น่าสังเกตว่า รัฐบาลเปลี่ยนท่าที หลังจากเสียท่าทางการเมืองจากการวิวาทะกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องการขอให้ลดดอกเบี้ย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า ตนไม่ได้ขัดแย้งกับใคร แต่ขัดแย้งกับความยากจน ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ก็มีท่าทีประนีประนอม
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ประกาศว่าจะพูดคุยกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. เพื่อผลักดันให้เครื่องจักรนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะจะต้องทำงานร่วมกัน และเชื่อว่าจะเป็นการพูดกันด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ คนใหม่แถลงว่า สิ่งที่จะทำเป็นอันดับแรก คือ การเพิ่มรายได้ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะขณะนี้คนมีรายได้น้อยลง จีดีพีตํ่าลง เงินเฟ้อก็ตํ่าลง แต่รายได้อาจลดลงมากกว่า ชัดเจนที่สุดคือ หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นสูงกว่า 90% ต่อจีดีพี เงินออมเกือบ จะไม่มี จึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีพูดถึง “ความยากจน” ส่วนรองนายกรัฐมนตรีพูดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเพิ่มรายได้
ไม่ได้ประกาศสงครามเพื่อต่อสู้กับความยากจนโดยตรง เหมือนกับรัฐบาลก่อนที่เคยสัญญาว่าจะขจัดความยากจนให้สิ้นไปจากแผ่นดินไทย แต่ทำได้แค่แจกบัตรสวัสดิการรัฐ แจกเงินให้คนจนเดือนละ 2–3 ร้อยบาท ไม่สามารถขจัดความยากจนได้ ซํ้ายังทำให้คนจนจนเพิ่มขึ้นจากไม่กี่สิบคน พุ่งขึ้นเป็น 20 ล้านคน ความยากจน ของประชาชนส่งผลมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือ ตัวเลขของเด็กและผู้ใหญ่ที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษากว่าล้านคน หลังจากการสิ้นสุดของการแพร่ระบาดของโควิด
สาเหตุสำคัญที่สุดคือ ความยากจน จำนวนคนจนพุ่งขึ้น นักเรียนต้องหยุดเรียนกลางคัน หรือหลุดจากระบบ เด็กอนุบาลขึ้น ป.1 หลุด 1.4% นักเรียน ป.6 ขึ้น ม.1 หลุด 19% ม.3 ขึ้น ม.4 หลุด 54% เมื่อถึงอุดมศึกษาเหลือเพียง 10% แปลว่าคนไทยส่วนใหญ่จบแค่ ม.3 ซํ้าเติมความยากจน
...
รัฐบาลเศรษฐามีนโยบายอะไรบ้างที่จะขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมลํ้า เพราะว่าในระยะเริ่มแรก นายกฯ เศรษฐาชอบประกาศโครงการใหญ่ๆ ไปที่ไหนมักจะชวนสร้างสนามบิน หรือมิฉะนั้นก็เสนอระดับอภิโครงการ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งยังเถียงกันไม่จบ แก้ความจนได้จริงหรือ.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม