การแข่งขันประชันโนราสมัยก่อน...โนราแต่ละฝ่ายพยายามที่จะเอาชนะกัน นอกจากทุ่มเทฝีมือเต็มที่แล้ว ยังมีการใช้พิธีไสยศาสตร์ “เล่นของ” กันแบบซึ่งหน้า เรียกว่าการรำ “เฆี่ยนพราย”

(สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.2529 เล่ม 2 สถาบันทักษิณคดีศึกษา)

เริ่มต้นเมื่อกรรมการให้สัญญาณ เสียงโพน จากดนตรีโนราทำเพลงเชิด หมอกบโรง (หมอไสยศาสตร์) ถือหม้อน้ำมนตร์ ไม้หวายเฆี่ยนพราย มะนาว 3 ผล ใบตอง เดินนำหน้า โนราใหญ่ (หัวหน้าคณะ) ออกมา

หมอกบโรงนั่งบริกรรมคาถา ลงอักขระที่ไม้หวาย เอายอดใบตองกล้วยตานี เขียนชื่อโนราใหญ่คณะคู่แข่ง ลงยันตร์ ม้วนให้กลมหักหัวท้าย แล้วใช้ด้ายผูกมัดอย่างตราสัง สมมติเป็นรูปต่างๆ วางบนพื้นโรง

เวลาเดียวกัน โนราใหญ่ก็ร่ายรำท่าเพลงโค ลีลาสง่างามสักครู่ หมอวางไม้หวาย

โนราใหญ่ แอ่นหลังจนศีรษะจดพื้น เอาปากคาบไม้หวาย แล้วรำเวียนรูปนั้นไปรอบๆ ท่ารำหนึ่งก็ชี้มือไปยังโรงโนราคู่แข่ง ประหนึ่งว่า เรียกจิตวิญญาณให้มาสิงในรูป

ชี้รูปแล้วใช้ไม้หวายเฆี่ยน พร้อมกระทืบเท้า รำต่อ เฆี่ยนรูปกระทืบเท้า จนครบ 3 ครั้ง

กระบวนการนี้ สมมติโนราคู่แข่งตาย โนราพร้อมลูกคู่ก็จะยืนล้อมรูปที่เฆี่ยนด้วยอาการสำรวม แล้วกล่าวบทอนิจจัง จากนั้นหมอกบโรงก็จะรับไม้หวายเฆี่ยนพรายไว้

โนราใหญ่เริ่มท่าต่อ สมมติลูกมะนาวเป็นหัวใจนายโรงคู่แข่ง ภาวนาคาถาเรียกวิญญาณให้เข้ามาสิงในลูกมะนาว แล้วหมอก็หยิบมะนาวมาหมุนกลางโรง ให้โนราใหญ่เหยียบ

โนราใหญ่จะรำไป หาจังหวะเหยียบมะนาวไป จนมะนาวแตกสองผล

การเหยียบแต่ละครั้ง โนราใหญ่ตั้งใจมาก หากเหยียบไม่แตกจะบอกลางการแสดงครั้งนี้จะเอาชนะได้ยาก เหลือมะนาวลูกที่สามโนราใหญ่ทำท่ารำชี้นำ คนดูหน้าโรงซึ่งรู้ทิศทาง จะแยกออกเป็นแนวโล่ง เพราะกลัวถูกอาคม

...

แล้วโนราใหญ่จะขว้างมะนาวลูกสุดท้าย ไปทางหน้าโรงคู่แข่ง

เสร็จพิธีรำเฆี่ยนพราย...โนราใหญ่ก็จะแยกตัวไปนั่ง การรำโนราชุดต่อไปจึงเริ่ม

อาจารย์อุดม หนูทอง ผู้เรียบเรียงเรื่องนี้ บอกว่าการรำเฆี่ยนพราย...ขนบโนราถือว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ทั้งยังเป็นการข่มขวัญคู่แข่ง มีเรื่องเล่าขาน บางครั้งการรำเฆี่ยนพรายถึงตอนเหยียบลูกมะนาวแตก เกิดผลทันตาเห็น

โนราคู่แข่ง เกิดมีอันเป็นไป ถึงขั้นรำไม่ได้ ถือกันว่าเป็นความพ่ายแพ้ ตั้งแต่เริ่มต้น

พิธีรำเฆี่ยนพรายชุดนี้ สง่างามขรึมขลัง ยากที่โนรารุ่นใหม่จะฝึกท่ารำตาม เป็นเหตุให้ โนรารุ่นใหม่ ซึ่งอาจจะไม่เชื่อเรื่องนี้ เลิกรำกัน

นอกจากบรรยายเบื้องหน้าเบื้องหลังพิธีรำเฆี่ยนพราย อาจารย์ ยังมีภาพถ่ายหลายท่วงท่าให้ดู...ผมดูแล้วมโนตาม ขนลุกเกรียวไปทั้งแขน ลืมเรื่องการเมือง...ไปเลยทีเดียว

อ่านเรื่องพิธีเฆี่ยนพราย...ของนายโรงโนราสมัยโบราณแล้วได้ความคิดว่า...วิธีเล่นไสยศาสตร์แบบนี้...ในแง่จิตวิทยา ถือว่าเป็นการลดแรงกดดันในใจ

เพราะไม่แน่ว่า เมื่่อตั้งใจเอาชนะไว้มากๆ หากไปใช้วิธีหักหาญถึงขั้นทำร้ายหรือฆ่าแกงกัน...ก็จะเริ่มการผูกเวร แก้แค้นกันไปเป็นเรื่องยืดยาวใหญ่โต

บ้านเราเคยมีข่าว มีคนเผาพริกเผาเกลือแช่ง...ผมไม่เห็นเป็นเรื่องตลกขบขัน ผมว่าเป็นวิธีใช้ปัญญา ลดความแค้นความชิงชังได้ ไม่มากก็น้อยล่ะน่า!

น้องๆพรรคก้าวไกล...เจอเกมกลขี้โกงคนแก่ ปล้นเอาชัยชนะแบบหน้าด้าน ถ้าไม่เหนื่อยกับการลงถนนจนเกินไป...ลองหันมาฝึกโนรารำพิธีเฆี่ยนพราย...ไว้บ้าง

นึกถึงตอนโนราใหญ่ กระทืบมะนาวหัวใจคู่แข่ง...ผมว่านะ น่าจะสนุกสะใจไปอีกแบบ...

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ "ชักธงรบ" เพิ่มเติม