที่เข้ามาร่าง รธน. อย่างน้อยก็พอเดินไปได้ ส่วนการต่อสู้ทางการเมืองต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ ที่ต้องช่วงชิงสถานการณ์ที่ได้เปรียบ บางพรรคที่ถูกคดีแบบไม่ควรจะโดนก็ต้องเรียนรู้เอง

“ตอนนี้ดูปัจจัยต่างๆ ยังยากอยู่ ทั้งที่ฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ รวมถึงกลไกใน รธน. ทำให้แก้ไขยาก คงไม่ได้แก้ในเร็วๆนี้ สุดท้ายปลายทางก็นำไปสู่การแก้อยู่ดี

ในเมื่อ รธน.ฉบับนี้ก่อให้เกิดปัญหาการเมืองขนาดใหญ่ ทำไมต้องรอให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงถึงค่อยดำเนินการ เดิมมี 2 ขั้วการเมืองก็แย่ ตอนนี้มี 3 ขั้วการเมือง แนวโน้มความขัดแย้งก็รุนแรงขึ้นไปด้วย

ใครที่บอกว่าภาคประชาชนอ่อนแรง อย่าดูถูกประชาชน ฉะนั้นเมื่อรู้ถึงเหตุการณ์มันถักทอไปสู่ความรุนแรง เราต้องมาช่วยกันป้องกันดีกว่า”

ความอึมครึมทางการเมืองเมื่อนายทักษิณติดล็อกคดี 112 แสดงว่านิติสงครามไม่จบ บานประตูแห่งปรองดองก็ไม่เปิด รศ.ดร.ภูมิ บอกว่า ต้องโทษตัวเอง หลังกลับไทยแล้วบทบาทที่เหมาะสมทางการเมืองควรเป็นอย่างไร สมมติทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกับคนที่มีอำนาจ หรือเกรงสูญเสียอำนาจ แรงสะท้อนกลับไปคงแรงเช่นเดียวกัน

กระทบการปรองดองทำให้โจทย์ยากขึ้นอีก

ฉะนั้นควรปลดล็อกนิรโทษประชาชนก่อน.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม