มท.1 สั่งการ ปลัด มท. ย้ำผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ “ห้ามออกใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนในจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด” พร้อมเตรียมประสาน ผบ.ตร. พิจารณางดออกใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนใน กทม. และทั่วราชอาณาจักร รวมถึงการควบคุมแบลงค์กัน สิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด

วันที่ 16 พ.ย. 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงมาตรการในการกำกับดูแลควบคุมการใช้อาวุธปืน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งในห้วงเวลาที่ผ่านมา ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญที่คล้ายคลึงกัน ทั้งเหตุการณ์เยาวชนอายุ 14 ปี ได้ใช้ “แบลงค์กัน” ที่เป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงเป็นอาวุธปืนก่อเหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต หรือกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกให้ออกจากราชการ และมีพฤติการณ์ที่อาจเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ได้ใช้อาวุธปืนก่อเหตุอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู หรือกรณีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธสงครามกราดยิงตามเส้นทางสาธารณะ จนกระทั่งถึงห้างสรรพสินค้าชื่อดังในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา และล่าสุดเกิดเหตุวัยรุ่นยิงกันบริเวณหน้าโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ กรุงเทพฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน โดยเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุอาชญากรรมที่ร้ายแรง และส่งผลต่อสภาพจิตใจของประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ตลอดจนความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมกำหนดมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งกำชับว่าหลังจากนี้ไป ต้องไม่มีการพกพาอาวุธปืนแล้ว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันเหตุอาชญากรรมที่ร้ายแรง และสนองตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สั่งการดังนี้ 1) ให้นายทะเบียนท้องที่ “งดการออกใบอนุญาต” ให้สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่ง “สิ่งเทียมอาวุธปืนชนิดแบลงค์กัน” หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่นที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้โดยง่าย และแจ้งให้นายทะเบียนท้องที่ทราบแนวทางที่จะไม่มีนโยบายให้เพิ่มเติมผู้ได้รับใบอนุญาต สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนรายใหม่ ทุกท้องที่ทั่วประเทศ และสำหรับ “กรณีร้านค้าอาวุธปืน” ให้นายทะเบียนท้องที่งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้ง 2) ให้นายทะเบียนท้องที่อำเภอขอความร่วมมือไปยัง “บุคคลผู้ครอบครองแบลงค์กันหรือสิ่งเทียมอาวุธปืนผู้สุจริตทุกราย” ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้ดัดแปลงแก้ไขสิ่งเทียมอาวุธปืนของตนเองแต่อย่างใด ให้นำแบลงค์กันหรือสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ครอบครองมาแสดง และทำบันทึกต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อเป็นการแสดงเจตนาสุจริต โดยไม่เพิ่มภาระเกินสมควรกับบุคคลเหล่านั้น และ 3) ให้นายทะเบียนท้องที่พิจารณาออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3) ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) และใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งเครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.2) แก่สมาคมกีฬายิงปืนที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทยเท่านั้น และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเครื่องกระสุนปืนที่จะอนุญาตให้สมาคมกีฬายิงปืนซื้อ สั่ง หรือนำเข้าได้ จะต้องเป็นชนิดและขนาดที่สอดคล้องกับอาวุธปืนที่ปรากฏตามใบอนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืนของสมาคมกีฬายิงปืน รวมทั้งสอดคล้องเหมาะสมกับจำนวนเครื่องกระสุนปืน โดยดูจากข้อเท็จจริงตามสภาพความต้องการของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนศักยภาพพื้นที่ในการจัดเก็บอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน และในกรณีที่นายทะเบียนท้องที่จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้สั่ง หรือนำเข้าซึ่งเครื่องกระสุนปืน ชนิดเครื่องกระสุนปืนสั้น ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

...

“นอกจากนี้ ตนยังได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด งดการออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12) ในเขตพื้นที่จังหวัด ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และเตรียมประสานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาออกใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนใน กทม. และทั่วราชอาณาจักร เพื่อขอความร่วมมืองดออกใบอนุญาต เพื่อสนองนโยบาย มท.1 นโยบายรัฐบาล และเพื่อสวัสดิภาพและความผาสุกของสังคมไทย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้ทุกกลไกในระดับพื้นที่ ได้หมั่นตรวจสอบตรวจตราความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทั้งสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ รวมถึงสถานที่ต่างๆ ที่เป็นแหล่งรวมคนเป็นจำนวนมาก โดยประสานการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานด้านความมั่นคง และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน รวมทั้งเพื่อสร้างความอุ่นใจและความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนมีเบาะแสการกระทำผิดเกี่ยวกับเรื่องอาวุธปืน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน หรือยาเสพติด หรือสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สามารถแจ้งได้ที่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดอำเภอ นายอำเภอ หรือโทรสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการควบคุมเหตุการณ์ หรือดำเนินการกับผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมาย เราจะร่วมกันทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความสุข สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสวัสดิภาพ มีความปลอดภัยในทุกพื้นที่ เพื่อประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน.